ทำให้เมื่อขอกู้เงินกับสถาบันการเงินในระบบมีความยากลำบาก อาจไม่ปล่อยกู้เพราะไม่มีเครดิต มีความเสี่ยงสูง หรือความสามารถในการที่จะชำระหนี้ไม่เพียงพอต่อการจ่ายหนี้คืน จึงได้ถูกปฏิเสธสินเชื่อในที่สุด
เกิดธนาคารไร้สาขา
การเข้ามาของธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา หรือเวอร์ชวลแบงก์ ที่ทางกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประกาศหลักเกณฑ์การจัดตั้งเวอร์ชวลแบงก์ออกมา ทำให้คนไทยดูมีความหวังมากขึ้น ไม่ต้องไปพึ่งพาหนี้นอกระบบให้ปวดหัว ทั้งถูกทวงหนี้โหด และดอกเบี้ยสูงที่หลายคนต้องจ่ายมานาน แต่เงินต้นไม่ลดเสียที ทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมาอีกมาก
ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา หรือเวอร์ชวลแบงก์ คือ ธนาคารที่ไม่มีสาขา ดำเนินธุรกิจผ่านดิจิทัลออนไลน์ 100% อาจให้บริการด้วยโมบายแอปพลิเคชัน ซึ่งเวอร์ชวลแบงก์มีรูปแบบเหมือนกับธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิมทั่วไป ทั้งเปิดรับฝากเงิน และการให้สินเชื่อ โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของทางแบงก์ชาติ แต่ข้อแตกต่างคือ เวอร์ชวลแบงก์ไม่มีสาขา ลูกค้าคนใช้บริการจะไม่ได้พบเจอหน้าเจ้าหน้าที่ธนาคาร
ช่วยคนไทยเข้าถึง
การให้ใบอนุญาตจัดตั้งเวอร์ชวลแบงก์ จะไม่จำกัดจำนวน จากเดิมทีจะให้แค่ 3 รายเท่านั้น เนื่องจากกระทรวงการคลังมองว่าอยากให้เกิดการแข่งขันขึ้นเพื่อส่งผลดีต่อคนไทย และเพื่อให้คนไทย รวมทั้งธุรกิจรายเล็กได้มีแหล่งเงินทุนที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าธนาคารทั่ว ๆ ไป โดยมีเงื่อนไข คือ ต้องตั้งสำนักงานใหญ่ในไทย และมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท ในระยะแรก และไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท ในระยะปกติ สามารถเป็นบริษัทร่วมทุน เพื่อผสานความเชี่ยวชาญเฉพาะ โดยจุดประสงค์หลักคือช่วยคนไทย 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้ไม่มีรายได้ประจำ และเอสเอ็มอี 2.กลุ่มที่ไม่ได้รับบริการการเงินอย่างเพียงพอ 3.กลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน และ 4.กลุ่มเข้าไม่ถึงสินเชื่อและกลุ่มเป็นหนี้นอกระบบ โดยเวอร์ชวลแบงก์อยู่ภายใต้การคุ้มครองของสถาบันคุ้มครองเงินฝากและ ธนาคารไร้สาขาจะไม่ใช้ระบบเงินฝาก ระบบสินเชื่อร่วมกับสถาบันการเงินอื่นทั้งในและต่างประเทศ
เปิดคุณสมบัติ 7 ข้อ
“แบงก์ชาติ” ได้เปิดเกณฑ์คุณสมบัติของผู้ที่สมควรได้รับใบอนุญาตเวอร์ชวลแบงก์ 7 ข้อสำคัญ คือ 1.ประสบการณ์ทรัพยากร และความสามารถในการดำเนินธุรกิจเวอร์ชวลแบงก์ โดยนำเสนอบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการแต่ละกลุ่มได้ดียิ่งขึ้น 2.ธรรมาภิบาลและความสามารถของผู้ขออนุญาตและผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญในเวอร์ชวลแบงก์ 3.ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และความสามารถในการประกอบธุรกิจที่มีการใช้เทคโนโลยีและให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล 4.ความสามารถในการใช้ และบริหารจัดการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ยืดหยุ่น มั่นคง ปลอดภัย และสามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการพัฒนาบริการทางการเงินที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ หรือความต้องการของผู้ใช้บริการได้อย่างสะดวกคล่องตัว
