ทั้งนี้ กับการหมดไฟชีวิตเสียดื้อ ๆ อันเนื่องจากเทศกาลปีใหม่ ’นี่ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น!!“ แต่ถึงขั้น ’เป็นภาวะ“ ที่ทางการแพทย์ ทางจิตวิทยา เรียกว่า…

      ’นิวเยียร์ส บลูส์ (New Year‘s Blues)“

      โดย ’คนไทยมีแนวโน้มเกิดภาวะนี้“

      ภาวะนี้ก็ ’อันตราย!!…ต้องเท่าทัน!!“   

เกี่ยวกับ “ภาวะอันตราย” ที่ว่านี้…ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูล…ทาง กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้เคยออกมาให้ข้อมูลภาวะหรืออาการกลุ่มดังกล่าวนี้ไว้ว่า… ใน “ช่วงปีใหม่” ที่น่าจะเป็นเทศกาลที่มีแต่ความสนุกและรอยยิ้มนั้น ขณะเดียวกันกลับมี ’ภัยเงียบด้านสุขภาพจิต“ ประเภทหนึ่งเกิดขึ้นกับบางคน กับช่วงเทศกาลปีใหม่ที่มีวันหยุดยาว ๆ โดยภัยเงียบนี้คือ ’ภาวะ New Year’s Blues“ ซึ่งอาจจะไม่ค่อยคุ้นกันกับชื่อเรียก
ภาวะอาการนี้ แต่… พบความชุกของภาวะอาการนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ ในกลุ่มประชากรคนไทย โดยเฉพาะช่วงหลายปีมานี้…นับแต่มี
โควิด-19 ระบาด

แล้วภาวะนี้คืออะไร?-อย่างไร?… ทางกรมสุขภาพจิตได้ให้ข้อมูลเอาไว้ โดยสังเขปมีว่า… ภาวะ ’New Year’s Blues“ คือภาวะ’ซึมเศร้าช่วงปีใหม่“ โดยผู้ที่เกิดภาวะดังกล่าวนี้จะมีอาการ… ซึมเศร้า เบื่อหน่าย ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง ท้อแท้ มองตนเองเป็นคนไร้ค่า รู้สึกสิ้นหวัง โดยอาจจะมีอาการอื่น ๆ ประกอบที่แสดงออกมาด้วย เช่น… มีปัญหาเรื่องการกิน เช่น กินมากขึ้นหรือกินน้อยลง มีปัญหาเรื่องการนอน เช่น นอนไม่หลับ ตื่นกลางดึก โดยอาการต่าง ๆ เหล่านี้อาจเกิดต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ถึงแม้เทศกาลปีใหม่ช่วงหยุดยาวจะผ่านไประยะหนึ่งแล้ว…แต่ก็ยังรู้สึกมีอารมณ์หม่นหมองและเศร้า ซึ่งอาจจะ…

      อยากทำร้ายตัวเอง-อยากจบชีวิต!!

นี่แหละที่บอกว่าเป็น ’ภาวะอันตรายที่ต้องเท่าทัน!!“ โดย “วิธีสังเกต” ทั้งกับตัวเองและคนใกล้ชิด ว่าเข้าข่ายเป็น ’New Year‘s Blues” หรือไม่?? แหล่งข้อมูลเดิมให้แนวทางไว้ว่า… จุดสังเกตตัวเองและคนรอบข้างเพื่อประเมินว่าเกิดภาวะนี้หรือไม่…ก็คือ… รู้สึกหมดไฟ รู้สึกเครียด รู้สึกซึมเศร้า และโดยเฉพาะ มีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย ซึ่งถ้าพบสัญญาณผิดปกติเหล่านี้ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ หรือจิตแพทย์ โดยภาวะนี้แม้จะไม่ได้เป็นการวินิจฉัยทางจิตเวช เป็นภาวะทางสุขภาพจิต แต่ถึงกระนั้นก็ ควรที่จะได้รับคำปรึกษาเพื่อไม่ให้อาการรุนแรงลุกลาม ไปมากขึ้น…

      เพื่อที่จะเป็นการ ’ตัดไฟแต่ต้นลม“

      ’ไม่ป่วยจิต“ จากภาวะอาการที่ว่านี้

      “นิวเยียร์ส บลูส์ (New Year’s Blues)”

