แม้ยาชนิดดังกล่าวจะไม่ได้อยู่ในบัญชียาหลัก เช่น ยาฉีดบางชนิดที่มีราคาเข็มละ 5,000 บาท ที่แม้เป็น “ยาราคาสูง” แต่ก็ “จำเป็นต่อผู้ป่วย” ซึ่งเห็นว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาโดยคณะกรรมการบัญชียาหลัก ถ้าหากผ่านก็จะช่วยในเรื่องการรักษาและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ป่วยได้มากโข อย่างไรก็ตาม หากเป็นไปได้ นอกจากการผลักดันนโยบายช่วยผู้ป่วยจิตเวชเข้าถึงยาราคาสูงได้มากขึ้นแล้ว…

ถ้าแง่คุณภาพชีวิต “จำเป็นต่อผู้ป่วย

ก็ “ควรให้ผู้ป่วยโรคอื่นเข้าถึงยาแพง”

แม้แง่เศรษฐศาสตร์อาจจะดูไม่คุ้มค่า

กับเรื่องนี้ก็มีนักวิชาการเสนอแนวทางไว้ ซึ่ง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลในวันนี้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการพัฒนาทางเลือกเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจเบิกจ่าย สำหรับมาตรการที่มีราคาแพงในระบบสุขภาพภาครัฐของประเทศไทย โดย รศ.ดร.วรรณฤดี อิสรานุวัฒน์ชัย, ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์, กุมารี พัชนี, ภญ.บุสดี โสบุญ และคณะนักวิจัยต่างประเทศ ที่ได้ร่วมศึกษา “ข้อจำกัดการเข้าถึงยาราคาแพง” เพื่อหาแนวทางนำยาราคาแพงมาใช้รักษาผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีการเผยแพร่ข้อมูลบทความใน วารสาร HITAP ปีที่ 11 ฉบับที่ 161

ในชุดข้อมูลบทความระบุถึง “ยาราคาแพง” ไว้ว่า… หลายคนนึกถึง ยาในบัญชียา จ (2) ที่เป็นยาราคาแพง ยาที่มีผลกระทบทางงบประมาณสูง ทำให้ต้องแสดงให้เห็นว่ายานั้น “มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์” ก่อนที่จะบรรจุยาดังกล่าวไว้ในบัญชียา ซึ่งแม้ปัจจุบันผู้ป่วยระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสามารถรับยาบัญชียา จ (2) ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ แต่เมื่อลงลึกกลับพบว่า ประเทศไทยยังไม่มีนโยบายชัดเจนสำหรับยาราคาแพงที่ไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์…

แม้ยาบางตัวนั้นอาจจะจำเป็น

อาจเป็นทางเลือกเดียวที่ช่วยได้

นอกจากนี้ยังมีการสะท้อนไว้ว่า… ขณะนี้หลาย ๆ ประเทศมีนโยบายช่วยผู้ป่วยบางโรคเข้าถึงยาราคาแพงที่ไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ได้มากขึ้น ได้แก่ อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ที่ก็ใช้การประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ในกระบวนการพิจารณาเบิกจ่ายยาราคาแพงที่ไม่มีความคุ้มค่า ขณะที่ ประเทศไทย ที่ผ่านมามีผู้เชี่ยวชาญสาขาโรคมะเร็งเสนอและผลักดันให้มีการพิจารณาเบิกจ่ายยามะเร็งที่มีราคาแพง 43 รายการ อย่างไรก็ตาม แต่กลับมียา 16 รายการที่ไม่เคยถูกเสนอเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ เพราะเกรงจะไม่มีความคุ้มค่า ทั้งที่อาจเป็นยาชนิดเดียวที่ช่วยชีวิตผู้ป่วยได้

นี่เป็นกรณียาแพงที่รวมกรณีในไทย

กับการ “ผลักดันเข้าถึงยาราคาแพง?”

ทั้งนี้ สำหรับ “วิธีกำหนดเพดานความไม่คุ้มค่า” กรณีเบิกจ่ายยาราคาแพง จากการศึกษาพบว่า… ประเทศไทยใช้ความคุ้มค่าเป็นหนึ่งในเกณฑ์ตัดสินใจคัดเลือกยาเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ พิจารณาจาก “ค่าอัตราส่วนต้นทุนประสิทธิผลส่วนเพิ่ม (ICER)” ต่อมาตั้งแต่ปี 2556 ได้มีการกำหนด “เกณฑ์ความคุ้มค่า” เอาไว้ที่160,000 บาทต่อปีสุขภาวะ” ดังนั้น การสนับสนุนการเบิกจ่ายยาราคาแพงที่ไม่มีความคุ้มค่า ทางคณะศึกษาวิจัยเสนอไว้ว่า… ควรกำหนดเพดานความไม่คุ้มค่าใหม่ เพื่อลดค่าเสียโอกาสของสังคม เช่น อาจกำหนดให้ยาราคาแพงที่ไม่มีความคุ้มค่าสามารถบรรจุเข้าบัญชียาหลักได้…

ถ้ายานั้นสามารถช่วยชีวิตของผู้ป่วย

ผู้ป่วยไม่มีทางเลือกอื่นในการรักษา

ส่วน “การกำหนดเกณฑ์พิจารณายาราคาแพง” นั้น ทางคณะศึกษาวิจัยดังกล่าวก็ได้มีการจัดทำ “ข้อสรุป” เพื่อเสนอแนะเรื่องนี้ไว้ โดยระบุว่าควรพิจารณาประเด็นต่าง ๆ ดังนี้คือ… เป็นยาที่ช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ เป็นทางเลือกอื่นในการรักษา และความสามารถในการจ่าย, ควรกำหนดบัญชียาใหม่ เช่น ยาบัญชี จ (3) สำหรับยาราคาแพงที่ไม่มีความคุ้มค่า เอาไว้เป็นการเฉพาะ และอีกข้อเสนอคือ ควรนำข้อตกลงเกี่ยวกับการใช้ยา (Managed Entry Agreement : MEAs) มาใช้ เป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณายาเข้าบัญชียาราคาแพงที่ไม่คุ้มค่า รวมถึงกำหนดกรอบงบประมาณให้ไม่สูงไปกว่ายาราคาแพงที่คุ้มค่า

ขณะที่ “ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย” กับเรื่องนี้ หลักใหญ่ใจความมีว่า… 1.ควร บรรจุยาราคาแพงที่ไม่มีความคุ้มค่าไว้ในบัญชียาหลัก โดยใช้ความรุนแรงของโรค และทางเลือกอื่นในการรักษา เป็นเกณฑ์สำคัญ ในการพิจารณา และ 2.ควรจัดสรรกองทุนยาราคาแพง (HCDF) ด้วยกรอบวงเงินสนับสนุนที่ 500 ล้านบาทต่อปี ช่วง 3 ปีแรก ซึ่งอาจจัดทำเป็นโครงการนำร่อง หรือแซนด์บ็อกซ์ ดูก่อนก็ได้ …เหล่านี้เป็น “ข้อเสนอ” ที่จัดทำขึ้นจากผลศึกษาวิจัย…โครงการพัฒนาทางเลือกเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจเบิกจ่าย สำหรับมาตรการที่มีราคาแพงในระบบสุขภาพภาครัฐของประเทศไทย

เพื่อจะ “ลดข้อจำกัดการเข้าถึงยาแพง”

เพื่อ “ช่วยผู้ป่วยโรคที่จำเป็นต้องใช้”…

เพื่อ “ไม่ขาดโอกาสที่จะมีชีวิตต่อ!!”.