ระหว่างที่เรากำลังแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อกู้วิกฤติที่ถาโถมมาอย่างต่อเนื่อง และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ใน SDG ทั้ง 17 ข้อ คณะที่เราใช้วิธีการ และมาตรฐานนานาชาติต่าง ๆ ของฝรั่ง ไม่ว่าจะเป็น CSR (Corporate Social Responsibility) CSV (Create Shared Value) SE (Social Enterprise) ESG (Environment Social Governance) BCG Net Zero และอื่น ๆ อีกมากมาย
ในงาน SX Sustainable Expo 2024 ผมได้ยินฝรั่งที่มาจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ขึ้นเวทีคุยให้ฟังเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่พวกเขาใช้เป็นเข็มทิศนำทางในการดำเนินชีวิต ใช้เป็นหลักการในการประกอบธุรกิจ สร้างประโยชน์ให้เกิดกับชุมชน สร้างความสุขให้ตัวเขาเอง และครอบครัว จนหลายคนไม่ยอมกลับบ้าน บอกว่ารักเมืองไทย อยากอยู่ประเทศไทย และเขาเทิดทูนในหลวงรัชกาลที่ 9 รัชกาลที่ 10 ที่พระราชทานความรู้ และต่อยอดพัฒนาโครงการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่พสกนิกรชาวไทย เขาถึงแม้จะเป็นชาวต่างชาติ ก็มีโอกาสได้เรียนรู้ นำไปปฏิบัติ จนประสบความสำเร็จ และตอนนี้เขาได้เผยแพร่ไปสู่เพื่อน ๆ ของเขาทั่วโลก
ผมมีโอกาสพูดคุยกับชาวต่างชาติที่อยู่ในวงการความยั่งยืน เขาบอกว่า “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เน้นแนวทางที่จับต้องได้ ที่รวมหลักการ หลักคิด และหลักปฏิบัติ” ที่จะพาเราสู่สมดุล และสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
พวกเขาบอกผมว่า เขามิได้ “ท่องจำ” สามห่วง สองเงื่อนไข แต่พยายาม “เข้าใจ และนำไปทดลองปฏิบัติ เรียนรู้จากประสบการณ์จริง”
ผมลองถามฝรั่งหลาย ๆ ท่านว่า สำหรับเขาแล้ว ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คืออะไร เขาเรียนรู้อะไร และนี่คือคำตอบ
“Understand Changes and Prepare for Changes” เข้าใจความเปลี่ยนแปลง และพร้อมรับมือ เขาตระหนักรู้เสมอว่าความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา ทั้งในระดับโลก ระดับภูมิภาค ระดับชุมชน และรอบ ๆ ตัวเรา เขาต้องยอมรับ และปรับตัว เพื่อลด
ความเสี่ยง มีการเตรียมแผนต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิต และการดำเนินธุรกิจเสมอ ในทุกวิกฤติ ย่อมมีโอกาส สามารถคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้เสมอ … หลายท่านอาจจะบอกว่านี่คือ “ภูมิคุ้มกัน”
“Develop Your Common Sense” พัฒนาสามัญสำนึก ในยุคที่เทคโนโลยีช่วยเหลือเราทุกอย่าง จนเราไม่ต้องคิดอะไร AI ตัวใหม่ ๆ ช่วยคิด ช่วยตัดสินใจ จนเราลืมเรื่องสามัญสำนึก ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ๆ สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ย่อมมาจากเหตุ มีปัจจัยต่าง ๆ เมื่อมีเหตุ ย่อมมีผล สามัญสำนึก และการคิดอย่างมีเหตุผล สามัญสำนึกนี้เขาใช้ในทุกการตัดสินใจต่าง ๆ ทางธุรกิจ ที่ต้องคำนึงถึงสังคม และสิ่งแวดล้อมด้วย… หลายท่านอาจจะเรียกว่า “ความมีเหตุผล”
“Create New Balance” การสร้างสมดุลใหม่ เมื่อโลกเสียสมดุลจากนํ้ามือของพวกเราเหล่ามวลมนุษยชาติ เราต้องหาสมดุลใหม่ การดำเนินกิจการแบบสุดโต่ง สร้างกำไรสูงสุด จะไม่ใช่เป้าหมายอีกต่อไป เราไม่พียงดูตัวเลข GNP Gross National Product แต่เราต้องให้ความสำคัญกับ GNH Gross National Happiness ด้วย ความสุข ความสมดุล จะเป็นเป้าหมายใหม่ ในโลกที่ต้องการความยั่งยืน … หลายท่านอาจจะเรียกว่า “พอประมาณ”
“Mindfulness” การมีสติ เรื่องนี้สำคัญมากในปัจจุบัน การจะสร้างความเปลี่ยนแปลง เราต้องเปลี่ยนแปลงจากภายใน ต้องเริ่มจากตัวเราเอง จะเปลี่ยนแปลงโลก ต้องเปลี่ยนแปลงที่ตัวเราก่อน … ซึ่งนั่นคือ การ “ระเบิดจากข้างใน”
และยังมีคำอื่น ๆ อีกมากมาย ถ้าถามฝรั่งไปเรื่อย ๆ เราจะได้ยินคำในภาษาท้องถิ่นของประเทศต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกับความรู้เรื่อง “ความพอเพียง” ที่ไม่เพียงแต่เป็นทฤษฎีเท่านั้น แต่ชาวฝรั่งต่างชาติได้มาเรียนรู้ และมาลองปฏิบัติจริงจนเห็นผล
ฝรั่งบางท่านยังบอกว่า ตอนนี้ชาวต่างชาตินำเรื่อง “ความพอเพียง” ไปเผยแพร่ทั่วโลก และประชากรโลกสนใจเรื่องนี้กันมาก เพราะเป็นแนวทางปฏิบัติสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG แนวทางนี้ดีต่อตัวเราเอง และดีต่อโลก ชาวต่างชาติยังยํ้าว่า ถ้าคนไทยยังแค่ท่องจำ ไม่ทำความเข้าใจ ไม่นำไปปฏิบัติ สักวันอาจจะต้องไปเรียนรู้กับฝรั่งต่างชาติก็เป็นไปได้.