พร้อมทำงานแล้วสำหรับ “ครม.อิ๊งค์1” ของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หลังการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ก็จะเป็นการนับหนึ่งลุยภารกิจสานต่องานรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางฝ้ายค้าน-ฝ่ายแค้นที่คอยจ้องขย้ำรัฐบาลทั้งเกมในสภาและนิติสงคราม วันนี้ “คอลัมน์ตรวจการบ้าน” ต้องมาสนทนากับ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร”สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ตัวจี๊ดในสภา ว่าหลังแถลงนโยบายแล้วพรรคประชาชนจะมีการจับตาการทำงานของรัฐบาลเป็นพิเศษอย่างไร เพื่อให้โดนใจประชาชน และเป็นตัวแทนของประชาชนจริงๆ
โดย “วิโรจน์” เปิดประเด็น กล่าวว่า การทำหน้าที่ของฝ่ายค้านที่ทรงพลัง ก็คือ ต้องโฟกัสที่เนื้อหาสาระและข้อมูล เราคงต้องโฟกัสว่าการบริหารราชการแผ่นดินให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชน เราต้องติดตามว่ารัฐบาลได้ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายตามที่ได้ให้คำมั่นกับพี่น้องประชาชนหรือไม่ โดยเฉพาะที่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ผลการดำเนินการ ผลสัมฤทธิ์ เป็นอย่างไร มีผลกระทบเชิงลบกับประชาชนบางกลุ่ม และรัฐบาลได้คลี่คลายหรือชดเชยเยียวยาเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนอย่างเป็นธรรมหรือไม่
สิ่งสำคัญที่สุดการขับเคลื่อนนโยบายหลายส่วนก็จะมาพร้อมกับการใช้จ่ายงบประมาณ เราก็ต้องดูว่ามีความโปร่งใสหรือไม่ มีหลักฐานที่เชื่อมโยงไปถึงการทุจริตคอร์รัปชั่น หรือการเอื้อผลประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรมหรือไม่ โดยพรรคจะมีการแบ่งสันปันส่วนให้กับ สส.ของเราที่มีความถนัดในแต่ละด้าน ได้แบ่งกลุ่มในการเกาะติดการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล
@ มองอย่างไรกับที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ว่า‘ครม.แพทองธาร 1’ เป็น ครม.สืบสันดาน
ผมคิดว่าต้องสะท้อนถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผมว่าประชาชนก็เห็นอยู่แล้วว่ามันมีระบบตัวตายตัวแทนเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นเป็นน้อง เป็นลูก หรือนามสกุลเดียวกัน แล้วก็มีการตั้งคำถามว่าตกลงแล้วที่มาเป็นรัฐมนตรี หรือมาทำหน้าที่ฝ่ายบริหารนั้น ตกลงเป็นรัฐมนตรีตัวจริง หรือมีรัฐมนตรีตัวจริงอยู่เบื้องหลังหรือเปล่า ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นความน่าเศร้าของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ การเกิดขึ้นของกลไกมาตรฐานจริยธรรม ที่อยู่ดีๆ ก็เอาเรื่องนามธรรม เรื่องของความรู้สึกของคนแค่ไม่กี่คน มาตัดสินว่าคนนี้ควรอยู่ คนนี้ควรไป คนนี้มีจริยธรรม คนนี้ไม่มีจริยธรรม จึงเกิดเป็นระบบแบบนี้
