โดยหลังเป็นประเด็นก็มีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และด้านสัตว์ป่า ให้วิสัชนากันแล้ว อย่างไรก็ตาม หากจะโฟกัสที่ “สัตว์ป่า-สัตว์แปลก” ในแง่ของคำจำกัดความ แม้ทั้ง 2 คำจะต่างกัน แต่ก็มีหลายคนที่…

ยัง “มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน”…

เมื่อเกิดกรณีเกี่ยวกับ “สัตว์ป่า” ขึ้น…

“สัตว์แปลก” ก็มักจะ “ถูกเหมารวม!!”

ทั้งนี้ เพื่อที่จะทำให้สังคมเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นนี้ ทาง สุทธิลักษณ์ นากผสม นายก สมาคมผู้นิยมสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ (Thailand Exotic Pet Keepers Association) ได้สะท้อนข้อมูลผ่านทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาว่า… สำหรับสัตว์ที่มีการเลี้ยงในประเทศไทยนั้น จะมีการระบุไว้กว้าง ๆ เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่… กลุ่มแรก สัตว์ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศ ทั้งที่เป็นสัตว์ซึ่งอยู่ในบัญชีรายชื่อ และสัตว์ที่ถูกควบคุม ภายใต้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ส่วนอีกกลุ่มคือ สัตว์แปลก หรือ เอ็กโซติกเพ็ท (Exotic Pet) สัตว์ควบคุม ที่เป็น สัตว์นำเข้ามาจากต่างประเทศ ไม่ได้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในไทย

ส่วน “คำจำกัดความ” ของ “สัตว์แปลก” หรือ “Exotic Pet” นั้น ทางนายกสมาคมผู้นิยมสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ ได้อธิบายว่า… หากเป็นภาษาทางการ ซึ่งปรากฏอยู่ในกฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า กลุ่มของสัตว์ชนิดดังกล่าวนี้จะใช้คำว่า “สัตว์ป่าควบคุม” ขณะที่คำจำกัดความแบบไม่เป็นทางการเรียกว่า “สัตว์เลี้ยงทางเลือกทดแทนสัตว์ป่า” แต่ภาษาทั่ว ๆ ไปที่คนทั่วไปนิยมนำมาใช้เรียกกันสั้น ๆ เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ก็คือคำว่า “สัตว์แปลก” นั่นเอง อย่างไรก็ดี แต่คำที่เหมาะสมที่สุดนั้น น่าจะเป็นคำว่า… “สัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ” หรือน่าจะเป็นคำว่า “สัตว์เอ็กโซติกเพ็ท” ที่มีการบรรจุไว้ในตำราสัตวแพทย์ โดยจะหมายความถึง… สัตว์เลี้ยงชนิดใดก็ได้ที่ไม่ใช่สุนัขและแมว ซึ่งจะถือว่าเป็นสัตว์เลี้ยงที่เป็นสัตว์แปลกทั้งหมด

“แปลกในที่นี้คือ… แปลกเนื่องจากเป็นสัตว์ที่ไม่ค่อยเจอ เป็นชนิดพันธุ์หายาก หรือแปลกจากความผิดปกติของยีนและเม็ดสี รวมถึงแปลกจากความพิการ”…นายกสมาคมผู้นิยม Exotic Pet ระบุ พร้อมพูดถึง “ตลาด Exotic Pet ในประเทศไทย” ว่า… การเลี้ยงสัตว์แปลกในไทยเริ่มเกิดขึ้นมาเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ยังเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ก่อนสมาคมฯ ก่อตั้ง ผู้เลี้ยงน่าจะมีอยู่ราว ๆ 30,000 คน แต่ปัจจุบันคาดว่าตัวเลขผู้เลี้ยง Exotic Pet น่าจะมีอยู่เกือบ 100,000 คนแล้ว

สำหรับ “ปัจจัย” หนุนตลาดผู้เลี้ยงสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ หรือทำให้ ตลาด Exotic Pet เติบโต ทางนายกสมาคมฯ คนเดิม สะท้อนกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ว่า… น่าจะเป็นเพราะตรงกับไลฟ์สไตล์คนปัจจุบันที่อาศัยในอพาร์ตเมนต์ คอนโดมิเนียม ที่อาจเลี้ยงสุนัขหรือแมวไม่ได้ จึงหันมาเลี้ยงสัตว์แปลก ๆ ที่ตัวเล็ก เลี้ยงง่าย ที่มีสีสันสวยงาม ไม่ส่งเสียงดัง ไม่ส่งกลิ่นเหม็น …ทาง สุทธิลักษณ์ ระบุถึงปัจจัยที่ทำให้ผู้เลี้ยง Exotic Pet ในประเทศไทยเพิ่มจากหลักหมื่นเป็นหลักแสนในยุคปัจจุบัน

