สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ว่า รายงาน ‘แนวโน้มประชากรโลกปี 2024’ ระบุว่า จำนวนประชากรในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ราว 8,200 ล้านคน จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดคือ 10,300 ล้านคน ภายในอีก 60 ปีข้างหน้า

หลังจากนั้น ประชากรจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ลงมาอยู่ที่ราว 10,200 ล้านคนภายในสิ้นศตวรรษนี้ แต่ขนาดประชากรโลกในปี 2643 จะลดลงร้อยละ 6 หรือน้อยกว่า 700 ล้านคน จากที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือน มิ.ย. 2556 “ภาพรวมประชากรมีการพัฒนาอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา” นายหลี่ จุนหัว รองเลขาธิการสหประชาชาติด้านกิจการเศรษฐกิจและสังคม กล่าว

ทั้งนี้ จำนวนประชากรสูงสุดที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ซึ่งรวมถึงระดับภาวะเจริญพันธุ์ซึ่งลดลง ในประเทศใหญ่ที่สุดในโลกบางประเทศ โดยเฉพาะจีน ซึ่งเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คำนวณไว้ก่อนหน้านี้ และเป็นสัญญาณที่น่าผิดหวัง

“อย่างไรก็ตาม การเติบโตของประชากรที่ช้าลงนั้น ไม่ได้ลดผลกระทบโดยเฉลี่ย ซึ่งเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์แต่ละคน” หลี่กล่าว โดยมากกว่า 1 ใน 4 หรือร้อยละ 28 ของประชากรโลก อาศัยอยู่ในหนึ่งใน 63 ประเทศ หรือพื้นที่ซึ่งมีประชากรถึงจุดสูงสุดแล้ว อาทิ จีน, รัสเซีย, ญี่ปุ่น และเยอรมนี ขณะที่อีกเกือบ 50 ประเทศ จะเข้าสู่สถานะดังกล่าวในอีก 40 ปีข้างหน้า รวมไปถึงบราซิล, อิหร่าน และตุรกี

อย่างไรก็ดี การเติบโตของประชากรจะยังคงดำเนินต่อไปลังจากปี 2597 ในมากกว่า 120 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ในอินเดีย, อินโดนีเซีย, ไนจีเรีย, ปากีสถาน และสหรัฐ ซึ่งการเพิ่มขึ้นของอายุขัยทั่วโลก ที่เคยถูกหยุดไว้จากการระบาดของโรคโควิด-19 จะกลับมาอีกครั้ง ส่งผลให้ประชากรที่มีอายุยืนยาวเฉลี่ย 73.3 ปีในปี 2567 จะมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นที่ 77.4 ปีในปี 2597

มากไปกว่านั้น ประชากรโลกจะมีอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยในช่วงปี 2613 จำนวนผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป คาดว่าจะอยู่ที่ 2,200 ล้านคน ซึ่งมากกว่าผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES