ทั้งนี้ เรื่องแบบนี้ตั้งแต่ต้นปีใหม่ 2567 นี้ก็มีทั้งกรณีความสูญเสียและกรณีความเสียหายเกิดขึ้น โดยที่กรณีความสูญเสียนั้นถึงขั้น “เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย” ขณะที่กรณีความเสียหายนั้นเป็นการ “เสียตัวจากการเป็นเหยื่อเพราะความเชื่อ” …ซึ่งทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ขอไม่ลงรายละเอียดกรณีที่เกิดขึ้น…

ณ ที่นี้วันนี้จะชวนพินิจเรื่องแบบนี้

จะชวนให้พินิจกันอีกในเชิงวิชาการ

กรณี “เชื่อลัทธิ-พิธี” ที่ “ต้องมีสติ!!”

ทั้งนี้… “คนในสังคมสมัยใหม่มีความต้องการที่จะอธิบายกระบวนการของชีวิตของเขาที่มีความแตกต่างและหลากหลายมากกว่าคำอธิบายจากความเชื่อจากศาสนาดั้งเดิม เหตุนี้จึงทำให้มีคนจำนวนไม่น้อยหันเข้าหาลัทธิพิธีใหม่ เพื่อแสวงหาคำตอบของเขา…”…นี่เป็นใจความสำคัญส่วนหนึ่งจากการสะท้อนไว้โดย ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ นักวิชาการ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเป็นการสะท้อนไว้ผ่านทางบทความบทวิเคราะห์เรื่อง “ศาสนาในสังคมโลกสมัยใหม่” ที่มีการเผยแพร่ไว้ใน เว็บไซต์ www.human.cmu.ac.th

ถึงแม้ว่า “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็เคยสะท้อนต่อข้อมูลจากบทความบทวิเคราะห์ดังกล่าวนี้ไว้บ้างแล้ว แต่วันนี้ก็ขอพลิกแฟ้มสะท้อนต่อสะท้อนย้ำอีกเพื่อชวนสังคมไทยพิจารณาอย่างพินิจพิเคราะห์ เพื่อที่จะเกิดเป็นเกราะ “ป้องกันความเสียหาย-ป้องกันความสูญเสีย” อันเป็นผล “จากความเชื่อ-จากความศรัทธา” ที่หากไม่ตั้งสติกันให้ดี ๆ ก็อาจจะเกิดปัญหา…

“เชื่อโดยทิ้งสติ” อาจ “เกิดเรื่องร้าย!!”

สะท้อนต่อข้อมูล-สะท้อนย้ำไว้อีก… เกี่ยวกับเรื่องแบบนี้ กรณีแบบนี้ โดย ศ.ดร.อรรถจักร์ ได้ระบุไว้ โดยสังเขปมีว่า… “ปรากฏการณ์เด่นชัด” ที่ชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในมิติของศาสนาในสังคมโลกสมัยใหม่ ก็คือ…การเกิดขึ้นและขยายตัวของลัทธิพิธีใหม่ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับการลดน้อยถอยลงของศรัทธาในศาสนาหลัก …ซึ่งการเกิดขึ้นและขยายตัวของลัทธิพิธีใหม่เหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่นักวิชาการจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจ และพยายามจะอธิบายถึงปรากฏการณ์นี้ เพราะ “ลัทธิพิธีใหม่” ที่เกิดขึ้นในสังคมยุคใหม่…มัก “มีเป้าหมายต่างจากขนบศาสนาดั้งเดิม”

“ลัทธิพิธีใหม่” นี่เป็น “ปรากฏการณ์”

ที่ “พุ่งขึ้นผกผันกับศรัทธาศาสนา!!”

