แต่ปีนี้น่าสนใจพายุระลอกหลัง ๆ นี้ ส่วนใหญ่ส่งผลกระทบทำให้ฝนตกหนักบริเวณ “ใต้เขื่อน” แทบทั้งสิ้น ทำให้มวลน้ำจำนวนมากไม่ได้ถูกจัดการน้ำอย่างที่ผ่าน ๆ มา นับเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ หน่วยงานภาครัฐของไทย อาจจำเป็นจะต้องขบคิดหาแนวทางการบริหารจัดการน้ำเพิ่มเติมเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ที่แปรเปลี่ยนไปได้ตลอด
ปัญหาใหญ่ปีนี้ฝนตกใต้เขื่อน
ทีมข่าว 1/4 Special Report ได้สัมภาษณ์ ดร.ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ถึงสถานการณ์ในช่วงนี้ว่า ภาคอีสานยังน่าห่วง เพราะหย่อมความกดอากาศต่ำจะทำให้ฝนตก โดยเฉพาะพื้นที่แถบอีสานตอนล่าง ปีนี้ถ้าเทียบกับปีที่ผ่านมา แม้จะมีวันที่ฝนตกน้อย แต่มีปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาเยอะกว่า ที่สำคัญส่วนใหญ่ฝนไปตกในพื้นที่บริเวณ “ใต้เขื่อน” ที่ไม่มีตัวกักเก็บน้ำมารองรับ เพราะถ้าฝนตกเหนือเขื่อนไม่ว่าจะเป็นเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ น้ำฝนจะเข้าไปกักเก็บในเขื่อนก่อนจะระบายลงมา แต่ในวันนี้เมื่อฝนตกบริเวณใต้เขื่อน สิ่งที่จะรองรับน้ำได้คือ “เขื่อนขนาดเล็ก” ที่อยู่ระหว่างทางการไหลของน้ำ อาทิ เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสัก และเขื่อนพระราม 6 ที่ยังช่วยกักเก็บน้ำได้เวลาฝนตกลงมา
“ปีนี้ฝนตกหนักกว่าปีก่อน ๆ แค่ 8 เปอร์เซ็นต์ แต่หากเทียบกับปี 2554 ที่มีฝนตกหนักกว่าค่าปกติอยู่ที่ 29 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นเป็นเรื่องจำเป็นที่เราต้องมาหาวิธีการจัดการ กรณีฝนที่ตกเยอะบริเวณท้ายเขื่อนให้มากขึ้น โดยปีนี้ฝนเริ่มตกหนักต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน พอมาเจอพายุเตี้ยนหมู่ ดินที่ชุ่มน้ำอยู่เดิมแล้วจึงระบายน้ำไม่ทัน เมื่อน้ำที่มาจากฝนตกใต้เขื่อนในปริมาณมาก ไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา หรือแม่น้ำป่าสัก จึงทำให้การระบายน้ำไม่ทัน จนทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่ม”
ขณะที่พื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง ปีนี้เพิ่งจะมามีฝนตกเยอะในปลายเดือนกันยายนเช่นกัน ซึ่งฝนในพื้นที่นี้บางส่วนตกเหนือเขื่อน ทำให้เขื่อนอุบลรัตน์ น้ำเริ่มเต็มเขื่อน ส่วนเขื่อนจุฬาภรณ์ ตอนนี้น้ำเต็มความจุแล้ว ด้วยความที่เป็นพื้นที่ ราบสูง ทำให้การไหลเคลื่อนของน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขงช้า ประกอบกับไม่มีพื้นที่เชื่อมต่อสู่ทะเล จะเห็นว่าพายุ “เตี้ยนหมู่” เข้ามาตั้งแต่ปลายเดือนที่แล้ว แต่วันนี้บางพื้นที่ใน จ.มหาสารคาม ยังเจอน้ำท่วมอยู่ จะเห็นว่าการเคลื่อนตัวของน้ำในภาคอีสานเป็นไปได้ช้าอย่างมาก จึงเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงในการแก้ปัญหาเพื่อขับเคลื่อนน้ำให้ลงสู่แม่น้ำโขงให้ได้เร็วขึ้น
“โลกร้อน” สภาพอากาศเปลี่ยน
ดร.ณัฐพล มีมุมมองด้วยว่า ที่ผ่านมาทางกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนเรื่องพายุที่จะเข้ามาเรามีระบบการเตือนมาตลอด แต่ด้วยทิศทางการเคลื่อนตัวของพายุ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เนื่องจากสภาพอากาศ อย่างพายุ “คมปาซุ” เดิมไม่คิดว่าจะเข้ามาไทย แต่คาดว่าจะเข้าไปยังพื้นที่จีนตอนใต้ แต่สุดท้ายเจอความกดอากาศสูงปะทะ ทำให้พายุต้องม้วนตัวกลับมาเข้าในไทย แต่จะเห็นว่าพายุที่เข้ามาส่วนใหญ่ความรุนแรงจะมีไม่มาก มีเพียงพายุเตี้ยนหมู่ที่เข้ามาแบบตรง ๆ ทางภาคอีสานไปจนถึงฝั่งตะวันตกของประเทศไทย และการเคลื่อนตัวของพายุนี้ส่วนใหญ่เคลื่อนตัวพาพายุฝนมาตกใต้เขื่อน จึงทำให้ระบายน้ำไม่ทัน