ซึ่งระบบที่บิดเบี้ยวแบบนี้ยังจะสร้างปัญหาในเรื่องการสั่งการการขับเคลื่อนนโยบายด้วย เพราะข้าราชการไม่รู้ว่าจะฟังรัฐมนตรีคนไหนดี จะฟังคนที่อยู่หน้าม่าน หรือคนที่อยู่หลังม่าน เพราะเราดูหน้าเสื่อเราก็ต้องรู้อยู่แล้วว่าคนที่อยู่ฉากหน้าไม่น่าจะมีพาวเวอร์เหนือกว่าคนที่อยู่ฉากหลัง จึงจะเป็นปัญหาในเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินอีกว่าจะขับเคลื่อนการทำงานอย่างไร และข้าราชการจะต้องฟังใคร รวมไปถึงการแต่งตั้งโยกย้าย ตกลงแล้วตัวรัฐมนตรีมีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการหรือไม่ หรือคนที่แต่งตั้งโยกย้ายคือคนที่อยู่หลังม่าน ข้าราชการก็ทำตัวไม่ถูก
@ จุดอ่อนของรัฐบาลมีประเด็นใดบ้างและจะเกาะติดเรื่องไหนเป็นพิเศษ
ในเชิงนโยบายเท่าที่ผมอ่าน ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูความเป็นธรรมในสังคม และระบบนิติรัฐ นิติธรรม เอาง่ายๆ การให้ความยุติธรรมกับประชาชนที่เคยเป็นอดีตผู้ชุมนุม ทุกสีทุกฝ่ายโดยเฉพาะคนเสื้อแดง เราก็ไม่เห็นตรงนี้ด้วย ความฝันของคนเสื้อแดง ความฝันของผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย เขาฝันว่าต้องการให้เพื่อไทยเป็นรัฐบาลเพื่ออะไร เขาต้องการความเป็นธรรมในสังคม เขาต้องการให้สังคมไม่มี 2 มาตรฐาน แต่วันนี้ผมไม่เห็นนโยบายอะไรที่จะให้ความเป็นธรรมกับผู้ชุมนุมที่เป็นแรงใจสำคัญของพรรคเพื่อไทย เป็นเรื่องที่เราต้องตั้งคำถามด้วย
นอกจากนั้นในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ดี หรือการฟื้นฟูระบบนิติรัฐ นิติธรรม เพื่อให้การเมืองเรามีเสถียรภาพ อยู่ภายใต้ระบบนิติรัฐ เราไม่เห็นความจริงจังตรงนี้ ผมก็ตลกเหมือนกันเพราะว่าวันนี้นายกฯ เปลี่ยนชื่อจากเศรษฐา ทวีสิน เป็นแพทองธาร ชินวัตร มันก็มาจากระบบทางการเมืองที่ขาดเสถียรภาพ เราไม่รู้สึกหรือว่ามันแปลก การที่จะกำจัดรัฐบาลที่มาจากระบบรัฐสภา กำจัดพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นล้านๆ เสียง ซึ่งงบประมาณที่ใช้จัดเลือกตั้งครั้งหนึ่งก็มหาศาล ปรากฏว่ามีแค่นักร้อง 1 คน และกลุ่มคนอีก 9 คน รวมเป็น 10 คน ล้มเสียงเป็นล้านๆคน ของประชาชนได้ แล้วเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นในบ้านเมืองเราเป็นระบบประชาธิปไตย ในเมื่ออธิปไตยตกลงแล้วถ้ามันเป็นของปวงชนชาวไทย ที่มี 60-70 ล้านคน สุดท้ายมันต้องล้มไปด้วย 1 คนร้อง 9 คนเขียนอย่างนี้หรือ เราไม่เห็นหรือว่าระบบแบบนี้มันผิดแปลก และรัฐบาลไม่มีแนวคิดที่จะแก้ตรงนี้หรือ ในเมื่อถือเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ
ผมยืนยันว่าทุกครั้งที่เราเห็นการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่ในอดีตไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน มาจนถึงพรรคเพื่อไทยนั้น มันจะมีอยู่ 2 ปีกเสมอ ปีกหนึ่งคือนโยบายประชานิยม ผมมองประชานิยมเป็นเรื่องที่ดีคือเอางบประมาณมาวางนโยบายที่เกิดประโยชน์กับประชาชนโดยตรงทั้งระยะสั้น กลาง ยาว อีกปีกหนึ่งที่เราเห็นคือการลงทุนขนาดใหญ่ที่ใช้เม็ดเงินจำนวนมาก ซึ่งตรงนี้มักจะถูกกล่าวหาว่ามีเรื่องคอร์รัปชั่น จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง
