ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม 7.2 ล้านตั คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ผ่านกิจกรรมฯ แบ่งเป็น 8 ด้าน 298 กิจกรรม ผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายใน
ปี 2608
“ณัฐพล รังสิตพล” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายโครงการและกิจกรรม งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ของกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในทุกภูมิภาคของโลก ก่อให้เกิดภาวะโลกเดือด เป็นสัญญาณเตือนว่าโลกกำลังเผชิญวิกฤติการณ์เปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง อันมีสาเหตุหลักมาจาก “กิจกรรมของมนุษย์” ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรและพลังงานเพื่อการผลิต การบริโภค การขนส่ง และการประกอบกิจการอุตสาหกรรม ซึ่งตามนโยบายของ “พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล” รมว.อุตสาหกรรม ที่ได้กำหนดทิศทางการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมให้ก้าวไปข้างหน้า เพื่อโลก เพื่อเรา ส่งต่ออุตสาหกรรมสีเขียวจากรุ่นสู่รุ่น และเร่งสร้างการรับรู้ให้ภาคอุตสาหกรรมได้ตระหนักและให้ความสำคัญ ในการลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้ร่วมมือกับ 13 หน่วยงานหลัก จากภาครัฐและภาคเอกชน จัด โครงการอุตสาหกรรมรวมใจ ลดคาร์บอนไทย 7.2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ผ่านการขับเคลื่อนกิจกรรมใน 8 ด้าน จำนวน 298 กิจกรรม ประกอบด้วย ด้านที่ 1 การลด ดูดซับ และการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้และเกษตร 13 กิจกรรม ลดได้ 2.93 ล้านตัน อาทิ กิจกรรมการรณรงค์ลดการเผาอ้อย กิจกรรมการพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่ทำเหมืองแร่ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน และกิจกรรมการปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว ด้านที่ 2 การยกระดับผู้ประกอบการสู่มาตรฐานการลดการปล่อย หรือการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก จำนวน 1 กิจกรรม ลดได้ 2 ล้านตัน อาทิ กิจกรรมการตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบโครงการลดก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐานภายใต้การรับรองระบบงาน
ด้านที่ 3 การใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานที่ใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล จำนวน 209 กิจกรรม ลดได้ 1.14 ล้านตัน อาทิ กิจกรรมผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล และกิจกรรมการนำใบและยอดอ้อยไปใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลในโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ต่อเนื่องจากโรงงานน้ำตาล ด้านที่ 4 การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารและโรงงาน จำนวน 44 กิจกรรม ลดได้ 796,525 ตัน อาทิ กิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และกิจกรรมลดของเสียจากกระบวนการผลิต ด้านที่ 5 การจัดการสารเคมี จำนวน 3 กิจกรรม ลดได้ 200,961 ตัน อาทิ กิจกรรมเผาทำลายสารทำความเย็น
ด้านที่ 6 การส่งเสริมและปรับเปลี่ยนมาตรฐานด้านยานยนต์ จำนวน 5 กิจกรรม ลดได้ 91,873 ตัน อาทิ การควบคุมปริมาณสารมลพิษจากรถยนต์ มาตรฐาน EURO 5 และการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ด้านที่ 7 การบริหารจัดการทรัพยากร (นํ้า/ของเสีย/วัตถุดิบ) จำนวน 10 กิจกรรม อาทิ กิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการกากอุตสาหกรรม และกิจกรรมการส่งเสริมเทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำ ด้านที่ 8 การส่งเสริมการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก จำนวน 13 กิจกรรม ลดได้ 1,586 ตัน อาทิ การส่งเสริมการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก การใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก แทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ในการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคนิคมฯ สมาร์ท ปาร์ค.