…เจอกันครั้งแรกเขาก็ถามเราแล้วว่า… Do you have a boyfriend? เราก็ไปไม่ถูกเลย ก็ตอบไปว่า… No!! จากนั้นก็พูดคุยติดต่อกันมาเรื่อย ๆ แล้วก็คบหาดูใจกัน…จนได้แต่งงานกัน และย้ายมาอยู่ฝรั่งเศส” เป็นเรื่องราว “จุดเริ่มต้นความรัก” ของ “แม่ค้าหญิงไทยคนดังในฝรั่งเศส” กับสามีชาวฝรั่งเศส ที่โลกออนไลน์รู้จักเธอกันดีในชื่อ “ยายไหมไทยในฝรั่งเศส – mai thai in france” ที่เป็นชื่อช่องยูทูบของเธอ ซึ่งด้วยจุดเด่นความสุภาพอ่อนน้อมแบบวิถีไทย บวกอัธยาศัยช่างพูดคุย ทำให้เธอมีแฟนคลับติดตามล้นหลาม วันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” จะพาไปทำความรู้จักเธอ…“พิสมัย อ็องเจอลินี”

“พิสมัย อ็องเจอลินี” หรือ “ยายไหม” เล่าให้ “ทีมวิถีชีวิต” ฟังว่า ปัจจุบันอายุ 46 ปี เป็นคน อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น แต่มาเรียนจบ ปวส.สาขาคอมพิวเตอร์ แผนกพณิชยการ โรงเรียนสหะพาณิชย์ ย่านสุขุมวิท 101 กรุงเทพฯ โดยเธอจะเรียนเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ส่วนวันจันทร์-ศุกร์ จะไปทำงานในโรงงานเครื่องเงิน ซึ่งที่บ้านที่ขอนแก่นของเธอนั้น พ่อแม่มีลูก ๆ 4 คน ตัวเธอเป็นคนสุดท้อง โดยที่บ้านทำอาชีพขายของชำและทำไร่ทำนาควบคู่ไปด้วย โดยยายไหมเล่าว่า ช่วงที่ทำงานโรงงานเครื่องเงิน มีเพื่อนกำลังจะเปิดร้านนวดที่เกาะสมุย เธอก็ถูกทาบทามให้ไปเรียนนวดแผนไทยที่วัดโพธิ์ เพราะเพื่อนอยากจะให้ไปช่วยงานที่ร้าน ซึ่งตอนนั้นเป็นจังหวะเดียวกับที่เบื่องานโรงงาน ก็เลยตอบตกลงไป ซึ่งตอนที่ทำงานที่เกาะสมุยนี้เองที่ทำให้ได้เจอกับสามี คือ “Pascal Angelini” หรือ “อ้ายบุญเถิง” ซึ่งเธอเป็นคนตั้งชื่อไทยให้ โดยมีความหมายแปลว่า “ผู้ที่มีบุญ”

