‘โชคดี’ ที่อยู่ไม่ไกล รพ. ภรรยา ‘บึ่งไปได้ทัน’

ทั้งคู่ได้ออกเดินทางตั้งแต่บ่าย ๆ โดยกลับถึงกรุงเทพฯ ในช่วงเวลาใกล้ 6 โมงเย็น แล้วบังเอิญว่าอากาศในวันนั้นค่อนข้างร้อนอบอ้าว ทำให้ “คุณวณัฐรวี” รู้สึกปวดศีรษะ-มึนหัว ซึ่งเข้าใจว่าอาจเป็นไข้เพราะแดด ขณะที่ “คุณณัฐพงษ์” ก็เอ่ยปากบอกว่ารู้สึกเหนื่อย ๆ ก็เลยขับรถกลับเข้าบ้านกันก่อน จากนั้นก็ได้ติดต่อแจ้งขอนัดไปตรวจที่ “โรงพยาบาลสุขุมวิท” ซึ่งมีความคุ้นเคยอยู่แล้ว เพื่อจะให้รู้ว่าป่วยเป็นอะไรกันอย่างไรหรือไม่ แต่เมื่อนัดเสร็จและพร้อมจะออกจากบ้าน ก็ปรากฏว่าคุณสามีซึ่งเอนหลังรออยู่นั้นกลับบอกว่าลุกขึ้นไม่ไหว จึงเรียกน้องมาช่วยพยุงไปขึ้นรถ แล้วก็ขับมุ่งหน้าไปโรงพยาบาลตามที่นัดไว้ และมีเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นระหว่างทางในช่วงที่ไม่ไกลจาก “โรงพยาบาลสุขุมวิท” มากนัก ซึ่ง “คุณวณัฐรวี” ได้เผยกับทีมงาน “อุ่นใจ…ใกล้หมอ” ในภายหลัง ดังนี้…

หัวใจขาดเลือดจากเส้นเลือดหัวใจตีบ

“…ช่วงระหว่างที่ขับรถมาเห็นว่าเขายังมีสติทุกอย่าง ก็ยังบอกเลยว่า…รอแป๊บนะจะถึงแล้ว ปรากฏว่าพอขับมาลงทางด่วนที่สุขุมวิท 50 แถวพระโขนง พี่เขาก็เกิดอาการชักเกร็ง แล้วก็หมดสติเลย… ด้วยความที่เราตกใจมาก ก็คิดแต่ว่าจะไปถึงโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด และใช้เวลาจากตรงนั้นราว 1-2 นาที ก็ถึงแผนกฉุกเฉิน และได้รับความประทับใจสุด ๆ เพราะมีการช่วยเหลือที่ทันท่วงทีมาก พาพี่เขาขึ้นเตียงเข้าห้องปฐมพยาบาลแล้วปั๊มหัวใจเลย…ใช้เวลาปั๊มประมาณ 10 กว่านาที พี่เขาก็ฟื้น แล้วถูกนำไปที่ห้อง Cath Lab สามารถตรวจฉีดสี และสามารถทำบอลลูนได้ภายใน 1 ชั่วโมง…ก็ช่วยชีวิตให้พี่เขากลับมาเป็นปกติ…

ถ้าถามว่าเรามองเรื่องนี้ว่ารุนแรงไหม…ดูรุนแรงมากนะคะ และถ้าไม่ใช่โรงพยาบาลที่มีทีมการแพทย์ฉุกเฉินพร้อมแบบนี้ ก็บอกเลยว่าโอกาสที่จะได้เขากลับมานั้นยากมาก พูดได้เลยว่าโรงพยาบาลนี้กับทีมแพทย์ที่นี่ช่วยชีวิตเขาไว้จริง ๆ… เราเลยรู้สึกว่าเราประทับใจมาก ๆ…อันนี้จากความรู้สึกจริง ๆ ค่ะ…”

การทำหัตถการขยายเส้นเลือดหัวใจ

มาดูกันว่า “แผนกฉุกเฉิน โรงพยาบาลสุขุมวิท” มีการจัดเตรียมความพร้อมกรณีฉุกเฉินต่าง ๆ ไว้แบบไหน-อย่างไร ซึ่งผู้ให้ข้อมูลคือ “นพ.วิภู ชวาลตันพิพัทธ์” แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉิน “โรงพยาบาลสุขุมวิท” และได้ยกกรณีของ “คุณณัฐพงษ์” มาเป็นตัวอย่าง โดยระบุว่า…