จากบทความบทวิเคราะห์โดยนักวิชาการภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ท่านดังกล่าว ยังมีส่วนที่ระบุไว้เกี่ยวกับ “การแพร่ขยายของลัทธิใหม่” อีกว่า… ทั่วโลกพบเห็นการเกิดขึ้นใหม่ของลัทธิพิธีใหม่ ๆ ที่มีเป้าหมายและความเชื่อแตกต่างจากขนบและความเชื่อทางศาสนาแบบเดิมอยู่ตลอดเวลา อย่างสหรัฐอเมริกา…ที่มีลัทธิพิธีใหม่เกิดขึ้นราว 400 กลุ่ม ในช่วงทศวรรษ 1980 และตัวอย่างอีกประเทศที่มีลัทธิพิธีใหม่ ๆ เกิดเยอะไม่แพ้กันก็คือ ญี่ปุ่น ซึ่งการขยายตัวของลัทธิพิธีใหม่ในญี่ปุ่นก็ได้กลายเป็น “กรณีศึกษา” ที่ทำให้ทั่วโลกสนใจเรื่องการขยายตัวของลัทธิใหม่

โดยเฉพาะหลังการเกิด “เหตุการณ์ช็อกโลก” จากกรณีที่สมาชิกกลุ่มลัทธิ “โอม ชินริเกียว” ปล่อยแก๊สพิษในรถไฟใต้ดิน ที่เหตุการณ์นี้ทำให้ “สังคมโลกมีทัศนคติเชิงลบ” ต่อลัทธิใหม่ ทำให้มีผู้คนหวาดผวาเมื่อได้ยินคำว่า “ลัทธิใหม่”

ขณะที่ใน ประเทศไทย นั้น ทาง ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ได้ระบุไว้ว่า… สังคมไทยสมัยใหม่ก็มีลัทธิใหม่ ๆ เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน โดยที่ลัทธิใหม่ ๆ ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศไทยภายใต้สภาพสังคมไทยยุคใหม่นั้น ต้องเน้นย้ำว่า… ลัทธิใหม่ที่เกิดขึ้นมานั้น…ไม่ใช่ว่าทุกกลุ่มจะก่อปัญหาให้แก่สังคม เพราะก็มีลัทธิใหม่ ๆ จำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้มีปฏิบัติการอะไรที่รุนแรง หากแต่มีการเน้นให้สมาชิกทุกคนปฏิบัติอยู่ในครรลองความสงบและสันติสุข…เช่นเดียวกับศาสนากระแสหลักทั่ว ๆ ไป

ทั้งนี้ การเกิดขึ้นและขยายตัวของลัทธิพิธีใหม่ ๆ ถือเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่สำคัญมาก ๆ โดยเฉพาะภายใต้สังคมสมัยใหม่ ที่ “ขนบความเชื่อดั้งเดิมมีคำตอบให้ได้ไม่ทั่วถึง” ทำให้ “ผู้คนต้องแสวงหาคำตอบชีวิตให้ตัวเอง”

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ทำให้จำเป็น “ต้องมีสติ” ในการ “เชื่อลัทธิ-พิธี” ก็คือ… นักวิชาการท่านดังกล่าวชี้ไว้ว่า…ลัทธิพิธีที่พบในสังคมสมัยใหม่ แบ่งได้ 4 กลุ่ม กว้าง ๆ คือ… กลุ่มที่เน้นมิติทางสังคม เน้นการช่วยเหลือคนและสังคม หรือมนุษยสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม, กลุ่มที่เน้นควบคุมจิตใจ มีความเชื่อเรื่องความพยายามเข้าใจความเป็นมนุษย์ และควบคุมจิตใจให้ดำเนินไปถึงเป้าหมายของลัทธิพิธี, กลุ่มที่เน้นตอบสนองความต้องการในชีวิตประจำวัน จะเน้นความเชื่อเรื่อง ปาฏิหาริย์ ไสยศาสตร์ หวังให้บรรลุหรือพบเป้าหมายที่ต้องการ, กลุ่มที่เน้นความเชื่อเรื่องโลกแตก ที่บางส่วนมีฐานจากความ เกลียดชังระบบสังคมที่เป็นอยู่ ต้องการสร้างโลกใหม่ …ซึ่ง 2 กลุ่มหลังนี่ยิ่ง “ต้องมีสติให้มากในการจะเชื่อ” และจริง ๆ แล้ว…

ไม่ว่า “ขนบเก่า…ลัทธิใหม่-พิธีใหม่”…

เพื่อ “ป้องกันการเสียหาย-สูญเสีย”

“เชื่ออย่างมีสติล้วนสำคัญ” ทั้งนั้น!!.