5.ประสบการณ์และความสามารถในการได้มา เข้าถึง บริหารจัดการ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่หลากหลาย รวมถึงการพัฒนาระบบหรือส่วนเชื่อมต่อข้อมูลเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการให้สามารถนำข้อมูลของตนไปใช้ในการทำธุรกรรมกับผู้ให้บริการรายอื่นภายใต้สิทธิตามกฎหมาย 6.ความสามารถในการบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวกับธุรกิจการเงิน และ 7.ความสามารถในการสนับสนุนทางการเงินอย่างเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจเวอร์ชวลแบงก์อย่างต่อเนื่องของผู้ถือหุ้นสำคัญ
ไทม์ไลน์การจัดตั้ง
“แบงก์ชาติ” เตรียมเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมรับฟังหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และรายละเอียดต่าง ๆ ในวันที่ 19 มี.ค.67 ก่อนที่ในวันที่ 20 มี.ค.67 จะเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารไร้สาขา ซึ่งจะเปิดรับสมัครจนถึงวันที่ 19 ก.ย.67 หลังจากนั้น แบงก์ชาติและกระทรวงการคลังจะคัดเลือกผู้ที่เหมาะสม พร้อมประกาศรายชื่อที่ได้รับการคัดเลือกภายในเดือน มิ.ย.68 และภายในเดือน มิ.ย.69 จะเริ่มให้บริการธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา หรือเวอร์ชวลแบงก์
เวอร์ชวลแบงก์ใน ตปท.
ตัวอย่าง ธนาคารไร้สาขาในต่างประเทศ อย่างประเทศมหาอำนาจทางเทคโนโลยี ประเทศจีน ที่มีธนาคารวีแบงก์ ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาของกลุ่มเทนเซนต์ ผู้ให้บริการวีแชต แอปพลิเคชันส่งข้อความอันดับหนึ่งของจีน โดยปัจจุบันวีแบงก์สามารถขยายฐานลูกค้าได้กว่า 100 ล้านคน นับตั้งแต่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารเต็มรูปแบบในปี 57
ลิฟวี่ ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาจาก ฮ่องกง ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างแบงก์ ออฟ ไชน่า, เจดี ดิจิทส์ บริษัทที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีทางการเงิน และ จาร์แด็งส์ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่มี 7-11 ฮ่องกงเป็นกิจการในเครือ หรือจะเป็น ม็อกซ์ ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาของธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ซึ่งร่วมเป็นพันธมิตรกับเอชเค เทเลคอม, พีซีซีดับบลิว ผู้ให้บริการด้านไอที และซีทริป ฮ่องกงแพลตฟอร์มจองตั๋วเครื่องบินและโรงแรม
นอกจากนี้ใน ประเทศเกาหลี มีเวอร์ชวลแบงก์ชื่อดังอย่าง คาเคาแบงก์ ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ โดยมีจำนวนลูกค้ากว่า 12.5 ล้านคน เมื่อปี 63 และมีผู้ใช้งานถึง 11 ล้านคนต่อเดือน สาเหตุสำคัญที่ทำให้คาเคาแบงก์ประสบความสำเร็จ คือ การมีฐานลูกค้าเดิมที่ต่อยอดมาจากคาเคาทอล์ก แชตแอปพลิเคชันที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในเกาหลีใต้ การนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย และการออกแบบหน้าตาที่น่าดึงดูดและใช้งานง่าย
