เมื่อวันนี้ 24 ก.ค. ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงโครงการตรวจวิเคราะห์แนททู ไดโพลทัยป์ (NAT2) diplotype) ด้วยเทคนิคเรียลไทม์พีซีอาร์ (Real-time PCR) เพื่อใช้ประกอบการปรับระดับยาต้านวัณโรค Isoniazid (ไอโซไนอะซิด) เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 ก.ค. 2567 ว่า ประเทศไทย เป็น 1 ใน 30 ประเทศ ที่มีภาระวัณโรคสูง มีผู้ติดเชื้อรายใหม่และกลับมาเป็นซ้ำกว่า 80,000 คนต่อปี เสียชีวิตประมาณ 7,800 รายต่อปี ทั้งนี้การรักษาจำเป็นต้องได้รับยาต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด แต่ผลข้างเคียงของยาต้านวัณโรคคือทำให้ตับอักเสบ ผู้ป่วยบางรายจึงต้องหยุดยา ทำให้การรักษาไม่มีประสิทธิภาพ กระทรวงสาธารณสุข จึงนำเทคโนโลยีนวัตกรรมการตรวจแนททูฯ มาตรวจหายีนย่อยยาวัณโรคในผู้ป่วย ให้แพทย์มีข้อมูลในปรับใช้ยารักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายต่อไป และจะดำเนินโรงการตรวจผู้ป่วยวัณโรค 10,000 ราย เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 ก.ค. นี้
ปัจจุบันการตรวจนี้ยังไม่ได้อยู่ในสิทธิประโยชน์ แต่ผมในฐานะเป็นประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) จะผลักดันเรื่องนี้ให้เข้าสู่สิทธิประโยชน์ต่อไป เพราะดูแล้วค่าใช้จ่ายไม่สูง และเป็นประโยชน์ นายสมศักดิ์ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลผู้ป่วยวัณโรค ส่วนหนึ่งพบมากในเรือนจำ ก็อยากทำตรงนี้ เพื่อให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้นจากการรักษาที่เหมาะสม
ด้าน นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ในการรักษาผู้ป่วยวัณโรค ต้องกินยาอย่างน้อย 6 เดือน หรือหากมีปัญหาสุขภาพต้องกินนาน 8 เดือน แต่คนไทยครึ่งหนึ่งมีปัญหาในการย่อยยารักษา และสาเหตุที่ตาย ก็เพราะตับอักเสบที่เกิดจากผลข้างเคียงของการกินยารักษา และโรคร่วม นี่ถือเป็นปัญหาสำคัญในการรักษา ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยตกตัวชี้วัดหมด การค้นหาผู้ป่วยก็ยังไม่ได้เป้า การรักษาได้ 80,000 คน แต่องค์การอนามัยโลกบอกว่า ประเทศไทยน่าจะมีมากกว่า 1 แสนคน ส่วนคนที่เข้าสู่การรักษาแล้ว แต่ไม่สามารถกินยาจนครบ 6 เดือน หรือ 8 เดือนได้ เนื่องจากการแพ้ยา และการติดตามผู้ป่วยของไทยยังไม่โอเค ผู้ป่วยหายไประหว่างการรักษา ก็ทำให้เราตกจริง ที่สำคัญ การตายสูงกว่าทุกๆ ประเทศ เพราะสายพันธุ์วัณโรคบ้านเราค่อนข้างรุนแรง ไม่เหมือนสายพันธุ์ยุโรป ที่ไม่รุนแรงและรักษาง่าย ไม่ค่อยระบาด แต่ไทยเชื่อว่ามาจากจีน เชื่อว่ารักษายาก ที่สำคัญคนที่ป่วยจะเป็นแรงงานเดินทางระหว่างประเทศ และการรักษาไม่ต่อเนื่อง ทำให้เสี่ยงวัณโรคดื้อยา
“ยีน NAT2 ในแต่ละคนจะมีหน้าที่ในการย่อยสลายยาต้านวัณโรคไอโซไนอะซิดแตกต่างกัน หากคนย่อยช้าจะมีโอกาสเกิดตับอักเสบสูงกว่าแบบอื่นถึง 8.8 เท่า ซึ่งคนไทย 40% มีการย่อยสลายยาช้า ดังนั้น การตรวจยีน NAT2 จะช่วยให้แพทย์ผู้รักษาสามารถตัดสินใจในการปรับระดับยาไอโซไนอะซิด ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยวัณโรค ทั้งนี้การตรวจจะทราบผลภายใน 5 วัน” นพ.ยงยศ กล่าว
สำหรับโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ ดังกล่าว ด้วยการประยุกต์ใช้นวัตกรรมด้านจีโนมิกส์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการค้นหา รักษา ควบคุม และป้องกันวัณโรค ของประเทศไทย เร่งรัดให้ยุติวัณโรคในทุกเขตสุขภาพ และทำให้โรคนี้หมดไปจากประเทศไทย โดยหน่วยบริการสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชน สามารถส่งตัวอย่างเลือดผู้ป่วยวัณโรค ตรวจ NAT2 diplotype โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้ที่สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่ง ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค. 2567 ถึงวันที่ 27 ก.ค. 2568 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 0-2951-0000 ต่อ 98095 หรือ 98096