ทั้งนี้ ตั้งแต่ยุค “รัฐบาลลุงตู่” หลายหน่วยงานก็มีเสียงขานรับ “ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทย” ส่วนจะ “มีอะไรเป็นรูปธรรมจริง ๆ บ้าง??” นั่นก็ว่ากันไป… แล้วพอมาถึง “รัฐบาลเสี่ยนิด” ก็มีนโยบาย“1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์” ซึ่งพรรคเพื่อไทยชูไว้ตั้งแต่ช่วงหาเสียง ซึ่งก็ยิ่งโหมกระพือคำ ๆ นี้…

“อะไร ๆ” ก็ “ถูกโยงซอฟต์พาวเวอร์”

ขณะที่ “รัฐบาลได้ชูคำนี้เป็นนโยบาย”…

ท่ามกลางเสียงปุจฉา “อะไร?-ยังไงล่ะ?”

ทั้งนี้ เรื่อง “ซอฟต์พาวเวอร์” นี้ กับรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานผลักดันนโยบายเรื่องนี้ และมี แพทองธาร ชินวัตร เป็นรองประธาน…โดยมีการโพสต์ข้อความที่แสดงถึงความเข้าใจเกี่ยวกับ “ซอฟต์พาวเวอร์” ที่สุดแล้วจะมีสัมฤทธิ์ผลอย่างไร?…ก็ต้องรอดูกัน… อย่างไรก็ตาม ก่อนจะรอดูอนาคต…ลองย้อนมองอดีตว่า ซอฟต์พาวเวอร์ของไทยที่ผ่านมาไทยทำสำเร็จมากน้อย?-แค่ไหน?” ก็น่าจะดีซึ่งกรณีนี้ก็ได้มีนักวิชาการสะท้อนไว้น่าคิด โดย นิฌามิล หะยีซะ นักวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เคยสะท้อนถึง “กรณีซอฟต์พาวเวอร์ไทย” ไว้ผ่านบทความที่เผยแพร่ใน www.sac.or.th

ในบทความชื่อ “อะไร ๆ ก็ซอฟต์พาวเวอร์” นักวิจัยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรท่านนี้สะท้อนไว้ว่า… ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา “ซอฟต์พาวเวอร์” เป็นหนึ่งในศัพท์ที่ ถูกพูดถึงกว้างขวาง โดยภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน เหมือนเป็นวาระใหม่นโยบายทางวัฒนธรรมของไทย แต่อย่างไรก็ตาม… ดูเหมือนสังคมไทยยังมีความไม่เข้าใจต่อซอฟต์พาวเวอร์ ในหลายมิติ อาทิ ในชีวิตประจำวัน การเคลื่อนไหวภาคประชาชน นโยบายพรรคการเมือง รวมถึงนโยบายภาครัฐ ที่เรื่องนี้อาจจะเป็น…

“อุปสรรคขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์”

หลังจากคำว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” ติดปากผู้คนทั่วโลกมากขึ้น ในทางวิชาการจึงพยายามสำรวจแนวคิด ทฤษฎี และปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น โดยย้อนกลับไปถึง ผู้ริเริ่มแนวคิดซอฟต์พาวเวอร์ คือ Joseph Nye และ Robert Keohane  ที่นิยามคำนี้ไว้ว่า คือการใช้อำนาจที่ปราศจากกำลังทหาร (non-military power) ที่ส่งผลต่อพฤติกรรม รสนิยม ความชอบ มุมมอง แนวคิด ทัศนคติ ซึ่ง… ตรงข้ามกับ “ฮาร์ดพาวเวอร์” การใช้อำนาจแบบคำสั่ง โฆษณาชวนเชื่อ ที่เป็นรูปแบบดั้งเดิม

