อย่างไรก็ตาม นอกจากการสนใจผ่านทางสถานการณ์ศึกและการดำเนินการช่วยเหลือแรงงานไทยที่ไปทำงานที่นั่นแล้ว หากจะ ทำความรู้จักอิสราเอล ให้มากขึ้น…กับ คำบอกเล่าของคนอิสราเอลต่อคนไทย ก็ฉายภาพ สะท้อนเรื่องราวของประเทศอิสราเอล ได้ชัดขึ้นในอีกมุม โดยเฉพาะ…

คำบอกเล่าต่อคนไทยจากทูตอิสราเอล

จากเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย

ทั้งนี้ ที่ผ่าน ๆ มาเคยมี “สาส์นเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย” ที่เป็นการ “บอกเล่าเรื่องราวของอิสราเอลต่อคนไทย” ในโอกาสวันชาติหรือในโอกาสเฉลิมฉลองการสถาปนาประเทศ ผ่าน “เดลินิวส์” ไว้หลายครั้ง เฉพาะทูตอิสราเอลคนปัจจุบัน คือ ออร์นา ซากิฟ ก็บอกเล่าไว้ 2 ครั้ง ซึ่ง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” พลิกแฟ้มมานำเสนอ โดยสรุปมีดังนี้…

…จาก ประเทศเกิดใหม่ของชาวยิว อิสราเอลมีการเปลี่ยนแปลงสู่ประเทศที่รุ่งเรือง เป็นสังคมหลากหลาย มีวัฒนธรรมที่ไม่หยุดนิ่ง มาตลอด 75 ปีนับแต่ สถาปนาประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2491 ทั้งนี้ ช่วงคริสตทศวรรษ 1950 อิสราเอลต้องฝ่าฟันอุปสรรคจากคลื่นผู้อพยพที่เข้าตั้งรกรากในประเทศเกิดใหม่ที่มีกว่า 2 เท่าของประชากรดั้งเดิม ประชากรจึงต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องที่ดินทำกินไม่อุดมสมบูรณ์ และการขาดแคลนน้ำ แต่กระนั้นนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรอิสราเอลก็ สามารถสร้างความก้าวหน้าสำคัญ ๆ ทั้งด้านการเกษตร การพัฒนาวิทยาการและนวัตกรรมระบบชลประทาน เพื่อแก้ปัญหาความแห้งแล้ง และเพิ่มผลผลิตการเกษตร และในทศวรรษนี้อิสราเอลได้ คิดนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ ให้เกิดประโยชน์

ต่อมาคริสตทศวรรษ 1960 เป็นช่วงที่ เศรษฐกิจอิสราเอลก้าวกระโดด เริ่มมีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรม เริ่มก้าวแรกการ ทำให้ทะเลทรายกลายเป็นสีเขียว โดยสร้างท่อส่งน้ำขนาดใหญ่นำน้ำจากทะเลสาบทางเหนือมาสู่ดินแดนอันแห้งแล้งทางใต้ของประเทศ แต่ถึงคริสตทศวรรษ 1970 อิสราเอลก็เผชิญความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทางสังคม จากคลื่นผู้อพยพจากประเทศต่าง ๆ ที่มาพร้อมวัฒนธรรมดั้งเดิม เกิด สงครามนองเลือด ยม คิปปูร์ ในปี พ.ศ. 2516 จนในปี 2519 ก็เกิดข้อตกลงสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับอียิปต์ที่เป็นประเทศอาหรับประเทศแรกที่รับรองการดำรงอยู่ของประเทศอิสราเอล ซึ่งในทศวรรษนี้อิสราเอล ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการพัฒนาสาขาต่าง ๆ โดยเฉพาะไฮเทค อุตสาหกรรม การแพทย์

