เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) แถลงว่า ขอเน้นย้ำประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ในส่วนของระบบการขนส่งสาธารณะทั้งรถยนต์ รถไฟ และเครื่องบิน ระหว่างจังหวัด ถ้าเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ไม่อนุญาตให้ออกนอกพื้นที่ และระหว่างในพื้นที่จะลดการขนส่งสาธารณะลง 50 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ ในส่วนของกิจการที่ถูกปิดก่อนหน้านี้ไปแล้ว ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ประกอบด้วย 1.สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับบาร์คาราโอเกะ หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน 2.สถานประกอบกิจการอาบอบนวด 3.สถานประกอบกิจการอาบน้ำ สถานประกอบกิจการ อบไอน้ำ อบสมุนไพร 4.สนามชนไก่และสนามซ้อมไก่ 5.สนามชนโค สนามปลากัด หรือสนามแข่งขันอื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน 6.สนามมวย โรงเรียนสอนมวย 7.สนามม้า 8.สนามแข่งขันทุกประเภท 9.โต๊ะสนุกเกอร์ บิลเลียด 10.สถานที่เล่นโบว์ลิ่งหรือตู้เกม
11.ร้านเกมและร้านอินเทอร์เน็ต 12.โรงมหรสพโรงภาพยนตร์และโรงละคร 13.สถานที่แสดงมหรสพ หรือสถานที่มีการแสดงหรือการละเล่นสาธารณะ 14.สวนน้ำและสวนสนุก 15.สนามเด็กเล่นและเครื่องเล่นสำหรับเด็ก 16.สวนสัตว์หรือสถานที่จัดแสดงสัตว์ 17.สถานที่เล่นสเกต หรือโรลเลอร์เบลด หรือการเล่นอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 18.สถานที่ออกกำลังกายฟิตเนส 19.โรงเรียนสอนศิลปะการต่อสู้ (ยิม) 20.สถาบันลีลาศ หรือสอนลีลาศ 21.สถานที่ให้บริการห้องประชุมห้องจัดเลี้ยง สถานที่จัดเลี้ยง รวมถึงสถานที่อื่นใดที่มีลักษณะเดียวกัน 22.ศูนย์พระเครื่อง พระบูชา และสนามพระเครื่องพระบูชา และ 23.สถานที่ให้บริการควบคุมน้ำหนัก สถานเสริมความงามคลินิกเสริมความงาม (ไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นคลินิกเวชกรรม) สถานประกอบการเพื่อสุขภาพเช่น กิจการสปานวดเพื่อสุขภาพ และนวดฝ่าเท้า
พญ.อภิสมัย กล่าวต่อว่า โดยวันเดียวกันนี้มีการขยายปิดกิจการ หรือปิดสถานที่แบบมีเงื่อนไขเพิ่มเติมอีก 10 กิจการตามข้อกําหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 28) โดย ศปก.ศบค.ได้พิจารณาร่วมกันแล้วมีความเห็นว่าเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของข้อบังคับฉบับที่ 28 ที่มุ่งเน้นให้ลดการเดินทางและการออกนอกเคหสถานของประชาชนอันจะเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและควบคุมการระบาดของเชื้อโรค โควิด-19 จึงมีข้อเสนอแนะให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พิจารณาสั่งปิดสถานที่กิจการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ดังนี้ 1.สนามกีฬาทุกประเภททั้งประเภทในร่ม เช่นแบดมินตัน สนามฟุตซอล บาสเกตบอล วอลเลย์บอล และประเภทกลางแจ้ง เช่น สนามกอล์ฟ สนามซ้อมกอล์ฟ สนามฟุตบอล และสนามเทนนิส 2.สระน้ำเพื่อการเล่นกีฬา หรือกิจกรรมทางน้ำเพื่อการสันทนาการ สระว่ายน้ำสาธารณะ หรือกิจการอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 3.ลานกีฬา 4.ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดนิทรรศการ
5.ศูนย์การเรียนรู้ หรือศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา อุทยานวิทยาศาสตร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม หรือหอศิลป์ 6.ห้องสมุดสาธารณะ ห้องสมุดชุมชน ห้องสมุดเอกชนและบ้านหนังสือ 7.พิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถาน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นรวมถึงพิพิธภัณฑ์ในลักษณะเดียวกัน แหล่งประวัติศาสตร์ หรือโบราณสถาน 8.ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียน 9.ร้านเสริมสวยร้านตัดผมหรือแต่งผมร้าน ทำเล็บ หรือร้านสัก และ 10.สวนสาธารณะและสวนพฤกษศาสตร์ต่างๆ
พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า ส่วนสถานที่และกิจการที่สามารถเปิดให้บริการได้ ประกอบด้วย 1.สถานที่รับเลี้ยงเด็กเฉพาะสถานที่รับเลี้ยงเด็กในโรงพยาบาลและที่มีการรับตัวไว้พักค้างคืนเป็นปกติธุระ 2.สถานที่ดูแลผู้สูงอายุ เฉพาะที่มีการรับตัวไว้พักค้างคืนเป็นปกติธุระ และ 3.ตลาดนัดเฉพาะส่วนที่ขายอาหาร หรือวัตถุดิบเพื่อการบริโภค ทั้งนี้ เน้นย้ำในส่วนตลาดสด และตลาดนัดกระทรวงสาธารณสุขมีความเป็นห่วงอย่างยิ่ง แต่ที่ประชุม ศบค.มีความเข้าใจว่าตลาดสด และตลาดนัดเชื่อมโยงใกล้ชิดกับชุมชนหากมีการปิดทั้งหมด เกรงว่าจะกระทบกับการดำเนินชีวิตของประชาชน จึงฝากไปยังคณะกรรมการจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการกำกับดูแลเข้มงวด ในส่วนของตลาดสดและตลาดนัดและหากมีพื้นที่ความเสี่ยง ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถพิจารณาปิดเพิ่มเติม นอกเหนือจากข้อกำหนดดังกล่าวได้ จึงขอให้ประชาชนให้ความร่วมมือเพราะเมื่อมีการพยายามที่จะกำหนดมาตรการอย่างเข้มงวด การกำกับติดตามต้องพยายามทำอย่างเข้มงวดเช่นกัน และใน 14 วัน ถ้าเราสามารถทำให้สถานการณ์ดีขึ้นการผ่อนคลายก็จะตามมา.