ทั้งนี้ การใช้อุบายเล่ห์เหลี่ยม หลอกลวง โกง ที่กระทำกับคนจำนวนมาก “ผ่านทางออนไลน์” ล่าสุด “อื้ออึง” ขึ้นในไทยอีก ซึ่งนั่นก็ว่ากันไป อย่างไรก็ดี ว่าด้วย “การโกง” นี่ในทางวิทยาศาสตร์ ทาง “จิตวิทยา” ก็มีการศึกษาวิเคราะห์…

โกง” นั้น “ก็เกี่ยวโยงกับเรื่องจิต”

เกี่ยวโยง “ทั้งการโกงการถูกโกง”

และวันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็จะสะท้อนต่อข้อมูล “โกงในมุมจิตวิทยา”… โดยเรื่องนี้ 2 ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา คือ รศ.ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการปรับพฤติกรรม และ ดร.กฤษณ์ อริยะพุทธิพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาปริชาน ได้ร่วมกัน “ไขรหัสโกง”ไว้ ซึ่ง “น่าสนใจมาก” โดยเฉพาะในยุคนี้ที่ในไทยเกิดปัญหาลักษณะนี้บ่อยมาก ๆ ซ้ำยังมีแนวโน้มจะมีปัญหาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนดู “คล้ายสถานการณ์โรคระบาด” โดยเฉพาะการ “โกงทางออนไลน์” จึงน่าสนใจยิ่งที่สังคมจะได้รู้ถึง “สาเหตุ-ปัจจัย” ที่เป็น “ตัวกระตุ้น” ทำให้บางคน “โกง” หรือ “ถูกโกง” ซึ่งอย่างหลังก็น่าที่จะ…

ทำความเข้าใจจิตวิทยา”มิติพื้นฐาน

เพื่อให้ “เท่าทันกลโกงไม่เป็นเหยื่อ”

สำหรับข้อมูลการ “ไขรหัสโกง” ที่ ณ ที่นี้จะสะท้อนต่อนั้น มาจากเวทีเสวนาที่น่าสนใจ โดยทาง รศ.ดร.สมโภชน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการปรับพฤติกรรม และ ดร.กฤษณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาปริชาน ได้สะท้อนข้อมูลไว้ผ่านเวที เสวนาออนไลน์ (PSY Talk) จัดโดยคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลักใหญ่ใจความมีว่า… ในทางจิตวิทยามองเรื่อง “การโกง” ว่าคือ… ความพยายามของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่ใช้กลวิธีหรือเล่ห์กลชักจูงใจคนอื่น เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการ “ทำให้คนหลงเชื่อเข้าใจผิด”บางสิ่งบางอย่าง ว่า…

คือความจริงเรื่องจริงแต่ไม่จริง!!”

ทางผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการปรับพฤติกรรม รศ.ดร.สมโภชน์ ได้อธิบายให้ความรู้ความเข้าใจไว้ว่า… ในทางจิตวิทยานั้นจะแบ่งรูปแบบของการโกงจาก 2 มิติสำคัญ นั่นคือ… “มิติจิตวิทยาโดยตรง” และ “มิติความกลัว” โดยในมิติแรก อย่างมิติทาง จิตวิทยา นั้น ก็จะประกอบด้วยเรื่องของ “แรงจูงใจ” ซึ่งถ้า ใครมีความเข้าใจเรื่องนี้ ก็จะสามารถสร้างกลโกงได้มากมายหลายร้อยวิธี เนื่องจากมนุษย์จะมีตัณหา-ความโลภ-ความอยากที่แอบซ่อนอยู่ในจิตใจของตัวเอง ฉะนั้น เมื่อเข้าใจถึงความต้องการ ความอยาก ตัณหา ผู้จะสร้างกลโกงก็จะดึงสิ่งเหล่านี้มาเป็นเครื่องมือเพื่อล่อใจ เพื่อที่จะ ทำให้เหยื่อหรือเป้าหมายเกิดความอยาก ยอมทำตามคำบอกเพื่อหวังจะได้ในสิ่งที่ถูกกระตุ้นทำให้อยากได้