ปัจจุบันข้อมูลการเคลื่อนตัวของพายุ ไทยไม่สามารถทำข้อมูลเพียงประเทศเดียวได้ แต่จะต้องร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ที่ส่งข้อมูลเตือนความรุนแรงของพายุให้กับประเทศอื่น ที่อยู่ในแนวการเคลื่อนตัวได้รับทราบล่วงหน้า ซึ่งถ้ามีการอัพเดทข้อมูลกันได้ดีขึ้น จะทำให้ไทยรับมือกับพายุได้ดี ที่น่าสนใจคือ การก่อตัวของพายุในระยะหลัง เมื่อเกิดภาวะ “วิกฤติโลกร้อน” จะมีการก่อตัวแตกต่างไปจากเดิม เพราะปกติไทยช่วงกลางเดือนตุลาคม มีโอกาสน้อยมากที่จะมีพายุเข้าไทย และพายุนั้นเคลื่อนตัวไปทางตอนบนของประเทศ
“ตอนแรกปีนี้เราคาดการณ์ว่าจะแล้งด้วยซ้ำ เพราะช่วงเข้าหน้าฝนยังไม่มีพายุเข้ามาซักลูก กระทั่งปลายเดือนกันยายน มาจนถึงตุลาคมนี้ มีพายุเข้ามาในไทยอย่างต่อเนื่อง แม้พายุบางลูกไม่ได้เข้ามาแบบเต็ม ๆ เพราะพอมีความกดอากาศสูงเข้ามาทำให้พายุสลายตัวไป แต่อิทธิพลของพายุนั้นก็มาซ้ำเติมทำให้ฝนตกซ้ำในหลายพื้นที่”
พายุก่อตัวในมหาสมุทรมากขึ้น
ดังนั้นเมื่อเกิดภาวะโลกร้อนทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ทำให้น้ำแข็งในขั้วโลกละลาย น้ำในทะเลมีปริมาณมากขึ้น ส่งผลให้มีความร้อนในน้ำทะเลมากขึ้น จึงทำให้โอกาสจะมีฝนตกมีมากขึ้น เนื่องจากพายุที่เข้ามาในไทยส่วนใหญ่ พัฒนาตัวเองจากในทะเลเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะในมหาสมุทรแปซิฟิกสิ่งนี้จึงทำให้เกิดพายุจากพื้นที่นี้ถี่มากขึ้นโดยเฉพาะปีนี้ มีพายุที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิก หลายลูกทั้งที่เข้ามาในไทยและไม่ได้เข้า ทั้งนี้การมาของพายุช้าลงจากเดิม เพราะถ้าไม่มีความกดอากาศสูงเข้ามาช่วยลดความรุนแรงของพายุ สถานการณ์ในไทยอาจหนักกว่านี้ โดยเฉพาะเดือนตุลาคม มีพายุเข้ามา 3 ลูก กับอีก 1 หย่อมความกดอากาศต่ำ
การเปลี่ยนแปลงเนื่องจากภาวะโลกร้อนเหล่านี้ เราจำเป็นจะต้องมาปรับเปลี่ยนข้อมูลและการรับมือกับพายุฝนใหม่ ซึ่งจะต้องมาวิเคราะห์ว่า ทำไมเดือนตุลาคม พายุเข้ามาแล้วเคลื่อนตัวไปตามพื้นที่อีสานตอนบน ทั้งที่โดยปกติช่วงปลายตุลาคม จะต้องเคลื่อนตัวลงภาคใต้ สิ่งนี้ทำให้ฤดูหนาวของไทยปีนี้ช้าลงกว่าเดิม คาดว่าอากาศเย็นจะ เข้ามาช่วงปลายตุลาคม หรือต้นเดือนพฤศจิกายน แม้ไม่หนาวเย็นมากนัก เนื่องจากบางพื้นที่ ยังมีฝนตกอยู่ แต่จะไปหนาวเย็นอีกทีช่วงเดือนธันวาคม
ดร.ณัฐพล ยังมีมุมมองด้วยว่า วันนี้เราต้องมาดูว่าถ้าเกิดมีฝนตกใต้เขื่อนอีก และตกในปริมาณมากกว่าที่เราเจอในปีนี้จะทำอย่างไร เพราะปีนี้ถ้าร่องมรสุมไม่เคลื่อน ลงมาทางภาคกลางแถวกรุงเทพฯ ราชบุรี นครปฐม แต่หยุดอยู่ที่ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สระบุรี อาจเจอปัญหาน้ำท่วมหนักกว่านี้ และจะต้องมาคิดว่า น้ำที่อยู่เหนือกรุงเทพฯ จะต้องจัดการเพื่อให้ออกสู่ทะเลกันอย่างไร ถ้ามองถึงแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสาย ถัดจากนครสวรรค์มาทางซ้ายน้ำจะไหลไปแม่น้ำท่าจีน ทางขวาก็ออกแม่น้ำป่าสัก ซึ่งรับน้ำมาจากทางน่านด้วย จะเห็นว่าแม่น้ำป่าสักปีนี้น้ำล้น โดยน้ำจะระบายออกทางคลองระพีพัฒน์ ที่ไหลออกได้เต็มที่คือ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเป็นการระบายน้ำได้น้อยมาก เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำที่ไหลมาบรรจบกันในแม่น้ำป่าสัก
ดังนั้นอนาคตต้องมาดูว่า หากมีพายุฝนตกน้ำมากใต้เขื่อนเช่นนี้อีก ก็ต้องมีมาตรการระบายน้ำได้เร็วขึ้น ไม่เช่นนั้นประชาชนที่ อยู่บริเวณภาคกลางแถวอ่างทอง สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา แม้ แต่สระบุรี ที่ปกติน้ำไม่ค่อยท่วมแต่ปีนี้ก็ได้รับผลกระทบจึงอาจจะต้องหาช่องทางช่วยเพิ่มการระบายน้ำออกไปเส้นทางอื่น เช่น คลองระพีพัฒน์ เร่งระบายออกต่อไปคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต เพื่อแก้ปัญหาได้รวดเร็วขึ้น.