‘ไม่มีการส่งสัญญาณเตือนใด ๆ’ ให้รู้ตัว

เมื่อมีอาการปวดศีรษะรุนแรง… “ซ้อหมวย” จึงนอนพักโดยหวังจะให้ความปวดทุเลาลง แต่ผ่านไปเป็นชั่วโมงแล้วก็ยังคงปวดรุนแรงอยู่เหมือนเดิม โดยเจ้าตัวได้ลำดับความให้ทีมงาน “อุ่นใจ…ใกล้หมอ” ฟังดังนี้…

“อุ่นใจ…ใกล้หมอ” สัมภาษณ์ “คุณศุจิรัตน์ จีนานนท์” 

“…เพิ่งเสร็จจากอาบน้ำและกำลังเดินออกมาค่ะ เดิน ๆ มาก็เหมือนมีระเบิดแบบลูกน้อย ๆ แตกดังปุ๊ รู้สึกได้เลย แล้วก็ปวดหัว…ปวดอย่างเดียว…ปวดแบบบรรยายไม่ถูก ก็เลยนอน นอนไปเป็นชั่วโมงแล้วก็ลุกขึ้นไม่ไหว มีคลื่นไส้อาเจียนอีกด้วย ลูกก็เลยพาส่งโรงพยาบาล…หมอก็ให้นอน…นอนอย่างเดียว…หาสาเหตุไม่เจอทั้ง ๆ ที่เจาะเลือด เจาะจนแขนพรุนหมด ก็หาสาเหตุไม่ได้ อยู่ตั้งแต่บ่าย 3 ยัน 1 ทุ่มจึงให้กลับโดยได้ฉีดยาแก้ปวดเข็มหนึ่งจึงพอค่อยยังชั่ว แต่พอถึงกลางคืนก็ปวดไปถึงเช้า ปวดจนต้องไปคลินิก หมอก็ให้ยามาและแนะนำให้ไปหาหมอที่รักษาเรื่องสมอง ก็กลับไปโรงพยาบาล ไปหาหมอตามที่ได้รับคำแนะนำ จึงได้เข้า MRI ก็เลยรู้ว่า เส้นเลือดสมองแตก… หมอก็เลยเขียนใบส่งตัวให้ไป โรงพยาบาลธนบุรี และกำชับว่าช้าไม่ได้ ก็ไปกันตอนนั้นเลย ไปถึงก็บ่ายแล้ว จำได้ว่าลูกคุยกับพวกอาจารย์หมอแต่เราไม่ค่อยรู้เรื่องเพราะปวดหัวมาก จำได้แต่ว่าแอดมิท จากนั้นไม่รู้สึกตัวเท่าไหร่แล้ว ได้ยินแค่เขาบอกจะพาเข้าห้องฉีดสี…มารู้สึกตัวอีกทีหลังจากอยู่ ICU ได้วันกว่า แล้วอาการก็ดีขึ้น…ดีขึ้นเรื่อย ๆ ค่ะ…”

หลอดเลือดสมองโป่งพอง-ปริแตก

นั่นคือเนื้อหาเท่าที่ “ซ้อหมวย” ผู้เจอปัญหาที่อาจกล่าวได้ว่าค่อนข้าง “วิกฤติ” จะสามารถจำมาถ่ายทอดให้ใครต่อใครได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นหลังจากถูก “โรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง” ออกฤทธิ์ถึงขั้น “ปริแตก” โดยที่เจ้าตัวก็รู้สึกเหมือนมีอะไรระเบิดในหัว…ดังที่ได้เล่าไว้ในตอนแรก และกว่าจะได้รับการบำบัดรักษาก็ต้องเผชิญอาการปวดหัวรุนแรงต่อเนื่องถึง 3 วันนับจากวันเกิดเหตุจนถึงวันที่รถพยาบาลได้นำส่งไปถึง “โรงพยาบาลธนบุรี” และคุณหมอเห็นสมควรให้รับตัวไว้ตรวจ-รักษา… ซึ่ง “อุ่นใจ…ใกล้หมอ” ขอนำท่านไปติดตามเรื่องนี้กันต่อเลยครับ…

‘อุดตำแหน่งที่แตก’ โดย ‘ไม่ต้องทำการผ่าตัด’

หลังจากที่ “ซ้อหมวย” ได้รับการนำส่งไปถึง “โรงพยาบาลธนบุรี” โดยแพทย์ผู้ส่งตัวได้จัดสำเนารายงานผลการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ไปให้ด้วย ซึ่งช่วยให้ “อาจารย์หมอผู้ชำนาญการ” ประจำ “ศูนย์รักษาโรคหลอดเลือดสมองและระบบประสาท โรงพยาบาลธนบุรี” ทราบว่าผู้ป่วยรายนี้เจอภาวะ “เส้นเลือดสมองโป่งพองเกิดการปริแตก” ส่งผลให้เลือดออกที่ผิวเยื่อหุ้มสมอง จากนั้นก็จึงได้ปรึกษากับ “ศ.คลินิก พญ.อัญชลี ชูโรจน์” แพทย์ผู้ชำนาญการด้านรังสีร่วมรักษาระบบประสาท ส่งผลให้การบำบัดรักษาผู้ป่วยเป็นไปอย่างต่อเนื่องในเวลาต่อมา โดยที่ “อาจารย์หมออัญชลี” ได้อธิบายถึงกรณีที่ “ซ้อหมวย” ได้เกิดภาวะโรคเส้นเลือดสมองโป่งพองเกิดการปริแตก ดังนี้…