ตอนนั้นสามีมาเที่ยวที่ไทยกับเพื่อนเขา ซึ่งเป็นแฟนกับเพื่อนของเราที่เป็นเจ้าของร้านนวด และที่ได้เจอกันก็เพราะเพื่อนของเราพูดอังกฤษไม่เก่ง เลยขอให้เราไปช่วยเป็นล่าม โดยนัดเจอที่ร้านอาหาร พอไปถึงก็เจอผู้ชาย 2 คน พอทักทายเป็นที่เรียบร้อย คำถามที่ได้ยินจากปากอ้ายบุญเถิงคือ Do you have a boyfriend? ก็อึ้ง ไปไม่ถูกเลย (หัวเราะ) ก็ตอบไปว่า No!! หลังจากนั้นก็มีการพูดคุย และคบหาดูใจกันยายไหมเล่า พร้อมบอกว่า หลังจากนั้นอ้ายบุญเถิงก็กลับไปทำงานต่อ และอีก 6 เดือนถัดมาก็มาแต่งงานกับยายไหมที่เมืองไทย และเริ่มทำเรื่องไปฝรั่งเศส โดยยายไหมบอกว่า จากวันนั้นถึงวันนี้ก็เป็นเวลา 18 ปีแล้วที่เธออพยพย้ายถิ่นฐานไปใช้ชีวิตในฝรั่งเศส โดยมีโซ่ทองคล้องใจเป็นลูกสาว 1 คน ชื่อ “น้องเอลีส (Elise)” ตอนนี้อายุ 13 ปีที่เธอตั้งชื่ออีสานให้ว่า น้องอิหล่าซึ่งเธอจะกลับมาเที่ยวเมืองไทยปีละ 1 ครั้ง ช่วงที่ปิดเทอมใหญ่เดือน ก.ค.-ส.ค. เพราะตอนนั้นสามีทำงานเป็นครูสอนนักเรียนชั้นประถม แต่ตอนนี้สามีได้เกษียณมา 3 ปีกว่าแล้ว

กับ “อ้ายบุญเถิง-สามี” และ “น้องอิหล่า-ลูกสาว”

หลังย้ายสู่ฝรั่งเศส ยายไหมบอกว่า แรก ๆ จะวิตกกังวลเรื่องภาษากับอาหารการกินมาก วิตกว่าจะสื่อสารกับคนรอบข้างได้ยังไง จะคุยกับพ่อปู่แม่ย่า (พ่อแม่ของสามี) ยังไง ทำให้ช่วงแรกจะคุยกันเป็นภาษามือเป็นหลัก ก็เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง แต่จะพยายามยิ้มบ่อย ๆ เพื่อให้รู้ว่าเธอเข้าใจที่พูด แต่ดีที่ฝรั่งเศสให้โอกาสคนต่างชาติที่ไปอยู่ใหม่ ๆ ได้ไปเรียนภาษาที่ทางรัฐบาลจัดให้ โดยจะเรียนอาทิตย์ละ 3 วัน เรียนได้ปีกว่า ๆ ก็จบหลักสูตร ที่เหลือก็ฝึกพูดฝึกเขียนคำที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งถ้าหากถามว่าหลังเรียนจบแล้วพูดเก่งมากไหม ก็เก่งขึ้นแค่นิดหน่อย เพราะภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาที่พูดยากมาก ๆ

ยายไหมเล่าต่อว่า ช่วงที่เธอไปอยู่แรก ๆ ก็ไม่มีอะไรทำ รู้สึกเหงา อยากหางานทำ จนได้ทำงานดูแลคนแก่ ไม่ก็ทำความสะอาดบ้าน ซึ่งตอนทำงานดูแลคนแก่เธอต้องพาคนแก่ไปชอปปิ้ง จึงมีโอกาสพบปะผู้คนเยอะขึ้น ได้คุยกับคนหลากหลาย ทำให้เริ่มพูดและเข้าใจภาษาฝรั่งเศสมากขึ้น ส่วนเรื่องอาหารการกิน โชคดีมีเพื่อนคนไทยที่ไปอยู่ก่อนหน้าแนะนำร้านเอเชียที่มีอาหารไทยขาย ซึ่งต้องนั่งรถไปนานชั่วโมงกว่า ๆ แต่ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะเรื่องกินเรื่องใหญ่สำหรับเธอ ไกลแค่ไหนก็ไปได้