สำหรับ “ซอฟต์พาวเวอร์ในประเทศไทย” ทางนักวิจัยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรสะท้อนเอาไว้ว่า… ตลอดเวลาที่ผ่านมา หลังจากสังคมไทยเริ่มรู้จักคุ้นเคยกับศัพท์คำนี้ ก็ได้มีนักวิชาการหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า… การทำความเข้าใจซอฟต์พาวเวอร์ของสังคมไทยมักจำกัดอยู่เพียงความสัมพันธ์แบบแคบ ๆ ระหว่างนโยบายทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ หรือที่ถูกเรียกเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดย มักมีความเข้าใจว่า…ซอฟต์พาวเวอร์คือการส่งเสริมทุนทางวัฒนธรรม ที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ผ่านกระบวนการทำวัฒนธรรมให้กลายเป็นสินค้า ซึ่งมีการตั้ง “ข้อสังเกต” ว่า…ทำให้การผลักดันเรื่องนี้…

“ก้าวไม่พ้นซอฟต์พาวเวอร์แบบไทย ๆ”

ด้วยเหตุนี้…ทางนักวิจัยท่านเดิมจึงได้มีการชวนให้สังคมไทยหันมาพิจารณาว่า… “ซอฟต์พาวเวอร์น่าจะไม่ใช่เรื่องของวัฒนธรรมเพียงลำพัง” แต่เป็นเรื่องของการใช้อำนาจผ่านวัฒนธรรมและอำนาจของวัฒนธรรมด้วยตัวของมันเอง ดังนั้น สินค้าทางวัฒนธรรม การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม การสร้างตราสินค้าทางวัฒนธรรม เป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ใช้วัฒนธรรมหรือความสร้างสรรค์เป็นทุน แต่ไม่ใช่จากซอฟต์พาวเวอร์โดยตรง ซึ่งจากความเข้าใจที่ มองว่าซอฟต์พาวเวอร์คือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อาจจะทำให้ “ไทยติดกับดักเศรษฐกิจสร้างสรรค์” จนมองเรื่องนี้ว่าเป็นสูตรสำเร็จของซอฟต์พาวเวอร์

อย่างไรก็ดี แต่…หากจะ “ทำให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์กลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์” ได้นั้น…กรณีนี้ “ภาครัฐจะต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้ควบคุมนโยบาย เปลี่ยนเป็นผู้สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเกิดความสร้างสรรค์” เช่น จัดให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์ (creative ecology) ซึ่งทางนักวิจัยท่านนี้ก็ยังได้ชี้ไว้ว่า… ปัญหาที่ฉุดรั้งซอฟต์พาวเวอร์ไทย” นั้นยังคงเป็นเรื่องการ “ขาดการส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออกที่เป็นหัวใจสำคัญในการสร้างสรรค์ศิลปะหรือนวัตกรรม” ที่ทำให้ “สินค้าทางวัฒนธรรมของไทย” นั้นเปรียบเสมือนเป็น “สินค้าผ่าน QC ในสายตารัฐ”…

มากกว่าเป็น “ผลิตผลความสร้างสรรค์”

ทั้งนี้ ในช่วงท้ายบทความ “อะไร ๆ ก็ซอฟต์พาวเวอร์” ยังมีส่วนที่ระบุไว้ด้วยว่า… นอกจาก ต้องทบทวน “ความแตกต่าง” ของ “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” กับ “ซอฟต์พาวเวอร์” แล้ว…ก็มีโจทย์ที่ควรหาคำตอบร่วมกันคือ “ไทยจะสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อซอฟต์พาวเวอร์ไทยอย่างไร? เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่แค่นำวัฒนธรรมมาทำเป็นสินค้าหรือบริการ แต่อาจต้องพิจารณาองค์ประกอบหลายส่วนพร้อมกัน ทั้งนโยบาย กฎหมาย สภาพแวดล้อม รวมถึงทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่ไทยก็อาจยังมีไม่เพียงพอและ… ที่สำคัญ “ต้องกำหนดให้ชัดเจน ว่า…“ซอฟต์พาวเวอร์นี้ทำโดยใคร? และทำเพื่ออะไร?”

นี่อาจ “ช่วยให้ไทยประสบความสำเร็จ”

ช่วยให้ “ซอฟต์พาวเวอร์ไทยได้ไปต่อ”

“มิใช่แค่…อะไร ๆ ก็ซอฟต์พาวเวอร์”.