ทั้งนี้ เมื่อ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา ในเวทีเสวนา “เดลินิวส์ ทอล์ก 2024 (Dailynews Talk 2024)” หัวข้อ “Soft Power : โอกาสประเทศไทย” ทางรัฐบาล ภาครัฐบางส่วน นำโดยนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ก็ได้ร่วมสะท้อนกับภาคเอกชนถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยไว้อย่างน่าสนใจในหลาย ๆ ประเด็น ดังที่ทาง “เดลินิวส์” ได้มีการนำเสนอไปแล้ว ซึ่งก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่น่าตามดูสัมฤทธิ์ผล …ส่วน ณ ที่นี้วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะชวนดู “ข้อเสนอต่อไทย” จาก รายงานธนาคารโลก (World bank group) ประจำเดือน ก.ค. 2567 ที่…

เสนอ “ปลดล็อกศักยภาพเมืองรอง”

ให้สามารถ “โตได้เต็มประสิทธิภาพ”

เกี่ยวกับ “ข้อเสนอต่อไทย” ดังกล่าว ในรายงานที่จัดทำโดย ธนาคารโลก ได้มีการระบุไว้โดยหลักใหญ่ใจความนั้นมีว่า… การ “ปลดล็อกศักยภาพการเติบโต” ของ “กลุ่มเมืองรอง” ของประเทศไทย อาจเป็นอีกแนวทางที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ดีซึ่งในอดีตที่ผ่านมาการพัฒนาเมืองในประเทศไทยได้มีการมุ่งเน้นมากที่ กรุงเทพฯ เมืองหลวง จนทำให้เป็น หนึ่งในเมืองโตเดี่ยว (primatecity)มากที่สุดเมืองหนึ่งของโลก แต่ในขณะเดียวกัน กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองที่มีความแออัดมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความแออัดนี้มีราคาสูงขึ้น และยากที่จะเอาชนะปัญหาได้สำเร็จ ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้อง “สร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ ๆ ให้ไม่กระจุกตัว “ให้มีการกระจายตัวเพิ่มมากขึ้น”

แต่ทว่า…การจะ ทำให้เกิด “เศรษฐกิจกระจายตัว” ออกไปยังพื้นที่อื่น ๆ “นอกเหนือจากกรุงเทพฯ” ได้นั้น ในรายงานของธนาคารโลกฉบับดังกล่าวนี้ได้ชี้ไว้ว่า… ไทยจำเป็นต้องมีการรวบรวมข้อมูลเชิงพื้นที่ (Portfolio of places) ให้ครอบคลุมและชัดเจนที่สุด เพราะจำเป็นต่อการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงแนะนำให้ผู้กำหนดนโยบายควรเปลี่ยนบทบาทใหม่โดยทำหน้าที่ในฐานะผู้จัดการที่รอบคอบของพื้นที่ ซึ่งเมืองเพียงเมืองเดียวไม่สามารถทำและแก้ปัญหาทุก ๆ อย่างได้ แต่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกับเมืองอื่น ๆ โดย“เมืองต่าง ๆ ทำหน้าที่ได้แตกต่างกัน” และสามารถที่จะ…

ส่งเสริมการเติบโตให้กันและกันได้”

นอกจากนี้ ในรายงานยังเสนอไว้อีกว่า… การกำหนดบทบาทใหม่ของเมืองจะช่วยสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจไทยได้เพิ่มขึ้น อาทิ กรุงเทพฯ ให้ทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการระดับโลกสำหรับธุรกิจ และภาครัฐ ส่วนเมืองขนาดกลางอาจจะเหมาะมากกว่าสำหรับการผลิตทางอุตสาหกรรม ขณะที่ เมืองรองหลายแห่งอาจยกให้ทำหน้าที่ในฐานะศูนย์กลางของกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความหลากหลาย และเป็นอีกกลไกที่จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมถึงช่วยเสริมสร้างสมดุลของประเทศไทย…ก็เป็นอีกส่วนจากข้อเสนอในรายงานธนาคารโลก

ชี้ให้เห็น “ความสำคัญของเมืองรอง”

ที่ก็ “มีศักยภาพสามารถจะเติบโตได้”

ทั้งนี้ ในการเสนอให้ไทย “ปลดล็อกการเติบโตของเมืองรอง” ที่ไม่เพียงส่งเสริมการท่องเที่ยวนั้น ในรายงานของธนาคารโลกยังได้มีการระบุว่า… การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวที่มีการสำรวจล่าสุดนั้น พบว่า…เมืองรองมีการเติบโตสูงมากกว่ากรุงเทพฯ เกือบ 15เท่า ส่วนเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ นั้นดูเหมือนจะเติบโตเต็มที่และถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ขณะที่เมืองรองหลาย ๆ แห่งมีความสามารถในการเพิ่มผลผลิตเพิ่มขึ้นเร็วกว่าจำนวนประชากร โดยเฉพาะเมืองรองที่ได้รับการส่งเสริมด้านการลงทุนและโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม …นี่เป็น “สถานการณ์ของเมืองรอง” ในระยะหลัง ๆ…

หลายแห่งมีอัตราเติบโตที่น่าสนใจ”

อย่างไรก็ตาม กับ การ “จะทำให้เมืองรองเติบโตได้เต็มศักยภาพ” นั้นก็ “จำเป็นต้องกำหนดแผนและยุทธศาสตร์ให้เหมาะสม” ด้วย โดยทางธนาคารโลกก็ได้จัดทำแนวทางเรื่องนี้เพื่อเป็น “ข้อเสนอแนะ” เอาไว้ ดังนี้คือ… ควรปรับเปลี่ยนกรอบการทำงานระหว่างหน่วยงานส่วนกลางและท้องถิ่นเน้นการสนับสนุนความสามารถทางการแข่งขันในระดับโลกของเมืองรองเพิ่มขึ้นเพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ ลดการพึ่งพารายได้จากส่วนกลางของท้องถิ่น

อีกข้อเสนอคือ ควรปรับเปลี่ยนการเข้าถึงกลไกทางการเงินระยะยาวของเมืองรอง ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้เมืองรองมีเครื่องมือทางการคลังที่จำเป็น และให้เมืองรองมีอิสระกำหนดอัตราภาษีส่วนเพิ่มและค่าธรรมเนียมผู้ใช้ได้เอง เพื่อให้เมืองรองสามารถกำหนดทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเมืองอื่น ๆ ยังไม่มีอำนาจกำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากฐานภาษีตนเอง ทำให้เมืองรองขาดรายได้ที่จำเป็นสำหรับการดำเนินงานและการลงทุนสำหรับพื้นที่ตนเอง ซึ่งแตกต่างจากกรุงเทพฯ …ต่าง ๆ เหล่านี้เป็น “ข้อเสนอต่อไทย” ในรายงาน ธนาคารโลก …ซึ่งจริง ๆ “ไทยเองก็ให้ความสำคัญกับเมืองรอง” ในระดับหนึ่งแล้ว และ “ก็น่าตามดูการให้ความสำคัญเพิ่มเติม”

ปลดล็อกศักยภาพเมืองรอง” น่าคิด

ให้เป็น “อีกกลไกกระตุ้นเศรษฐกิจ”

เป็น “อีกโอกาสของประเทศไทย”.

ทีมสกู๊ปเดลินิวส์