ส่วนการต้องปรับตัวกับครอบครัวคนฝรั่งเศสนั้น ยายไหมเล่าว่า ก็มีบ้าง เช่น เวลาไปกินอาหารที่บ้านพ่อแม่ของสามี ท่านจะไม่ให้ทำอะไรเลย ให้นั่งเฉย ๆ รอกินอย่างเดียว แต่ด้วยความที่เธอเป็นคนไทย การจะรอให้คนแก่ 2 คนยกอาหารยกน้ำมาเสิร์ฟ คงไม่ได้ เธอก็จะช่วยทำทุกอย่าง แต่แม่สามีไม่ยอมให้ทำ จนต้องบอกว่า บ้านฉันที่เมืองไทยต้องช่วยทำ จึงตกลงกันได้ ซึ่งตอนหลังเธอมาเข้าใจว่า ประเพณีของคนฝรั่งเศสนั้น ถ้าเกิดเชิญใครมากินข้าวที่บ้าน จะห้ามให้แขกทำอะไร ให้นั่งรอกินอย่างเดียว แต่ด้วยความที่เป็นคนไทย เธอทนไม่ได้ที่จะให้คนแก่มาเสิร์ฟให้ ซึ่งด้วยความที่เป็นแบบนี้พ่อแม่สามีมักจะชมเธอกับสามีบ่อย ๆ ว่า “ลูกชายของเราโชคดีมาก” ที่มีภรรยาคือยายไหม …เธอเล่าเรื่องนี้ด้วยความภูมิใจในความเป็น “หญิงไทย”

เผยแพร่การไหว้ตอนขายของ / ลูกค้าประจำจะเป็นกลุ่มสูงวัย

ต่อมาเมื่อเธอได้เป็นแม่ค้า โดยขายของทอด เธอก็อยากจะ โชว์อัตลักษณ์ความเป็นไทยให้ชาวฝรั่งเศสได้เห็น ด้วย เธอจึงชอบ ใส่ชุดผ้าไหมลายไทยสีสันสะดุดตา ขณะยืนขายอาหารริมถนน ที่ตลาดนัด ดีญ-เล-แบ็ง (DIGNE LES BAINS) ทุก ๆ วันเสาร์ โดยเธอเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้มาเป็นแม่ค้าขายอาหารที่ตลาดนัดแห่งนี้ว่า หลังจากทำงานดูแลคนแก่อยู่พักหนึ่ง เธอก็ต้องหยุดทำงาน เพราะตั้งท้องลูกสาว พอคลอดลูกได้ 2 ปีกว่า ก็อยากทำงานอีก ซึ่งด้วยความที่เธอชอบเดินตลาดมาก พอมีตลาดนัดก็จะแวะไปแทบทุกวันเสาร์ แล้วก็สังเกตเห็นว่า ที่ตลาดแห่งนี้ทำไมไม่มีร้านอาหารเอเชียในตลาดเลย มีแต่ร้านอาหารเล็ก ๆ ของแขกขาว ที่ขายชีสกับผักผลไม้ จึงคิดในใจว่า น่าจะทำอาหารมาขาย พอคิดเสร็จก็รีบปรึกษาสามีทันที ซึ่งตอนแรกสามีไม่เห็นด้วย บอกว่ายุ่งยาก และต้องใช้เอกสารหลายอย่าง แต่เธอก็ไม่ยอม จึงตื๊อจนสามียอมให้ทำ

