เมื่อวันที่ 31 ก.ค. ที่ สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ พร้อมนายสุนทร พยัคฆ์ เลขาธิการฯ นายสัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ ว่าที่ร.ต.สมชาย อามีน ประธานอนุกรรมการสิ่งแวดล้อมฝ่ายคดีและปฏิบัติการ นายปรเมษฐ์ แดนดงยิ่ง รองประธานกรรมการสำนักงานคดีปกครอง ร่วมแถลงผลการตรวจสอบปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ หลังตัวแทน 14 เครือข่ายร้องขอความช่วยเหลือทางกฎหมายและการดำเนินการฟ้องร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายวิเชียร เปิดเผยว่า หลังได้รับหนังสือร้องเรียนจากชาวบ้านใน ต.ยี่สาร และ ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ว่าได้รับความเสียหายจากการระบาดของปลาหมอคางดำที่พบในแหล่งน้ำธรรมชาติ และในพื้นที่บ่อเลี้ยงกุ้งและบ่อเลี้ยงปลา ทางสภาทนายความได้ตั้งคณะร่วมประชุมกับส่วนราชการเพื่อกำหนดวิธีแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน พร้อมกับให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมรวบรวมพยานหลักฐานฟ้องร้องต่อศาลเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายให้แก่ผู้ที่ได้รับอันตรายหรือได้รับความเสียหายตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ซึ่งจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่ามีผู้ประกอบการแห่งหนึ่ง ได้รับอนุญาตให้นำเข้าปลาหมอคางดำจากกรมประมงเพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนาพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของบริษัทผู้ประกอบการแห่งหนึ่งย่าน จ.สมุทรสงคราม ในปี 2553 ก่อนพบการระบาดตั้งแต่ปี 2560 ที่ ต.ยี่สาร และต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา และจากการศึกษาพบว่าสายพันธุ์การระบาดมาจากจุดร่วมสายพันธุ์เดียวกัน
ด้าน นายสมชาย กล่าวว่า การฟ้องร้องคดีเบื้องต้นจะใช้หลักการผู้ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดหรือผู้ก่อให้เกิดมลพิษต้องเป็นผู้จ่ายค่าเสียหาย ซึ่งจะเรียกร้องได้ 3 ประเด็นๆ แรกค่าเสียหายส่วนบุคคลของชาวประมงที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ส่วนที่สองค่าเสียหายที่หน่วยรัฐงานจะต้องเข้าไปแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น กรณีใช้งบประมาณ 450 ล้านบาทที่เป็นงบภาษีประชาชนหน่วยงานรัฐต้องมีหน้าที่เรียกค่าเสียหายขจัดปัญหาจากผู้ก่อให้เกิดมลพิษโดยตรงและประเด็นสุดท้ายเมื่อทรัพยากรธรรมชาติสูญเสียไปหน่วยงานรัฐมีหน้าที่ต้องเรียกค่าใช้จ่ายจากผู้ก่อให้เกิดปัญหา ซึ่งเท่าที่เห็นมี 2 ส่วนที่ต้องเอาผิด คือดำเนินคดีปกครองกับหน่วยงานที่อนุญาตนำปลาหมอคางดำเข้ามาในไทยและละเลยไม่กำกับดูแลชัดเจน และฟ้องแพ่งเอกชนที่นำเข้าจนเกิดการระบาดในไทยและบังเอิญไปเกิดในถิ่นเพาะเลี้ยงของชาวบ้าน และแพร่กระจายตามแหล่งน้ำธรรมชาติ.