ด้านทางฝั่งยุโรป สหราชอาณาจักร เช่น สตาร์ลิ่ง แบงก์ ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาแห่งแรกของสหราชอาณาจักรที่ให้บริการทางการเงินแก่ธุรกิจขนาดเล็กและประชาชนทั่วไป หรือมอนโซ่ ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาที่เน้นให้บริการทางการเงินเพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ เป็นต้น
รวมกลุ่มจัดตั้งในไทย
ส่วนในประเทศไทย ตามที่มีกระแสข่าวออกมาเป็นการรวมกลุ่มจากหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแรก คือ ธนาคารกรุงไทย, บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส, บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ และ บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก กลุ่มที่ 2 นำโดย บมจ.เอสซีบี เอกซ์ ประกาศจับมือกับคาเคาแบงก์ จากเกาหลีใต้
ส่วนกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มซีพี ที่มีทรู และแอสเซนด์ มันนี่มีแอปพลิเคชันอย่างทรูมันนี่ เชื่อมโยงเครือข่ายไปทั่ว อย่างเซเว่น-อีเลฟเว่น อาจมาพร้อมกับพันธมิตรแอนท์ ไฟแนนเชี่ยล เซอร์วิส กรุ๊ป ในเครืออาลิบาบา กรุ๊ป และกลุ่มที่ 4 กลุ่มเจมาร์ท อาจร่วมกับเคบี ไฟแนนเชี่ยล กรุ๊ป จากเกาหลีใต้
พิสูจน์ความเชื่อมั่น
เห็นได้ว่าผู้สนใจยังเป็นบริษัทเทคโนโลยีและสถาบันการเงิน รวมกลุ่มร่วมมือกัน เพื่อจัดตั้งธนาคารไร้สาขา ซึ่งเป็นผู้ที่มีศักยภาพในการเปิดธุรกิจเวอร์ชวลแบงก์แทบทั้งสิ้น แต่รายเล็กรายน้อยที่สนใจจะมีความสามารถและศักยภาพเพียงพอที่จะให้เกิดการแข่งขันกับรายใหญ่ได้หรือไม่ และที่สำคัญประชาชนจะได้ประโยชน์จากการแข่งขัน หรือจะเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากน้อยแค่ไหน ยังต้องติดตามเพราะเวอร์ชวลแบงก์ไม่ง่ายที่จะทำให้คนไทยเชื่อมั่น
ความเชื่อมั่นของคนไทยเป็นสิ่งสำคัญ จุดที่น่าสนใจ คือ เวอร์ชวลแบงก์ ให้บริการผ่านดิจิทัล 100% ไม่ได้พบเจอะเจอเจ้าหน้าที่แม้แต่คนเดียว แล้วคนไทยจะเชื่อมั่นไว้ใจได้หรือไม่ว่า เงินของเราจะยังอยู่ดี ปลอดภัย เพราะขนาดธุรกิจธนาคารดั้งเดิมทุกวันนี้มีทั้งสาขาและทั้งคน ก็มีข่าวเงินหายไม่เว้นแต่ละวัน!!!.
ช่วยเพิ่มทางเลือก ปชช.
“พรชัย ฐีระเวช” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และโฆษกกระทรวงการคลัง บอกว่า การจัดตั้งเวอร์ชวลแบงก์ ทางแบงก์ชาติและกระทรวงการคลัง จะร่วมกันพิจารณาคำขออนุญาตจัดตั้งภายใน 9 เดือนนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาการยื่นคำขอ และเมื่อได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว ผู้ขออนุญาตต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ เช่น ความมั่นคง การบริหารความเสี่ยง เป็นต้น และเริ่มดำเนินธุรกิจภายใน 1 ปี โดยเวอร์ชวลแบงก์ไม่ได้กำหนดจำนวนใบอนุญาตไว้แต่อย่างใด ซึ่ง ธปท. จะพิจารณาใบอนุญาตเวอร์ชวลแบงก์ในจำนวนที่เหมาะสมกับระบบสถาบันการเงินในไทย เพื่อให้อยู่ในระดับที่จะกระตุ้นการแข่งขัน เป็นประโยชน์ต่อผู้ฝากเงิน ผู้ใช้บริการ และระบบเศรษฐกิจการเงินไทย และไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศ
“การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเวอร์ชวลแบงก์ สอดคล้องกับนโยบายและวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการส่งเสริมดิจิทัลอีโคโนมีและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระบบการเงินเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นไฟแนนเชียลเซ็นเตอร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนในอัตราที่เหมาะสม หวังว่าเวอร์ชวลแบงก์จะเพิ่มทางเลือกให้แก่ประชาชน”
