เนื่องจากทั้งสองแนวคิดดังกล่าว ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันให้เศรษฐกิจโลกหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยการเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่าน’ (Transition Finance) หมายถึงการสนับสนุนทางการเงินให้กับธุรกิจและโครงการต่างๆ ที่มุ่งเปลี่ยนแปลงไปสู่การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และปรับตัวเข้ากับสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ส่วน พันธบัตรสีเขียว’ (Green bond)  คือตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลหรือองค์กรเอกชนเพื่อระดมทุนสำหรับโครงการด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ เช่น การพัฒนาพลังงานหมุนเวียน การจัดการขยะ และการอนุรักษ์ป่าไม้

เมื่อมีเงินทุนไหลเข้าสู่โครงการเหล่านี้มากขึ้น ก็จะส่งผลให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น รถยนต์ไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์ และผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล ซึ่งจะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อากาศบริสุทธิ์ น้ำสะอาด และสิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่ นอกจากนี้ การลงทุนในพันธบัตรสีเขียวยังเป็นการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน และอาจให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจในระยะยาวอีกด้วย

สรุปให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ทั้งการเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่านและพันธบัตรสีเขียวมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนโลกไปสู่ความยั่งยืน และส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของเราในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงพลังงานสะอาด การบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สอดคล้องกับการที่ ‘เจสัน ลี’ ผู้บริหารฝ่ายความยั่งยืน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารพร้อมเดินหน้าสนับสนุน ‘การเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่าน’ เปลี่ยนโลกให้สะอาดขึ้น โดยเน้นกลุ่มธุรกิจน้ำมัน & ก๊าซ (Oil & Gas) และพลังงาน (Power) เพราะด้วยลักษณะธุรกิจเป็นกลุ่มที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนมากที่สุด ประมาณ 70% ของอุตสาหกรรมทั้งหมด

ซึ่งธุรกิจกลุ่ม Oil & Gas ได้แก่ โรงกลั่นน้ำมัน แท่นขุดเจาะน้ำมัน ขณะที่ธุรกิจกลุ่ม Power คือ โรงไฟฟ้า เนื่องจากธนาคารเล็งเห็นว่า ภาคธุรกิจ 2 กลุ่มนี้ มีความต้องการเงินทุนเพื่อนำไปลงทุนในทรัพยากร คน อุปกรณ์ เครื่องมือ องค์ความรู้ และเทคโนโลยี ที่จะส่งผลให้การดำเนินธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำ ตลอดจนปลายน้ำ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างเป็นรูปธรรม

“ธนาคารให้ความสำคัญกับ 2 กลุ่มนี้เป็นอันดับแรก เพราะจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างและช่วยการลดก๊าซเรือนกระจกปริมาณมาก ที่น่ายินดีคือจากการสำรวจพบว่าธุรกิจ 2 กลุ่มนี้มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจโดยเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นรูปธรรม และมีความต้องการการสนับสนุนทางการเงินอย่างชัดเจน (Committed  Demand) วงเงินรวมกันจำนวน 20,000 ล้านบาท ซึ่งธนาคาร CIMB Thai พร้อมตอบสนอง Transition Finance ในส่วนนี้ ภายใน 24 เดือน ด้วยผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน (Sustainability-Linked Loan) ตราสารหนี้เปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน (Transition Bond) และสินเชื่อเปลี่ยนผ่านเพื่อความยั่งยืน (Transition Loan) เพื่อสอดคล้องกับเป้าหมายตามหลักวิทยาศาสตร์ (Science-based Targets) หรือเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่บริษัทต่างๆ กำหนดขึ้นเพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก (1.5 องศาเซลเซียส)” เจสัน ลี กล่าว 

นอกจากความพร้อมให้การสนับสนุนด้านการเงิน CIMB Thai ยังมี ESG Advisory ที่พร้อมให้คำแนะนำการเปลี่ยนผ่านอย่างมีหลักการ แก่กลุ่มธุรกิจอีกด้วย เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมบรรลุเป้าหมาย โดยการสนับสนุนทางการเงินในครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (Just Transition) อีกด้วย

ไม่เพียงเท่านี้ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ยังได้ลงนามความร่วมมือ Sustainability Linked Loan จำนวน 3,000 ล้านบาท กับ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) เมื่อปี 2566 โดยมีลักษณะสอดคล้องกับเป้าหมายของผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability Performance Targets: SPTs) รวมถึงการลดการปล่อยคาร์บอน Scope 1 (ทางตรง) และ Scope 2 (ทางอ้อม) ต่อปี จนได้รับรางวัล Best Sustainability Linked Loan จาก The Digital Banker: Global Finance Awards 2024

ต่อเนื่องมาจนถึงล่าสุด กับการที่ ‘เจสัน ลีออง ก๊อก ยิว’ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ การเงิน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ธนาคารเสนอขาย ‘ตราสารด้อยสิทธิเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม’ (Green bond) วงเงิน 2,000 ล้านบาท เพื่อระดมเงินทุนสำหรับปล่อยกู้ให้โครงการเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมในระยะยาว เป็นตราสารอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3.90% ต่อปี และจ่ายดอกเบี้ยทุก 3 ดือน เสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ (PP – II&HNW) หน่วยละ 1,000 บาท จองซื้อขั้นต่ำ 100,000 บาท ทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท (สำหรับผู้ลงทุนรายใหญ่) เปิดจองซื้อและขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ทุกสาขาทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 21 – 22 และ 24 – 25 ตุลาคม 2567 ภายในวันและเวลาทำการของธนาคาร

“Green bond ล็อตนี้ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกลงทุนที่ให้ดอกเบี้ยสูง อีกจุดที่นักลงทุนน่าจะชอบคือ จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน และตอบโจทย์นักลงทุนที่กำลังมองหาการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะเงินที่ได้จากตราสารชุดนี้เราจะนำไปสนับสนุน Green project นอกจากนี้ Green bond ชุดนี้ เป็น bond combination ระหว่างตราสารเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ถูกนับเป็นเงินกองทุนประเภทที่ 2 ครั้งแรกในประเทศไทย” เจสัน ลีออง ก๊อก ยิว กล่าว

อนึ่ง ตราสารที่นับเป็นเงินกองทุนประเภทที่ 2 ของธนาคารพาณิชย์ สามารถรองรับผลขาดทุนของผู้ออกตราสารได้เมื่อผู้ออกตราสารมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป โดยสามารถตัดหนี้ตามตราสารเป็นหนี้สูญ (ไม่ว่าทั้งจำนวนหรือบางส่วน) ได้ เมื่อทางการตัดสินใจจะเข้าช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ออกตราสาร ตามรายละเอียดและเงื่อนไขที่ระบุไว้ภายใต้ข้อกำหนดว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ออกตราสารและผู้ถือตราสาร

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ซีไอเอ็มบี ไทย มีเงินกองทุนแข็งแกร่ง และสูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด โดย ข้อมูล ณ วันที่ 31 ส.ค. 2567 มีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง 18.8% เป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ระดับ 15.0% และ เงินกองทุนชั้นที่ 2 ที่ระดับ 3.8%