กับสามี ลูก และครอบครัวที่ไทย

“ภูมิใจมากที่เป็นคนเอเชียคนแรกที่ขายของในตลาดนี้ ก็เริ่มจากโต๊ะเล็ก ๆ ทำปอเปี๊ยะกับสลัดโรลเพื่อลองตลาด ปรากฏขายหมดรวดเร็ว เสาร์ถัดมาก็เลยเพิ่มปริมาณ ก็ไม่พอขายอีก เพราะลูกค้าขาประจำเพิ่มขึ้น จึงเพิ่มเมนูข้าวผัด ผัดบะหมี่สำเร็จรูป บวบชุบแป้งทอด กุ้งชุบแป้งทอด ไก่เสียบไม้ทอด ซึ่งทุกเมนูเป็นที่ถูกอกถูกใจลูกค้ามาก เพราะของทอดทานง่าย ทานได้ทุกเพศทุกวัย ประกอบกับคนฝรั่งเศสคุ้นเคยกับอาหารเวียดนามอย่างปอเปี๊ยะอยู่แล้ว ทำให้ปอเปี๊ยะเป็นเมนูที่ขายดีที่สุด” เป็นจุดเริ่มต้นการเป็นแม่ค้าของทอดขายดีที่ตลาดในฝรั่งเศส และยายไหมยังเล่าถึงการเลือกขายของทอดว่า เมื่อก่อนเคยเป็นพนักงานเสิร์ฟร้านอาหารด้วย สังเกตว่าคนไทยที่พาฝรั่งมาทานอาหารมักจะสั่งปอเปี๊ยะทอด หรืออาหารทอด ๆ ให้ฝรั่งทาน ซึ่งฝรั่งก็ชอบมาก จึงวิเคราะห์ว่า ลูกค้าของเธอส่วนใหญ่ที่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่น่าจะถูกปากกับเมนูทอด ๆ ซึ่งก็จริงดังคาด ลูกค้าประจำส่วนใหญ่ที่เป็นคนแก่จะเป็นลูกค้าที่เหนียวแน่นมาก จะมาซื้อแทบทุกเสาร์เลย

อย่างคุณตาคนหนึ่ง ที่เดือน พ..นี้ท่านจะอายุครบ 100 ปีแล้ว เป็นลูกค้าคนแรกตั้งแต่เปิดร้าน จนถึงวันนี้ก็ยังมาซื้อปกติ จนเรียกว่าเป็นญาติคนหนึ่งของเราก็ว่าได้ ซึ่งตอนกลับจากไทยก็ซื้อของฝากไปแจกลูกค้าด้วย เช่น ช้างแกะสลัก กระเป๋า พวงกุญแจ ผ้าพันคอลายผ้าขาวม้า กางเกงมวยไทย หรือบางทีก็ทำลูกพรุนกวนไปฝาก ซึ่งทุกคนก็ดีใจมาก ที่มาซื้อของแล้วได้ของฝากกลับไปด้วยเป็นอีก เสน่ห์มัดใจของยายไหมที่ทำให้คนฝรั่งเศสหลงรักเธอ

ชีวิตกับพ่อแม่ของสามีที่ฝรั่งเศส

ยายไหมยังเผยกับเราว่า ถ้าไม่ได้มาเป็นแม่ค้าขายอาหารแบบตอนนี้ เธอน่าจะเหงาและเครียดแน่ ๆ เพราะสังคมคนฝรั่งเศสเป็นแบบอยู่ใครอยู่มัน ทำให้เธอต้องหาอะไรที่ชอบทำ อย่างน้อยก็ให้ลืมความหนาว ช่วยคลายเหงา ซึ่งการได้เป็นแม่ค้านั้น นอกจากจะช่วยให้ชีวิตมีสีสันขึ้นแล้ว ยังมีรายได้เอาไปช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัวอีกด้วย

และเธอยังพูดถึง “เมืองไทย” ว่า สิ่งที่คิดถึงมากสุด คงไม่พ้นเรื่องอาหารการกิน ยิ่งอยู่เมืองฝรั่งนาน ๆ ก็ยิ่งคิดถึงส้มตำปลาร้า แม้ที่ฝรั่งเศสก็มีขาย แต่ก็ไม่หลากหลาย และไม่แซ่บเท่าบ้านเรา ทำให้บางครั้งต้องยอมเสียเวลานั่งรถออกไปไกลถึง 2 ชั่วโมง เพื่อจะได้มะละกอคุณภาพดี ๆ สักลูก แต่ก็โชคดีที่หลังจากมีคนรู้จักเธอทางยูทูบ ก็มีแฟนคลับน่ารัก ๆ คอยส่งของกินของใช้แบบไทย ๆ มาให้ตลอด ผ่าน EMS ของไปรษณีย์ไทย โดยมีทั้งข้าวสาร อาหารแห้ง ของดีจังหวัดต่าง ๆ หรือแม้แต่เสื้อกระโปรงผ้าไหมก็มีคนส่งไปให้เธอ เพราะอยากให้ใส่ตอนออกไปขายของที่ตลาด โดยเธอบอกว่า ดีใจและชื่นใจทุกครั้งที่ได้กำลังใจดี ๆ จากคนไทยด้วยกัน ซึ่งเหนือสิ่งอื่นใด เธอไม่ได้ต้องการสิ่งของมีค่าราคาแพง แค่ได้อ่านจดหมายลายมือภาษาไทยที่แนบมากับของฝาก ตัวเธอก็มีความสุขมากแล้ว …ยายไหมพูดถึง แฟนคลับชาวไทยของเธอ

ปิดท้ายบทสนทนา “ยายไหม-พิสมัย” สาวขอนแก่นที่คนจำนวนไม่น้อยรู้จักเธอผ่านยูทูบ “ยายไหมไทยในฝรั่งเศส – mai thai in france” บอกว่า ถ้าย้อนเวลาได้ ก็ยังอยากเป็นแบบนี้ คงไม่อยากจะเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะสิ่งที่ผ่านมาในชีวิตจนถึงวันนี้ อาจไม่ได้เลิศหรูอลังการ แต่คือความสุขที่ได้เจอ… “วันนี้เราได้เจอลูกค้าที่น่ารัก ที่สำคัญคือเจอครอบครัวที่เข้าใจ ถึงจะมีทุกข์บ้างบางครั้ง แต่ก็เป็นสิ่งที่แก้ไข เรียนรู้ และเข้าใจได้ ซึ่งตอนนี้ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เรียกว่า…ชีวิตเกินจากฝันไปมากแล้ว”.

อวดชุดสวย ๆ ที่ FC ส่งมาให้

โชว์ไทย-ช่วยคนไทย..จนได้เป็นทูต

“ยายไหม” หรือ “พิสมัย อ็องเจอลินี” บอกกับ “ทีมวิชีวิต” ด้วยว่า เธอรู้สึกเป็นเกียรติในชีวิตอย่างมากที่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มอบ “รางวัลอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์” ให้เธอ แถมยังให้เธอเป็น “ทูต พม.” ในฝรั่งเศส ด้วย จากการที่เธอคอยช่วยเหลือให้คำปรึกษาคนไทยที่มีปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเอกสาร พาสปอร์ตหาย โดยเธอจะประสานไปทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้อีกที ซึ่งเธอรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับรางวัลและได้ช่วยทำหน้าที่นี้ ไม่คิดไม่ฝันว่าแม่ค้าตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งที่พูดภาษาฝรั่งเศสได้ไม่เก่ง แต่ก็อยากจะเผยแพร่ให้ชาวฝรั่งเศสได้รู้ได้เห็นได้สัมผัสถึงความเป็นไทย จะได้รับเกียรติสูงเช่นนี้ โดยเธอบอกว่า จนถึงวันนี้เธอก็ขายของมาครบ 9 ปีแล้ว ซึ่งตอนแรก ๆ ที่ ยกมือไหว้สวัสดีลูกค้า ลูกค้าอาจรู้สึกแปลก แต่วันนี้กลายเป็นว่า ลูกค้าคนฝรั่งเศสของเธอไหว้เป็น พูดคำว่าสวัสดีได้แล้ว รวมถึงบางคนยังพูดภาษาไทยได้บางคำอีกด้วย ซึ่งก็ทำให้เธอภูมิใจมาก ๆ… “ดีใจและภูมิใจที่ได้นำความเป็นไทยมาเผยแพร่ในฝรั่งเศส แม้จะเป็นจุดเล็กๆ แต่เราก็คิดตลอดว่า ถ้ามีโอกาสก็จะทำให้เต็มที่ เพราะเราคือคนไทย”.

เชาวลี ชุมขำ : รายงาน