คุณวณัฐรวี-คุณณัฐพงษ์ วรรณฉัตรโรจน์

“…ตอนที่มาถึงนั้น คนไข้ไม่มีชีพจรแล้วครับ อย่างแรกที่ต้องทำคือ CPR ก็คือปั๊มหัวใจแล้วก็ช่วยหายใจครับ โดยต้องรีบติดเครื่องวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจดูว่าเป็นลักษณะไหน…ตามปกติแล้วอย่างแรกคือได้จัดพื้นที่เรียกว่าห้องแดงไว้สำหรับทำการกู้ชีพครับ ต้องเตรียมอุปกรณ์สำหรับมอนิเตอร์คนไข้ระหว่างที่ทำ CPR ครับ โดยมีอุปกรณ์ที่อาจต้องใช้อย่างเช่นอุปกรณ์ใส่ท่อช่วยหายใจ เครื่องอัลตราซาวด์ อะไรพวกนี้ สำหรับรองรับคนไข้ทุกคนที่มาด้วยกรณีไม่มีชีพจรอย่างกรณีนี้ พร้อมกับตรวจหาสาเหตุที่ทำให้หัวใจหยุดเต้น ก็ต้องเจาะเลือดแล้วตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งเมื่อดูลักษณะคลื่นไฟฟ้าหัวใจแล้ว ก็จะพอเดาได้คร่าว ๆ โดยต้องดูผลเลือด ดูผลเอกซเรย์ปอด ผลอัลตราซาวด์ ประกอบด้วยครับ…และสามารถสรุปได้ว่าเป็น เส้นเลือดหัวใจตีบ ครับ มีภาวะ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ครับ…” 

หัวใจวายเฉียบพลัน!! เพราะ ‘ลิ่มเลือด’ อุดตัน

จากนั้น “คุณณัฐพงษ์” ก็ได้รับการดูแลรักษาต่อในขั้นตอนสำคัญต่อไป… ซึ่งคุณหมอผู้ให้ข้อมูลคือ “พญ.ฑิตถา อริยปรีชากุล” อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด “โรงพยาบาลสุขุมวิท” โดยได้กล่าวแต่แรกเลยว่า…

นพ.วิภู ชวาลตันพิพัทธ์ รพ.สุขุมวิท

“…เคสนี้ถือว่าค่อนข้างหนักพอสมควร แต่โชคดีที่คนไข้มาถึงโรงพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว เราจึงให้การรักษาได้ทันท่วงทีค่ะ…และจากรายงานผลการตรวจหลายขั้นตอน ตั้งแต่แรกรับที่แผนกฉุกเฉิน รวมถึงการทำอัลตราซาวด์หัวใจที่เรียกว่า Echocardiogram พบว่ากล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวได้ค่อนข้างแย่มากค่ะ จึงจำเป็นต้องนำคนไข้ไปประเมินดูว่ามีภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบหรืออุดตันด้วยหรือไม่ โดยได้ส่งไปเข้ารับการฉีดสีสวนหัวใจและพบว่ามีภาวะ เส้นเลือดหัวใจตีบถึง 3 เส้น ตัวเส้นเลือดค่อนข้างขรุขระ และเส้นเล็กมาก โดยเบื้องต้นเราพบว่ามี ลิ่มเลือดอุดตัน อยู่บริเวณเส้นเลือดด้านขวา ซึ่งน่าจะเป็น สาเหตุทำให้เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน ซึ่งในตอนแรก อาจารย์ได้ทำการดูดเอาลิ่มเลือดออกและวางขดลวดเพื่อขยายเส้นเลือดด้านขวานั้น แล้วก็ปรากฏว่าสัญญาณชีพกลับมาค่อนข้างดีเป็นปกติ การบีบตัวของหัวใจก็ดีขึ้นค่ะ…

พญ.ฑิตถา อริยปรีชากุล รพ.สุขุมวิท

หลังจากใส่ขดลวดเส้นแรกไปแล้ว…เราได้ให้คำแนะนำคนไข้ โดยเริ่มจากการกินยาอย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์แนะนำ ต่อด้วยการวางแผนเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง งดอาหาร หรืองดการปฏิบัติกิจกรรมแบบใดบ้าง โดยได้ประชุมกับคนไข้และครอบครัวว่าจะสมควรรักษาเส้นเลือดอีก 2 เส้นที่เหลือได้เร็วที่สุดเมื่อใด ซึ่งเมื่อพบว่าคนไข้ฟื้นตัวค่อนข้างไว อาการดีขึ้นได้เร็ว ก็เลยนัดมาฉีดสีดูเส้นเลือดหัวใจครั้งที่ 2 โดยได้ทำการเปิดเส้นเลือดและใส่ขดลวดอีก 2 เส้นที่เหลือในช่วงประมาณ 1 เดือนถัดมา จากนั้นกล้ามเนื้อหัวใจก็ค่อย ๆ บีบตัวดีขึ้น ความดันฯ กับชีพจร ก็คงที่ดี โดยไม่ต้องใช้ยาใด ๆ กระตุ้นหัวใจค่ะ…”

เป็นอันว่า 2 สามี-ภรรยาคู่นี้ ก็สามารถผ่านห้วงวิกฤติในชีวิตได้อย่างถูกที่-ทันเวลา สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติสุขดังเดิม… “แฮปปี้เอนดิ้ง” ในที่สุดครับ.

หมอจอแก้ว