…นี่เป็น “สถานการณ์น่ากังวล” อันเป็น “ผลจากภาวะโลกรวน” ที่ทาง ผศ.ดร.พรพรรณ สอนเชื้อ คณะเเพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) สะท้อนไว้ผ่านบทความ “โลกรวนป่วนโรค : สำรวจความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับโรคระบาด” ที่มีการเผยแพร่ไว้ใน www.sdgmove.com

      ฉายภาพ ’อีกผลกระทบอันตราย“…

      จาก ’สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง“

      ภาวะโลกรวน“ นี่ ’ปลุกโรคร้ายด้วย“

ทั้งนี้ ในชุดข้อมูลบทความโดยอาจารย์ คณะแพทยศาสตร์ มธ. ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อในวันนี้ ระบุไว้ว่า… ขณะนี้ “Climate Change” การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากส่งผลให้เกิดสภาวะโลกร้อน หรือสภาพอากาศรุนแรงที่ยากจะคาดเดาแล้ว ยังส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสรรพชีวิต ทั้งมนุษย์ สัตว์ สิ่งมีชีวิต รวมไปถึง “เชื้อโรค” ที่เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กด้วย…ที่อาจจะเป็น อีกหนึ่งปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญให้ ’โรคเก่าระบาดซ้ำ“ และ ’มีโรคใหม่เกิดขึ้น“

ทาง ผศ.ดร.พรพรรณ สะท้อนไว้ต่อไปว่า… การสำรวจความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับโรคระบาด ได้พบความเป็นไปได้ว่า… ’สภาวะโลกร้อน“ ที่เกิดขึ้น ’มีความเชื่อมโยงกับโรคติดต่อต่าง ๆ ที่แพร่ระบาด“ เวลานี้ โดยศูนย์ควบคุม
โรคติดต่อสหรัฐอเมริกามีการออกมาให้ข้อมูลไว้ว่า… พบโรคติดเชื้อบางอย่างที่มีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นในสหรัฐ เช่น โรคลายม์ (Lyme Disease), โรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ (West Nile Virus Disease), โรคไข้รีฟต์วาลเลย์ (Rift Valley Fever) อีกทั้งสิ่งที่น่าตกใจก็คือ มีการพบโรคเหล่านี้ระบาดในพื้นที่ใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน!!

’การแพร่ระบาดของโรคติดต่อที่พบมากขึ้น และการที่มีการระบาดในพื้นที่ใหม่ ๆ ที่ไม่เคยตรวจพบเจอมาก่อน อาจเป็นผลจากการที่ฤดูกาลต่าง ๆ ของโลกเปลี่ยนแปลงไป เช่น บางแห่งมีฤดูหนาวสั้นลง หรือมีฤดูร้อนที่ร้อนรุนแรงกว่าปกติ กรณีนี้อาจเป็นปัจจัยทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ดีขึ้น“ นี่เป็น
กรณี “น่ากลัว”

กรณี “โรคระบาดยุคโลกแปรปรวน”

นอกจากนี้ ผศ.ดร.พรพรรณ ได้ระบุถึง “โรคระบาด” ที่มีความสัมพันธ์ “เชื่อมโยงกับภาวะโลกร้อน”  ไว้ด้วยว่า… แบ่งเป็น
กลุ่มต่าง ๆ ได้ดังต่อไปนี้คือ… โรคที่มีแมลงเป็นพาหะนำโรค (Vector-borne Disease) ได้แก่ยุง เห็บ หมัด ที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ เช่น ไข้เลือดออก ชิคุนกุนยา ซิกา และมาลาเรีย, โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (Zoonotic Disease) อาทิ  โรคฝีดาษวานร (Monkeypox) ที่ก็จัดเป็นโรคอุบัติใหม่ของประเทศไทยซึ่งมีแนวโน้มระบาดเพิ่มต่อเนื่อง และโลกร้อนยังมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงถึง โรคที่เกิดจากเชื้อรา (Fungal Infection) และ โรคติดต่อจากอาหารและน้ำ อีกด้วย

นี่คือ ’กลุ่มโรคที่สัมพันธ์กับโลกรวน“

และความสัมพันธ์ระหว่าง “โรคระบาด” กับภาวะ “โลกร้อน-โลกรวน” นี่ในชุดข้อมูลบทความดังกล่าวยังมีส่วนที่ระบุไว้ว่า… การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้สภาพภูมิอากาศแปรปรวน เช่น ร้อนขึ้น ฝนตกผิดฤดู ฤดูหนาวสั้นลง จึงส่งผลทำให้ แมลงหลาย ๆ ชนิด ยุง ขยายพันธุ์ได้ดียิ่งขึ้น และเชื้อโรคแพร่กระจายได้ดียิ่งขึ้นด้วย นอกจากนั้น เมื่อโลกร้อนขึ้นจึงส่งผลให้ เชื้อราเจริญเติบโตได้ดี และยิ่งเติบโต-แพร่กระจายได้ดี ก็ มีโอกาสที่จะก่อโรคในมนุษย์ได้เพิ่มขึ้น

รวมถึง… การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของโลก กับปริมาณความชุกของฝนที่ไม่เหมือนเดิม ส่งผลต่อการแพร่กระจาย และความสามารถในการปรับตัวของเชื้อก่อโรคหลาย ๆ ชนิดในปัจจุบัน รวมถึงเชื้อก่อโรคที่มีอาหารเป็นสื่อ โดยอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้แบคทีเรียที่ปนเปื้อนมาในอาหารมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้รวดเร็วมากขึ้น ผลที่ตามมาคืออาหารเน่าเสียเร็วขึ้น

ทำให้ “ยิ่งเกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ”

ทั้งนี้ สำหรับแนวทางรับมือ “กรณีปัญหาที่น่ากลัว” กรณีนี้… ทาง ผศ.ดร.พรพรรณ สอนเชื้อ คณะเเพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เสนอแนะไว้ในชุดข้อมูลบทความที่มีการเผยแพร่ทาง www.sdgmove.com ว่า… การแก้ปัญหาและบรรเทาผลกระทบจากปัญหานี้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างหลาย ๆ หน่วยงาน ทั้งเพื่อเฝ้าระวัง เพื่อช่วยกันแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนระวังตัวจากโรคระบาด รวมถึงเพื่อให้ประชาชนมีการ เตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด!! ที่สำคัญอาจจำเป็นต้องบูรณาการการทำงานข้ามศาสตร์ หรือทำงานข้ามสาขาระหว่างกันให้มากขึ้น

’ยกตัวอย่างเช่นกรมควบคุมโรคร่วมมือกับกรมอุตุนิยม วิทยา เพื่อให้นักอุตุนิยมวิทยารายงานพยากรณ์อากาศปริมาณน้ำฝน หรือการเกิดฝนตกนอกฤดูกาล เพื่อที่นักระบาดวิทยาจะได้คาดการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดออกล่วงหน้า เพื่อที่สถานพยาบาลจะได้เตรียมพร้อมรับมือผู้ป่วยได้ทันท่วงที“ …นี่เป็นตัวอย่างข้อเสนอแนะ

       ก็หวังว่าไทยจะบูรณาการสู้ปัญหาได้ดี

      สู้กรณี ’โรคร้ายยุคโลกร้อน-โลกรวน“

      ที่ ’ทุกฝ่ายต้องร่วมสู้ให้ทันการ!!“.