ในขณะที่ การจำแนกกลุ่มสัตว์แปลก นั้น นายกสมาคมผู้นิยมสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ ระบุว่า… แบ่งเป็น 5 กลุ่มหลัก ดังนี้… 1.กลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน 2.กลุ่มสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 3.กลุ่มสัตว์ปีก 4.กลุ่มสัตว์น้ำ 5.กลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม …นี่เป็นชนิดของกลุ่มสัตว์แปลก หรือ Exotic Pet ที่พบได้ในกลุ่มผู้เลี้ยงในประเทศไทย โดยการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษนั้น ทางนายกสมาคมฯ คนเดิม ระบุย้ำว่า… “ต้องขึ้นทะเบียน และต้องดูแลอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยง เพาะ ค้า…ทั้งในและต่างประเทศ” โดยทุกขั้นตอนจะอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมอุทยานฯ กรมประมง กรมปศุสัตว์ ฯลฯ ซึ่งผู้เลี้ยงสัตว์ชนิดพิเศษนั้นจะต้องศึกษาทำความเข้าใจกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ดี ๆ

ทั้งนี้ ในส่วนของสมาคม Exotic Pet สุทธิลักษณ์ บอกว่า… จะเป็นตัวกลางคอยช่วยดูแลสมาชิกให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ช่วยทำความเข้าใจกับสังคม ให้ความรู้ที่ถูกต้อง ตลอดจนคอยสอดส่องดูแลไม่ให้เกิดปัญหาขึ้น ซึ่งที่ผ่าน ๆ มาก็ได้พยายามประชาสัมพันธ์
ให้ทุก ๆ คนที่เลี้ยง Exotic Pet จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบโดยเคร่งครัด รวมถึงเน้นย้ำ “หัวใจสำคัญ” ว่า… “ผู้เลี้ยงสัตว์แปลกจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม…ไม่ทำให้สังคม ผู้อื่น เดือดร้อนรำคาญ”

นายกสมาคมผู้เลี้ยงสัตว์ชนิดพิเศษ ระบุอีกว่า… ดราม่าที่เกิดบ่อย ๆ ส่วนใหญ่จะเพราะไม่ทำความเข้าใจกฎหมาย ทำให้เกิดความผิดพลาดกระทบต่อสังคม ส่วนกรณีนำ “เอเลี่ยนสปีชีส์” หรือ “สัตว์ต่างถิ่น” ไปปล่อย นำไป “ปล่อยทิ้งในแหล่งธรรมชาติ” ก็ต้องย้ำว่า… “มีความผิดทางกฎหมาย!!” ดังนั้น สมาคมฯ จึงย้ำเสมอว่า… ผู้เลี้ยงต้องมีความรับผิดชอบ ซึ่งที่ผ่านมาสมาคมฯ ก็ได้ร่วมมือกับกลุ่มผู้เลี้ยง Exotic Pet ตั้งกลุ่มขึ้นในโซเชียล เพื่อเป็น “พื้นที่กลาง” สำหรับ “รับดูแลต่อ” จากผู้ที่อาจจะอยากเลิกเลี้ยง เพื่อป้องกันปัญหาและดราม่าที่จะเกิดตามมา ป้องกันไม่ให้เกิดทัศนคติเชิงลบต่อผู้ที่เลี้ยงสัตว์แปลก

“ทางสมาคมฯ ได้จัดตั้งกลุ่มเพื่อเป็นสื่อกลางรับสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษมาดูแลต่อ กรณีที่เลี้ยงไม่ไหว หรืออยากเลิกเลี้ยง เพื่อไม่ให้แอบนำไปปล่อยในแหล่งธรรมชาติ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางเพื่อช่วยลดปัญหา และป้องกันปัญหาให้สังคม” …สุทธิลักษณ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสัตว์ชนิดพิเศษ หรือ Exotic Pet ทิ้งท้ายกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้…

กรณีป้องกันการเกิดปัญหาจากเรื่องนี้

ให้สังคมเข้าใจเรื่อง “สัตว์ชนิดพิเศษ”

ที่ “ไม่ใช่สัตว์ป่า” ดังที่มีข่าวอื้ออึง!!.