มั่นใจกระตุ้นการแข่งขัน
“วิภาวิน พรหมบุญ” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สิ่งที่ ธปท. อยากเห็น คือ บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ มีบริการทางการเงินที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม สร้างประสบการณ์ใช้บริการทางการเงินดิจิทัลที่ดีให้กับลูกค้า และกระตุ้นการแข่งขันในระบบสถาบันการเงินอย่างเหมาะสม ขณะที่สิ่งที่ไม่อยากเห็น คือ เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อผู้ฝากเงิน และผู้ใช้บริการในวงกว้าง เช่น การประกอบธุรกิจในรูปแบบที่ไม่ยั่งยืน เกิดการแข่งขันในระบบการเงินอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน รวมถึงการเอื้อประโยชน์แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง และใช้อำนาจตลาดอย่างไม่เหมาะสม โดยเวอร์ชวลแบงก์ครั้งนี้น่าจะตอบโจทย์การแข่งขันได้ดี
“ธปท.จะคำนึงถึงการมีธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดูคนที่เข้ามา ก็ต้องเป็นคนที่มีคุณภาพที่ดี ในจำนวนที่เหมาะสม ซึ่งจำนวนที่เหมาะสม ธปท.มองว่าประมาณ 3 ราย เมื่อเข้ามาแล้วมากระตุ้นการแข่งขันที่เหมาะสม และกำกับดูแลความเสี่ยงให้ประชาชน และเกิดประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนไม่อยากเห็นว่ามาแล้วปิดลงไป หรือเข้ามาแล้วไม่สามารถดูแลความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะกระทบกับผู้ใช้บริการ”
แบงก์ต้องเตรียมรับมือ
“กอบศักดิ์ ดวงดี” เลขาธิการ สมาคมธนาคารไทย กล่าวถึงการจัดตั้งเวอร์ชวลแบงก์ ว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หารือกับธนาคารพาณิชย์ก่อนแล้ว จึงมองว่า เรื่องนี้ไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้กับภาคธนาคารขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีนโยบายที่เปิดกว้าง สำหรับตัวเวอร์ชวลแบงก์ ดังนั้นภาคธนาคาร จะต้องเตรียมการในการรับมือที่จะมีธนาคารเพิ่มมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้มีการพูดคุยกับธนาคารด้วยมาก่อนแล้ว ไม่ได้เซอร์ไพร้ส์ในภาคธนาคาร และคิดว่าเรื่องนี้ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้วและทางธปท.เองก็มีนโยบายเปิดกว้าง ซึ่งเป็นไปตามนั้น ในส่วนภาคธนาคาร สถาบันการเงิน คงต้องเตรียมการในการรับมือในการมีแบงก์มากขึ้น กับพวกเวอร์ชวลแบงก์ทั้งหลายด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม นโยบายของการตั้งเวอร์ชวลแบงก์เป็นนโยบายของภาครัฐ ที่ต้องการเปิดกว้างในเรื่องของการแข่งขันมากขึ้น เพื่อให้เกิดการบริการลูกค้าที่ดีมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาภาครัฐมองว่า ภาคธนาคารปัจจุบันยังตอบโจทย์ได้ไม่ดีนัก ซึ่งภาคธนาคารเองคิดว่า ธนาคารเองคงสามารถดูแลลูกค้าต่าง ๆ ได้ รวมถึงการแข่งขันได้ด้วย อย่างที่บอกว่าไม่ใช่เรื่องแปลกใจอะไร แต่เรื่องนี้จะสนับสนุนการเปิดกว้างในการประกอบธุรกิจให้ธุรกิจอื่นที่มีความสนใจเข้าร่วมสมัครได้ ขณะที่ภาคธนาคารจะมีการเตรียมการและรับมือในการดูแลธุรกิจสถาบันการเงินให้มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีเวอร์ชวลแบงก์เข้ามาทำธุรกิจ.
ทีมเศรษฐกิจ