สำหรับ “คำแนะนำเพื่อไม่ให้ตกอยู่ภายใต้ภาวะ New Year’s Blues เพื่อสกัดภาวะซึมเศร้าช่วงปีใหม่นั้น… ทาง กรมสุขภาพจิต ก็เคยมีการให้แนวทางเพื่อสร้างพลังจิตใจที่เข้มแข็งไว้ กล่าวคือ… เริ่มจากการ ’เข้าถึง 4 ห้องหัวใจแห่งความสุข“ ตั้งเป้าหมายให้ครบ 4 มิติ ในการ ดูแลสุขภาพกาย ใจ สังคม และสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัว โดย… หัวใจห้องที่ 1 สุขกาย ด้วยการตั้งเป้าหมายให้ตนเองมีสุขภาพกายที่ดี แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยบ่อย และไม่ให้อายุมาเป็นขีดจำกัดการทำกิจกรรม หัวใจห้องที่ 2 สุขใจ ด้วยการตั้งเป้าหมายให้ตนเองมีสุขภาพจิตที่ดี และรับมือความเครียดหรือปัญหาที่เข้ามาได้

หัวใจห้องที่ 3 สุขสังคม ด้วยการตั้งเป้าหมายให้ตนเองอยู่อย่างมีคุณค่าในสังคม และรู้จักมอบความสุขให้แก่ผู้อื่น ส่วนอีกห้องหัวใจแห่งความสุขที่ควรต้องเข้าถึงคือ หัวใจห้องที่ 4 สุขสัมพันธ์ ด้วยการตั้งเป้าหมายให้ตนเองมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง ปราศจากความรุนแรง มีแต่ความเห็นอกเห็นใจ และให้กำลังใจกันและกัน …นี่เป็น ’คำแนะนำที่น่าทำตาม“

      เช่นเดียวกับการ ’เปิดประตู 6 บาน“

ประตู 6 บานในที่นี้…หมายถึง “6 วิธีสร้างความสุขพื้นฐาน” ที่สามารถทำได้ด้วยการ “เปิดประตู 6 บาน” โดย… ประตูบานที่ 1 จัดการทุกข์ คือมีสติรู้อารมณ์ความคิดตนเอง เรียนรู้จากสิ่งที่ทำให้เราทุกข์ แล้วค่อย ๆ แก้ปัญหาทีละเรื่องเท่าที่ทำได้ หรือปล่อยวางบางเรื่องที่ได้ทำเต็มที่แล้ว, ประตูบานที่ 2 สนุกกับชีวิต ทำกิจกรรมที่สนุกสนาน ผ่อนคลาย หรือเรียนรู้สิ่งที่ไม่เคยเรียน, ประตูบานที่ 3 คิดบวกเพิ่ม มองตัวเองในแง่บวก ยอมรับสิ่งที่ตัวเองเป็น เชื่อมั่นศักยภาพตนเอง

ประตูบานที่ 4 เสริมร่างกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ, ประตูบานที่ 5 ใจมีพลัง สร้างแนวคิดยืดหยุ่น สะสมความแข็งแกร่งทางจิตใจ เพื่อให้ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบากและอุปสรรคใด ๆ และ ประตูบานที่ 6 ฟังและเล่า รับฟังเรื่องราวต่าง ๆ โดยไม่ตัดสิน เปิดใจพูดคุยกับผู้อื่นเมื่อมีเรื่องไม่สบายใจ ไม่เก็บไว้คนเดียว

ทั้งนี้ ’เทศกาลปีใหม่“ แม้บางคน ไม่มีโอกาสหาความสุข บางคน หาความสุขก็เพื่อปิดบังทุกข์ บางคน หาความสุขแล้วกลับมาเกิดทุกข์ …จะอย่างไร “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ขอเป็นกำลังใจให้ ’เปิดประตู 6 บาน-เข้าถึง 4 ห้อง“…

      “New Year’s Blues” ไม่อาจแผ้วพาน

      ’ฮีลหัวใจตัวเอง“ ไม่รู้สึกว่าท้อแท้…

      ไม่เศร้าไม่ทุกข์ ’มีสุขได้ในปีใหม่“.