แม้เทคโนโลยีนี้ “มีข้อดี-มีประโยชน์” มากมาย หากแต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่เริ่มตระหนักถึง “ปัญหา-พิษภัยที่อาจจะเกิดได้จากยุค AI” และก็ถึงขั้นมีแนวคิดออก “กฎหมายควบคุม AI” ฉบับแรกของโลกแล้ว โดยเมื่อเดือน ธ.ค. 2566 ทางสหภาพยุโรปได้ข้อสรุปการร่าง “กฎหมายปัญญาประดิษฐ์” หรือ “กฎหมาย AI” เพื่อ “ควบคุมการใช้งาน AI”…

กรณีนี้ก็สะท้อนถึง “ความตื่นตัว”

การ “ไม่ประมาทผลลบจากยุค AI”

ที่ “อาจมีเรื่องร้ายเกิดได้” เช่นกัน!!

ทั้งนี้ “เทคโนโลยี AI” หรือ “เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์” ซึ่งเป็น “เทคโนโลยียุคใหม่” ที่มีบทบาทในแวดวงต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น รวมถึง “เข้ามาอยู่ในชีวิตผู้คน” เพิ่มขึ้น…แทบจะตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับ “มิติทางเศรษฐกิจ” และ “มิติทางสังคม” นั้น… การที่ “AI มีบทบาทมากขึ้น” กรณีนี้…สำหรับประเทศไทย สำหรับคนไทย ก็ควรต้องเรียนรู้ให้เท่าทัน เพื่อการ “ใช้ประโยชน์” และขณะเดียวกันก็ “ไม่ควรประมาท” ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ทาง ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล ผู้อำนวยการหลักสูตร aMBA (Analyst MBA) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ก็ได้สะท้อนมุมมองผ่านทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาน่าสนใจ…

ชี้ถึง “ประโยชน์” กับ “ข้อควรระวัง”

ในการ “ใช้เทคโนโลยี AI” ไฮเทคที่ล้ำ

หลักใหญ่ใจความนั้น… ทาง ดร.ภูษิต ได้สะท้อนมาว่า… ในยุคปัจจุบันมนุษย์เราคงปฏิเสธเทคโนโลยี AI ไม่ได้ ซึ่งก็เป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ สามารถช่วยให้มนุษย์ทำงานได้มากขึ้น แต่ทั้งนี้…ก็คงจะต้องขึ้นอยู่กับบริบทในการนำ AI มาใช้งาน รวมถึงขึ้นอยู่กับเป้าหมายของมนุษย์เป็นสำคัญ ที่จะใช้งานเทคโนโลยี AI ในทางที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง??

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะพิจารณา “ข้อดี” ของ “เทคโนโลยี AI” โดยเฉพาะ “มิติด้านเศรษฐกิจ” ทาง ดร.ภูษิต บอกว่า… ก็เห็นถึงประโยชน์ในหลากหลายเรื่อง ซึ่งหากจะแบ่งข้อดีกว้าง ๆ ของเทคโนโลยีดังกล่าวนี้ ก็พบประโยชน์ดังต่อไปนี้คือ…

ข้อแรกที่เห็นชัดเจนที่สุด…คือการ “ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน” อาทิ การใช้ AI มาช่วยประมวลผลข้อมูลที่มีจำนวนมาก หรืออาจจะเป็นชุดข้อมูลที่มีความซับซ้อน ซึ่งเทคโนโลยีนี้ช่วยให้มนุษย์ทราบคำตอบจากชุดข้อมูลที่มากมายและซับซ้อนได้ในเวลาที่รวดเร็ว ทั้งยัง ลดปัญหาความผิดพลาดในการทำงานของมนุษย์ ลงไปได้มาก ทำให้เกิดความแม่นยำในการทำงานมากขึ้น เช่น การใช้ระบบ AI ให้ช่วยวิเคราะห์ความเสี่ยงของธุรกิจ หรือแม้แต่การใช้หุ่นยนต์ AI ช่วยผ่าตัดรักษาโรค จึงอาจพูดได้ว่า AI นับเป็นเครื่องมือที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจ ที่ถูกนำมาใช้เพื่อ “เพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจ”