การใส่ขดลวดเพื่ออุดหลอดเลือด

ลักษณะขดลวดที่อุดหลอดเลือด

“…กรณีคนไข้ที่ถูกรีเฟอร์มาเป็นเรื่องดี เพราะคนไข้จะมาพร้อมฟิล์มเอกซเรย์ ซึ่งเมื่อศัลยแพทย์ระบบประสาทของโรงพยาบาลเราดูแล้วก็เห็นว่ามีเลือดออกในผิวเยื่อหุ้มสมอง สาเหตุหลักคือเกิดจากการแตกของหลอดเลือดโป่งพอง โดยกรณีของ คุณศุจิรัตน์ ต้องนับว่าเป็นความโชคดีในความโชคร้าย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วอาการก็มักจะปวดหัวอย่างฉับพลันเลย… ทีนี้ถ้าในกรณีที่เลือดออกไม่มากและออกเฉพาะบนผิวสมอง คนไข้ก็จะไม่ได้มีอาการใด ๆ ของระบบประสาท นอกจากการปวดหัวมาก การวินิจฉัยที่เร็วที่สุดเลยเนี่ยก็คือการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ไม่จำเป็นต้องฉีดสีนะคะ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์จะช่วยให้เราเห็นเลือดที่ออกแล้วสามารถบอกได้ว่าออกอยู่ที่ตำแหน่งใด…ทั้งนี้ ในแง่ของการรักษาหลอดเลือดโป่งพองเนี่ย ณ ปัจจุบันจะมี 2 วิธีหลัก อย่างแรกคือ การผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ ซึ่งทำกันมานานแล้ว และการใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ตรวจหลอดเลือดก็จะช่วยให้มั่นใจได้ว่าเลือดออกมาจากจุดที่โป่งพองตรงตำแหน่งไหนนะคะ จากนั้นคุณหมอศัลยแพทย์ระบบประสาทก็จะเปิดกะโหลกศีรษะเพื่อนำคลิปไปหนีบไว้ที่ตำแหน่งที่เกิดการปริแตกค่ะ… ต่อมาจึงมีวิทยาการของการ รักษาหลอดเลือดโดยไม่ต้องทำการผ่าตัด ซึ่งเรียกว่า Interventional Neuroradiology หรือเรียกว่า รังสีร่วมรักษาระบบประสาท นั่นเองค่ะ โดยใช้วิธีเจาะเข้าหลอดเลือดเพื่อใส่สายสวนเข้าไปที่บริเวณขาหนีบ ซึ่งปัจจุบันนี้เราสามารถเจาะเข้าที่แขน ข้อมือ ในลักษณะเดียวกับใส่สายสวนไปทางหลอดเลือดหัวใจ และพอเราฉีดตรวจดูแล้วพบว่ามันโป่งพองตรงนี้นะ…เราก็สามารถรักษาต่อได้เลย โดยใส่สายสวนขนาดเล็กเข้าไปในสายสวนอันแรก จนถึงตำแหน่งที่มีการโป่งพอง เราก็ใส่อุปกรณ์ไปวางอุดไว้ จากนั้นก็เอกซเรย์ดูอีกว่ามันอยู่ในตำแหน่งที่เราต้องการหรือไม่ ถ้าอยู่ในจุดที่เราต้องการแล้วจึงตัดเพื่อปล่อยให้ขดลวดที่เป็นแพลตตินั่มคาอยู่ในนั้น…สามารถทิ้งเอาไว้ได้โดยไม่มีอันตรายอะไรค่ะ…”

“ศ.คลินิก พญ.อัญชลี ชูโรจน์” รพ.ธนบุรี 

“อาจารย์หมออัญชลี” อธิบายให้ความกระจ่างอย่างละเอียดแบบนี้ก็เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงเห็นคล้อยตามว่า “ซ้อหมวย” เป็นทั้งผู้โชคร้ายแล้วก็เป็นผู้โชคดีด้วย จากกรณี “โรคหลอดเลือดสมองโป่งพองปริแตก” แต่ไม่ได้เกิดเลือดไปคั่งมากถึงกับมีอันตรายมากไปกว่าอาการปวดศีรษะที่รุนแรงอย่างเฉียบพลัน แต่ถึงอย่างไรอาการที่เกิดก็ใช่ย่อยนะครับ โชคดีที่ “โรงพยาบาลธนบุรี” ได้เตรียมศักยภาพ-ความพร้อมของบริการทางการรักษาโดยคณะแพทย์ผู้ชำนาญการไว้ที่ “ศูนย์รักษาโรคหลอดเลือดสมองและระบบประสาท” อย่างพร้อมมูล…จึงสามารถเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยในการรักษาให้พ้นภัยได้ด้วย “เทคโนโลยีก้าวหน้าโดยไม่ต้องผ่าตัด” ดังจะเห็นได้จากกรณีของ “ซ้อหมวย” ครับ.

หมอจอแก้ว