เมื่อวันที่ 22 ก.ค. พล.ร.อ.เชษฐา ใจเปี่ยม โฆษกกองทัพเรือ ชี้แจงถึงการจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพเรือ ที่ปรากฏในการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ว่า ความจำเป็นตามยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือในการป้องกันประเทศและอธิปไตยทางทะเล การรักษาความมั่นคง และผลประโยชน์ของชาติทางทะเลของไทย กองทัพเรือต้องรับผิดชอบพื้นที่สองฝั่งทะเลประมาณ 323,388.32 ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ 60 ของอาณาเขตทางบกที่มีเนื้อที่อยู่ประมาณ 513,115 ตารางกิโลเมตร ซึ่งต้องจัดกำลังทางเรือและอากาศยานปฏิบัติการในพื้นที่รับผิดชอบตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวันโดยไม่มีวันหยุด เพื่อลาดตระเวนเฝ้าตรวจ รวมทั้งช่วยเหลือประชาชนในทะเลและเกาะแก่งต่าง ๆ ทั้งฝั่งอ่าวไทย และฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งกองทัพเรือให้ความสำคัญสูงสุด เมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ในทะเล
โฆษกกองทัพเรือ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานภาพของเรือและอากาศยานของกองทัพเรือ มีการเสื่อมสภาพและสึกหรอ ซึ่งมีผลต่ออายุการใช้งานของกองทัพเรือ ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุการใช้งานเกินเกณฑ์กำหนด รวมทั้งงบประมาณด้านปฏิบัติการของเรือรบและอากาศยานที่มีนักบินที่ได้รับแต่ละปีมีจำนวนจำกัด จึงส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติการของกองทัพเรือโดยตรง ซึ่งการใช้อากาศยานไร้คนขับ (UAV) ลาดตระเวนตรวจการณ์ของเรือรบและอากาศยานที่มีนักบิน ทั้งด้านอ่าวไทยและทะเลอันดามัน เข้าถึงพื้นที่ปฏิบัติการได้อย่างรวดเร็ว และสามารถปฏิบัติการบนอากาศได้ยาวนานช่วยประหยัดงบประมาณด้านการปฏิบัติการ ภายหลังจากการเลื่อนจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 ออกไป ดังนั้นทุกรายการที่เสนอมีเหตุผลเหมาะสมรองรับการจัดหาดังกล่าว ที่สำคัญในภาวะการระบาดของโควิด-19 ประเทศต้องมีภาระค่าใช้จ่ายที่จะต้องรับมือ
โฆษกกองทัพเรือ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ขอทำความเข้าใจว่ายุทโธปกรณ์อื่น ๆ ยังจำเป็นในการปฏิบัติงานในทะเลเพื่อรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และผลกระทบต่ออธิปไตยของชาติทางทะเล ทั้งนี้ ขอให้ทุกฝ่ายอย่าได้นำการทำหน้าที่และความจำเป็นเหล่านี้ ไปสร้างความเข้าใจที่ผิด สร้างความแตกแยก ทำให้เกิดผลกระทบและบั่นทอนต่อกำลังใจของประชาชน อันจะเป็นการสร้างความเสียหายให้กับหลายๆ ฝ่าย.