มีการนำมาใช้ “เติมเต็มช่องว่าง”…

ในบางด้าน “ที่มนุษย์ทำได้น้อยกว่า”

“ยกตัวอย่างกับตัวผมเอง สมัยก่อนที่ต้องทำวิจัยนั้น ผมจะต้องใช้เวลานาน แต่ปัจจุบันเมื่อเอา AI มาช่วย ทำให้ประมวลผลและทำงานได้ไวขึ้น สะท้อนว่า…AI นอกจากจะใช้งานได้หลากหลายแล้ว งานบางอย่างที่ในอดีตต้องใช้คนมาช่วยทำเยอะ ๆ แต่วันนี้งานเหล่านี้คนเดียวก็ทำได้” …ดร.ภูษิต ระบุถึง “ประโยชน์ AI” จากประสบการณ์ตรง

ข้อดีประการต่อมา…ดร.ภูษิต มองว่า… คือ “ช่วยสร้างอาชีพใหม่ ๆ” โดยปัจจุบันนี้การออกแบบด้วยระบบ AI เป็นช่องทางสร้างรายได้ ทำให้ เกิดธุรกิจใหม่ ๆ ขึ้นมา และจากการที่เทคโนโลยีนี้สามารถประมวลผลชุดข้อมูลขนาดใหญ่ในเวลาที่รวดเร็ว แถมมีความแม่นยำสูง ทำให้มีการนำเทคโนโลยี AI นี้ไปบรรจุอยู่ในอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ผู้คนใช้งานในชีวิตประจำวันมากขึ้น เช่น ในสมาร์ตโฟน ในรถยนต์ นอกจากนั้น จากการที่ AI ทำงานได้ 24 ชั่วโมง จึงถูกออกแบบให้ทำหน้าที่ เป็น “คอลเซ็นเตอร์” ในการตอบโต้-ให้ข้อมูลกับมนุษย์ ซึ่งทำให้หลายธุรกิจทำงานได้มากขึ้น และสามารถสร้างรายได้ตลอดเวลา

ขณะที่ข้อดีอีกหนึ่งเรื่องที่เห็นได้ชัดเจนในขณะนี้ก็คือ…ใช้ระบบ AI “ทำงานอันตรายแทนมนุษย์” เช่น การทำงานในสภาวะแวดล้อมที่อันตราย หรือที่เสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น ในโรงงานที่มีการปล่อยสารเคมีหรือสารพิษ การสำรวจอวกาศ แม้แต่ภารกิจเสี่ยงตายอย่างการกู้ระเบิด ปัจจุบันนี้ก็มีการใช้งานหุ่นยนต์ที่ติดตั้งเทคโนโลยี AI ให้ทำหน้าที่เสี่ยงตายแทนมนุษย์…

“เทคโนโลยี AI นี้ ช่วยได้แน่นอนในการทำให้เศรษฐกิจ และธุรกิจต่าง ๆ เติบโตขยายตัว เช่น นำมาใช้เพื่อพัฒนาแผนธุรกิจ นำมาใช้เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานสำคัญให้มองเห็นภาพอนาคต ที่เป็นผลดีต่อการกำหนดกลยุทธ์ และวางแผนนโยบาย ซึ่งส่วนตัวย้ำว่า…ขึ้นกับเป้าหมายของผู้ใช้งานเทคโนโลยีนี้”…ทาง ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล ระบุย้ำกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” เกี่ยวกับการใช้งาน เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ “AI” …ซึ่งประเด็น “เป้าหมายในการนำ AI มาใช้” ก็เป็นสิ่งที่ “ไม่ควรมองข้าม” เพราะเกี่ยวโดยตรงกับการที่ “แทนที่จะเป็นคุณ…ก็อาจจะเป็นโทษได้!!”…

“AI” นั้น “อาจจะส่งผลเสีย” ได้เช่นไร?

อะไรที่ “อาจมีผลกระทบ” กับมนุษย์?

ตอนหน้ามาดู “มุมวิเคราะห์” กันต่อ…