อิสราเอล เฟื่องฟูทางเศรษฐกิจอย่างยิ่งในช่วงคริสตทศวรรษ 1980 โดยได้กลายเป็น ศูนย์กลางของนวัตกรรมเทคโนโลยี และผู้ประกอบการใหม่ มีบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่มาเปิดกิจการในอิสราเอล ซึ่งขยายผลให้ บริษัทต่าง ๆ กว่า 500 แห่งมีศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาอยู่ในอิสราเอล มาจนปัจจุบัน ขณะที่ช่วงคริสตทศวรรษ 1990 ก็ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทางการเมือง คืออิสราเอลลงนามในข้อตกลงออสโล เมื่อปี พ.ศ. 2536 และมีการก่อตั้ง เขตปกครองปาเลสไตน์ แต่ทศวรรษนี้ก็มาพร้อม ความรุนแรง และ การก่อการร้าย ในอิสราเอลอย่างไรก็ดี ได้มีการลงนามข้อตกลงสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับจอร์แดน ปี พ.ศ. 2537 เป็นการยุติภาวะ สงคราม ของประเทศทั้ง 2 ที่มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491

ในขณะเดียวกัน อิสราเอลต้องเผชิญกับปัญหาคลื่นผู้อพยพอีกครั้ง คราวนี้เป็นชาวยิวกว่า 1 ล้านคนจากอดีตสหภาพโซเวียต ทำให้จำนวนประชากรอิสราเอลเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20 ในเพียงทศวรรษเดียว แต่ช่วงเวลานี้วัฒนธรรมของอิสราเอลก็เฟื่องฟูอย่างแท้จริง ทั้งดนตรี วรรณกรรม ภาพยนตร์ และอุตสาหกรรมไฮเทคของอิสราเอลก็เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงคริสตทศวรรษ 1990 ด้วยการนำของบริษัทใหญ่ ๆ มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของกองทุนสำหรับบริษัทเกิดใหม่ และความก้าวหน้าก็ไม่หยุดนิ่ง จนอิสราเอลติดอันดับสูงสุดของโลกด้านการลงทุนในกองทุนเพื่อสนับสนุนบริษัทเปิดใหม่

คริสตทศวรรษ 2000 อิสราเอลก็เริ่มต้นด้วย การก่อการร้ายและการใช้ความรุนแรง รอบใหม่ ที่มาพร้อมกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปที่รัฐบาลอิสราเอลพยายามปรับปรุงมาโดยตลอดก็ประสบผลสำเร็จ อิสราเอลสามารถก้าวข้ามวิกฤติในปี พ.ศ. 2551 ได้อย่างไม่บอบช้ำ และในทศวรรษนี้รัฐบาลอิสราเอลได้เปิดตัวโครงการ “ยอซมา (Yozma)”ที่สร้างแรงจูงใจให้บริษัทมาลงทุนในกองทุนเพื่อบริษัทเปิดใหม่ ซึ่งด้วยวิธีนี้เองที่ทำให้ระบบนิเวศของบริษัทเปิดใหม่เจริญเติบโตยิ่งอย่างต่อเนื่อง และก็ในช่วงเวลานี้เช่นกันที่ นักวิทยาศาสตร์ของอิสราเอลหลายคนได้รับรางวัลโนเบล

และระหว่าง คริสตทศวรรษ 2010 “นครเทล อาวีฟใน อิสราเอล ได้รับการขนานนามว่า เป็นเมืองหลวงแห่งบริษัทเปิดใหม่เพราะมีบริษัทเกิดใหม่จำนวนมาก จะเป็นรองก็เพียงซิลิคอน วัลเลย์ ของสหรัฐอเมริกาเท่านั้น มีการเปิดไซเบอร์สปาร์ค (CyberSpark) ที่เป็นศูนย์ไซเบอร์แห่งชาติ ทำให้ เทคโนโลยีด้านไซเบอร์ของอิสราเอลพัฒนาเติบโตอย่างโดดเด่น อันส่งผลให้อิสราเอลติดอันดับท็อป 10 ของประเทศแห่งนวัตกรรมที่ทรงพลังที่สุดในโลก

ทั้งนี้ เหล่านี้คือโดยสังเขปจาก สาส์นเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยคนปัจจุบัน… ออร์นา ซากิฟ ที่ บอกเล่าเรื่องราวอิสราเอลต่อคนไทย ซึ่งก็น่าจะตอบโจทย์… ทำไมแรงงานไทยสนใจไปทำงานที่อิสราเอลกันมาก?

อิสราเอล-ไทย นั้น มีสัมพันธ์ไม่น้อย

ในมุมนี้ “ทูตอิสราเอลก็ได้บอกเล่าไว้”…

อะไร?-อย่างไร?…ตอนหน้ามาดูต่อ…