นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ได้จัดทำผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนช่วงเดือน ม.ค.65 จำนวน 10,072 คน จากทุกอำเภอทั่วประเทศ เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ในปี 64 โดยพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามเกือบ 60% รับทราบนโยบายทั้งหมด และในจำนวนนี้มีถึง 75.09% ที่พอใจภาพรวมผลงานนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ที่ช่วยเพิ่มรายได้ ลดภาระค่าใช้จ่าย และบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ นโยบายกระทรวงพาณิชย์ที่ประชาชนพอใจมากสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ โครงการประกันรายได้เกษตรกร ปีที่ 2 พอใจ 30.97% ตามด้วยโครงการส่งเสริมการค้าออนไลน์ 25.41% และโครงการพาณิชย์ลดราคา 24.38% โดยภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง เป็นภาคที่ประชาชนแสดงความพึงพอใจมากต่อทุกนโยบายในสัดส่วนสูงที่สุด ส่วนอาชีพ ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ พนักงานของรัฐ และเกษตรกร เป็นอาชีพที่แสดงความพึงพอใจมากต่อทุกนโยบายในสัดส่วนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับอาชีพอื่น และส่วนใหญ่ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีอายุในช่วง 30-49 ปี พึงพอใจมากในนโยบายกระทรวงพาณิชย์

ส่วนนโยบายกระทรวงพาณิชย์ที่ประชาชนรับทราบมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ โครงการประกันรายได้เกษตรกรปีที่ 2 รับรู้ถึง 81.33% ตามด้วยโครงการพาณิชย์ลดราคา 76.45% และโครงการส่งเสริมการค้าออนไลน์ 73.51% โดยภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เป็นภาคที่มีสัดส่วนผู้รับทราบนโยบายสูงที่สุด ขณะที่อาชีพที่มีสัดส่วนผู้รับทราบนโยบายสูงที่สุด คือ ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ พนักงานของรัฐ นักศึกษา และเกษตรกร โดยผู้ตอบในช่วงอายุ 20-39 ปี รับทราบนโยบายกระทรวงพาณิชย์มากที่สุด

นายรณรงค์ กล่าวว่า นอกเหนือจากโครงการประกันรายได้แล้ว ยังมีโครงการต่าง ๆ อีกมากมาย ที่ประชาชนพึงพอใจ เพราะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการ ช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าราคาถูก เช่น โครงการส่งเสริมการค้าออนไลน์ โครงการพาณิชย์ลดราคา การส่งเสริมการส่งออกสินค้า ที่ส่งผลให้การส่งออกของไทยในปี 64 สามารถขยายตัวได้ถึง 17.1% 

“หลังจากนี้จะนำผลสำรวจความคิดเห็น ไปเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาโครงการต่าง ๆ เพิ่ม เพราะปี 65 กระทรวงพาณิชย์ มีนโยบายดูแลเกษตรกร ผู้ประกอบการ และประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งโครงการประกันรายได้ปี 3 การแก้ไขปัญหาปากท้อง การตั้งคณะทำงานกำกับติดตามสถานการณ์ราคาสินค้า (วอร์รูม) การร่วมมือผู้ผลิตและผู้จำหน่ายตรึงราคาสินค้า การทำมินิเอฟทีเอ การเปิดเอฟทีเอฉบับใหม่ กับสหภาพยุโรป สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป อาเซียน-แคนาดา เป็นต้น”