ส่วนมิติที่สอง อย่างเรื่องของ ความกลัว นั้น คนที่ต้องการหลอก ต้องการโกง จะใช้ความกลัวเป็น “ตัวกระตุ้น” ให้คนยอมทำตาม อย่างไรก็ตาม แต่ปัจจุบันผู้ที่ต้องการโกงหรือจะหลอกคนอื่นก็มักไม่ค่อยใช้วิธีนี้แล้ว เพราะคนยุคนี้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ถูกกระตุ้นให้กลัวได้ยากขึ้น เนื่องจากเริ่มมีความเข้าใจ หรือรู้ทันมากขึ้นนั่นเอง …นี่เป็นคำอธิบายขยายความ “การโกงในทางจิตวิทยา” ที่ยกให้ปัจจัย“ตัณหาโลภความอยาก” เป็น “ปัจจัยกระตุ้นสำคัญที่ทำให้คนถูกโกงกันมาก”ในยุคนี้

ผู้เชี่ยวชาญท่านเดิมระบุไว้เพิ่มเติมอีกว่า… การเป็นเหยื่อถูกโกงจากความอยากหรือความโลภนั้น เป็นเรื่องยากที่คนอื่นจะมาช่วยป้องกันให้ เพราะเกิดจาก “จิตใจพื้นฐาน” แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะแก้หรือปรับเปลี่ยนไม่ได้ วิธีแก้คือต้องทำให้คิดได้ว่าทุกอย่างไม่มีอะไรได้มาง่าย ๆ จะต้องใช้เวลา ใช้ความพยายาม ซึ่งถ้าปลูกฝังแนวคิดนี้ตั้งแต่เด็ก ก็จะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันการถูกหลอกถูกโกงได้มากขึ้น ส่วน “ผู้ที่ถูกโกง” ไปแล้ว ทางผู้เชี่ยวชาญแนะนำ “คนรอบตัว” ไว้ว่า…ควรยึด 2 หลักสำคัญ…

คือ…ไม่ซ้ำเติม” และ “ให้กำลังใจ”

นี่เป็นข้อแนะนำ “ดูแลจิตใจเหยื่อโกง”

ด้าน ดร.กฤษณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาปริชาน เสริมไว้ว่า… ยุคนี้การโกงมีรูปแบบซับซ้อนหลากหลายยิ่งขึ้น เพราะ มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทำให้การโกงยิ่งทำได้ง่าย แต่กระนั้น“ตัวกระตุ้น”ที่ทำให้ “กล้าโกง” ก็ยังเป็นปัจจัยหลักจาก “ความโลภความอยากได้อยากมี” อยู่ดี ยิ่งไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา มีคนชั้นกลางจำนวนมาก ซึ่งล้วนต้องการจะไต่ฐานะทางเศรษฐกิจ เพราะอยากมีชีวิตที่ดี จึงง่ายที่จะมีคนถูกดึงดูดล่อหลอก รวมถึงด้วยคำว่า… ของถูก ของต้องมี หรือ รางวัล ต่าง ๆ

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญท่านนี้ยังระบุไว้ด้วยว่า… อีกปัจจัยหนึ่งที่ก็อาจเป็น “ตัวกระตุ้นให้โกง” นั้น ก็คือเรื่อง ระยะห่างของอำนาจ (power distance) โดย “คนที่โกงคนอื่น” นั้น อาจจะ “เห็นช่องว่างโอกาส” ที่จะใช้เรื่องนี้มาหาประโยชน์ให้ตัวเอง หรือใช้เป็นข้ออ้างทำให้คนอื่นกลัวจนยอมทำตาม อาทิ อ้างมาจากหน่วยงานรัฐ อ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งนี่ก็สะท้อนว่า “สิทธิปกป้องตัวเองของประชาชนยังมีปัญหา” เพราะในประเทศที่มีกฎหมายปกป้องสิทธิดี ๆ เมื่อเจอเล่ห์กลแบบนี้คนจะไม่กลัวเลย เพราะมีปัญหาอะไรก็ไปเจอกันที่ศาล …ทางผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยาปริชานชี้ไว้ …ซึ่งนี่ก็เป็น “อีกจุดน่าสนใจ” กรณี “โกง”

ศาสตร์จิตบ่งชี้ไว้” เรื่องนี้ “น่าสนใจ”

ตัวกระตุ้น” ทำให้ “กล้าโกงถูกโกง”

ที่ “ในไทย…เกิดมากซ้ำแล้วซ้ำอีก!!”.

ทีมสกู๊ปเดลินิวส์