สุดท้ายก็จะถูกนำมาเป็นชนักปักหลังในการควบคุมรัฐบาล โดยมือที่มองไม่เห็นหรือผู้มีอำนาจที่อยู่หลังม่าน ที่คอยจัดการกับพรรคเพื่อไทย แต่พรรคเพื่อไทยขาดอยู่อีกเสาหลักหนึ่งคือนโยบายการเมืองที่จะทำให้การเมืองมีเสถียรภาพ พรรคเพื่อไทยต้องอย่าลืมว่าการได้เข้ามาเป็นนโยบายที่จะสามารถดำเนินนโยบายการลงทุนขนาดใหญ่ในประเทศหรือดำเนินนโยบายประชานิยมที่เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนได้ ไม่ว่าจะเป็น 30 บาท รักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น ที่ทำอย่างนั้นได้เพราะรัฐธรรมนูญ 40 ที่เป็นประชาธิปไตย และการเมืองที่มีเสถียรภาพ แต่วันนี้พรรคเพื่อไทยไม่คิดจะกลับไปสร้างรากฐานะที่ดีอย่างนั้นอีกหรือ
ทั้งนี้สิ่งที่เราไม่เห็นรัฐบาลให้ความสำคัญเลย คือ การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น ไม่เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจอะไรในเรื่องนี้เลย รวมทั้งการแก้ปัญหายาเสพติด การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ การพนันออนไลน์ต่างๆที่สาวไปถึงตัวใหญ่จริงๆ ต้องปิดปากเอามือทาบอก และหลายครั้งพัวพันกับมาเฟียข้ามชาติ ทุนสีเทา ซึงมีเม็ดเงินสีดำสีเทามหาศาล มีเครือข่ายข้าราชการระดับสูงคอยเป็นลูกสมุน ในการทำให้พวกนี้สามารถทำธุรกิจผิดกฎหมายได้ในประเทศไทยและเผลอๆ พวกนี้ใหญ่กว่ารัฐบาลด้วย เพราะขนาดในยุคพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ มีมาตรา 44 ยังไม่เกรงกลัว แม้เรื่องเหล่านี้มีอยู่ในนโยบายเร่งด่วน แต่ในเนื้อหาสาระคำแถลงนโยบายไม่ได้สะท้อนถึงความมุ่งมั่น จริงจังที่จะลุยให้ได้ รัฐบาลนี้ไม่ใช่ไม่รู้ แต่รู้แล้วเลี่ยงที่จะจัดการกับกลุ่มคนเหล่านี้หรือไม่
@ ในอนาคตพรรคประชาชนกับพรรคเพื่อไทยจะจับมือกันได้หรือไม่
ในสมัยนี้คงไม่ได้ เพราะเราก็คงต้องทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างมีประสิทธิภาพ มันคงไม่ใช่เวลาที่จะมานั่งคิดถึงการนั่งถึงการร่วมรัฐบาล ประชาชนที่เลือกเราเพราะอยากให้เราทำงานอย่างแข็งขัน ไม่ใช่ว่างานการไม่ทำ ตรวจสอบรัฐบาลไม่ตรวจ มุ่งแต่เคาะประตูหลังบ้าน กวักมือจะร่วมรัฐบาลอย่างเดียว
“ผมว่ามันไม่ใช่กาลเทศะอย่างนั้น สิ่งที่ผมแนะนำพรรคเพื่อไทยไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการฟื้นฟูหลักนิติรัฐ นิติธรรม หรือชดเชยเยียวยาคนเสื้อแดง การแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือ กฎหมายที่จะสร้างเสถียรภาพให้กับอำนาจบริหารและระบบรัฐสภา หรืออำนาจนิติบัญญัติ”
ผมยืนยันว่าผมไม่ได้หวังจะร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทย แต่ต้องการเห็นอำนาจบริหาร อยากเห็นสภา ที่มีความเข้มแข็ง อยากเห็นอำนาจตุลาการเป็นเสาหลักให้ความเป็นธรรมกับประชาชนโดยเสมอหน้ากัน ดังนั้นปิดประตูไปเลย ส่วนในระยะยาวการเมืองในระบบรัฐสภามันก็ต้องดูกันอีกที ว่านโยบายและอุดมการณ์ตอนนั้นมันร่วมกันได้หรือไม่ เราคงไม่ได้บอกว่าเราเป็นศัตรูกับใคร แต่เราเป็นศัตรูกับคอร์รัปชั่น เราเป็นศัตรูกับระบอบที่บ่อนทำลายนิติรัฐ บ่อนทำลายอธิปไตยของประชาชน เราเป็นศัตรูกับการเอารัดเอาเปรียบประชาชน และการกินรวบผูกขาดโดยที่ไม่คำนึงว่างบประมาณเป็นเงินภาษีและอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน