จากกรณีวานนี้ (2 พ.ย.) มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองนครศรีธรรมราช ได้ดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานขอศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ออกหมายจับ 2 ผู้คุมราชทัณฑ์เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช ประกอบด้วย 1.นายวรินทร อายุ 41 ปี 2.นายเอกลักษณ์ อายุ 35 ปี รับหน้าที่ดูแลควบคุมนายเชาวลิต ทองด้วง หรือ เสี่ยแป้ง นาโหนด นักโทษชายรายสำคัญ ในคืนก่อเหตุหลบหนีออกจากการควบคุมตัวที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช ด้วยการใช้กุญแจผีสะเดาะตรวนข้อเท้า เมื่อเวลา 01.00 น. วันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา และขณะนี้นายเชาวลิต ยังอยู่ระหว่างหลบหนีกบดาน ศาลได้ออกหมายจับในความผิดฐานหลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขังตามอำนาจของศาล นอกจากนี้ยังมีรายงานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยว่า นายเชาวลิต พร้อมด้วยภรรยาและลูกเล็กอาจหลบหนีไปถึงประเทศมาเลเซียเรียบร้อยแล้ว ตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวไปอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 3 พ.ย. “ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์” ได้รับการเปิดเผยจากนายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และในฐานะโฆษกกรมราชทัณฑ์ ว่า กรมราชทัณฑ์ เพิ่งได้รับการประสานมาว่ามีหมายจับของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 ต่อเจ้าพนักงานเรือนจำทั้ง 2 ราย ซึ่งเป็นผู้คุมในผลัดบ่ายช่วงคืนเกิดเหตุ แม้ขณะนี้ทั้งคู่จะอยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ที่กรมราชทัณฑ์ จังหวัดนนทบุรี แต่ก็ได้รับคำสั่งให้เดินทางเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครศรีธรรมราช และให้ปากคำตามขั้นตอน ส่วนในเรื่องของคณะกรรมการราชทัณฑ์ที่มีการตรวจสอบเรื่องวินัยร้ายแรงนั้น เร็วๆ นี้จะมีคำสั่งจากนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ให้เจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ราย ออกจากราชการไว้ก่อน เนื่องจากถูกดำเนินคดีทางอาญา ส่วนเรื่องการตรวจสอบทางอาญาจะเป็นหน้าที่ของตำรวจ และตนทราบว่าตำรวจได้มีการแจ้งข้อหาแก่ผู้คุมราชทัณฑ์ทั้งคู่ ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพราะมีการปล่อยให้ผู้ต้องขังที่ถูกคุมขังตามอำนาจของศาล หลบหนีไปได้ แต่ก็ยังไม่ได้มีพยานหลักฐานใดยืนยันได้ว่า ทั้งคู่เกี่ยวข้องในเรื่องของการให้ความร่วมมือวางแผนช่วยให้นายเชาวลิตหลบหนี ดังนั้น ตรงนี้จะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะต้องทำการสอบสวนหาข้อเท็จจริง
โฆษกกรมราชทัณฑ์ เผยอีกว่า ตามระเบียบแล้ว หน้าที่ของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ (ผู้คุม) ที่มีหน้าที่ในการเฝ้าผู้ต้องขังป่วย ซึ่งจะต้องมีการเฝ้าอยู่ตลอดเวลา แต่อาจจะมีบางช่วงจังหวะที่ทั้งคู่ไม่ได้อยู่ หรือลุกเดินไปที่อื่นจึงเป็นโอกาสให้ผู้ต้องขังใช้ช่วงเวลานั้นหลบหนี นอกจากนี้ คำให้การของทั้งคู่ที่แจ้งกับคณะกรรมการฯ ระบุว่า ในช่วงที่นายเชาวลิตไขตรวนกุญแจข้อเท้า ทั้งคู่ลงมาที่ข้างล่างของอาคาร เพราะปกติแล้วที่ด้านล่างโรงพยาบาลจะมีตู้คอนเทเนอร์ของเรือนจำฯ สำหรับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ เพื่อสามารถพักระหว่างปฏิบัติหน้าที่ แต่ระหว่างนั้นก็ได้มีการเดินขึ้นไปด้านบนห้องพักผู้ป่วยเพื่อไปตรวจเวรอย่างเป็นระยะ แต่ก็ไม่ได้อยู่ข้างบนตลอด ทั้งนี้ ตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์นั้น การเฝ้าผู้ต้องขัง ผู้คุมราชทัณฑ์จะต้องดำเนินการเฝ้าอยู่ตลอดเวลา ถึงผู้คุมคนหนึ่งไม่อยู่แต่อีกคนจะต้องอยู่ เพราะว่าได้มีการกำหนดสัดส่วนว่าผู้คุมราชทัณฑ์ 2 รายต่อผู้ต้องขัง 1 ราย แต่ในทางปฏิบัติทั้งสองผู้คุมได้มีการปล่อยปละละเลยจึงเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น
โฆษกกรมราชทัณฑ์ กล่าวเสริมว่า และด้วยกายภาพสภาพแวดล้อมของโรงพยาบาลแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน ข้อจำกัดแตกต่างกัน บางโรงพยาบาลหากไปอยู่ในห้องผู้ป่วยรวม เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลก็ไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ของเรือนจำฯ เข้าไปข้างใน หรือบ้างก็ให้เจ้าหน้าที่อยู่ข้างนอกเท่านั้น ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่ต้องไปอยู่ข้างนอกห้อง จึงทำให้อาจจะต้องไปนั่งเก้าอี้ที่อื่น หรือไปนั่งอยู่บริเวณระเบียงอาคาร เพื่อคอยตรวจตราดูคนเข้า-ออก และดูว่าผู้ต้องขังมีการเดินเข้า-ออกห้องหรือไม่ ซึ่งข้อจำกัดเหล่านี้บางครั้งก็เป็นปัญหาต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เช่นเดียวกัน อีกทั้งบางโรงพยาบาล ห้องผู้ป่วยรวมสามารถเข้า-ออกได้หลายทาง เจ้าหน้าที่ของเราเฝ้าประตูอีกทางหนึ่ง แต่ผู้ต้องขังอาจไปใช้ช่องทางหลบหนีอีกทางหนึ่งก็เป็นได้
โฆษกกรมราชทัณฑ์ เผยต่อว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ผ่านมาของคณะกรรมการฯ ทั้ง 2 ผู้คุมยังให้คำยืนยัน ยืนกรานว่าไม่มีส่วนในการช่วยเหลือเอื้อประโยชน์หรือร่วมวางแผนต่อการหลบหนีของนายเชาวลิต ซึ่งในเรื่องนี้คณะกรรมการฯ ยังไม่ได้มีพยานหลักฐานใดที่จะระบุเช่นนั้นได้ อีกทั้งเรื่องของภาพจากกล้องวงจรปิดของโรงพยาบาลก็อยู่ที่ตำรวจ ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเบื้องต้นเท่านั้น ส่วนผลสรุปรายงานการสอบข้อเท็จจริงในเบื้องต้น ทราบว่าได้มีการนำเรียนไปยังอธิบดีกรมราชทัณฑ์เรียบร้อยแล้ว ส่วนคำสั่งหลังจากนี้ก็จะอยู่ระหว่างการพิจารณาของอธิบดีที่จะมีคำสั่งให้ทั้งคู่ออกจากราชการไว้ก่อน
ส่วนกรณีมีผู้หญิงชื่อ น.ส.วิลาวัลย์ ที่นายเชาวลิตได้ว่าจ้างมาให้เฝ้าไข้นั้น โฆษกกรมราชทัณฑ์ ระบุว่า คณะกรรมการฯ ได้ตรวจสอบจากรายชื่อผู้อนุญาตให้เข้าเยี่ยมเรียบร้อยแล้ว ไม่พบชื่อของ น.ส.วิลาวัลย์ แต่อย่างใด จึงต้องยอมรับว่าเป็นข้อบกพร่องของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่ไม่มีการตรวจสอบว่าบุคคลใดเดินทางเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังบ้างและไม่มีการทำสมุดบันทึกเข้าเยี่ยม ถือเป็นการปล่อยปละละเลย ส่วนประเด็นที่มีข้อสงสัยว่าทำไมเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช เพิ่งมีการนำตรวนข้อเท้าของกลางที่นายเชาวลิตสะเดาะไปมอบให้กับพนักงานสอบสวนนั้น เนื่องมาจากราชทัณฑ์เพิ่งได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าต้องการของกลางดังกล่าว จึงได้นำไปมอบให้เจ้าหน้าที่ ซึ่งหากพนักงานสอบสวนร้องขอ ทางเรือนจำฯ ก็ต้องส่งให้อยู่แล้ว เพียงแค่เพิ่งได้รับแจ้งว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องการจึงนำไปมอบให้เมื่อวานนี้ (2 พ.ย.)
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากการหลบหนีของนายเชาวลิตนั้น ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ออกหมายจับ 7 ผู้ช่วยเหลือเสี่ยแป้ง ได้แก่ 1.น.ส.ยุวเรศ กลศึก หรือหมวย (คนว่าจ้าง น.ส.วิลาวัลย์) 2.น.ส.วิลาวัลย์ หมื่นรักษ์ หรือไหม (คนเฝ้าไข้เสี่ยแป้ง) 3.นายจักรี แป้นน้อย หรือบิ๊ก 4.นายจีระวุฒิ ชุมศรี หรือปอย 5.นายคเนศ ทองประจง หรือบอยสลัม 6.น.ส.วิลาวัลย์ บุญจันทร์ หรือทราย (แฟนสาวนายบิ๊ก) และ 7.นายสุทธิวัฒน์ ขุนณรงค์ หรือหนอน ฐานความผิดร่วมกันกระทำการด้วยประการใดให้ผู้ถูกคุมขังตามอำนาจศาลซึ่งเป็นบุคคลที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไปหลุดพ้นจากการคุมขังไป โดยล่าสุดจับกุมได้ครบทั้งหมด 7 รายแล้ว และทั้งหมดไม่ได้รับการประกันตัวชั่วคราวแต่อย่างใด.