แก่นของการสร้างวัตถุมงคลขึ้นมานั้น ก็เพื่ออุดรอยรั่วของคนเรา เพราะหัวใจของคนเรามีช่องโหว่ ซึ่งพระพุทธรูป หรือพระพิมพ์ เป็นเพียงเปลือกของพระพุทธศาสนา เป็นเพียงประตูบานหนึ่งที่นำไปสู่คำสอนของพระพุทธเจ้า ที่เป็นแก่นของพระพุทธศาสนา เป็น “หัวใจสำคัญ” ที่ทาง “กบ-ณรงค์ชัย โตอินทร์” ช่างทำพระพิมพ์แห่งเมืองสุโขทัย “ศิลปินพุทธศิลป์” ย้ำไว้กับ “ทีมวิถีชีวิต” ซึ่งนอกจากศิลปินคนนี้จะเป็นผู้สืบเชื้อสายตระกูลช่างแกะสลักไม้ทำพระพุทธรูปแล้ว เขายังเป็น “นักเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์” เพื่อให้ความรู้กับคนทั่วไปที่สนใจอีกด้วย โดยนำเรื่องการ “พิมพ์พระ-พระพิมพ์” มาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสื่อสารและจูงใจให้คนเข้ามาเรียนรู้ และวันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับเขาคนนี้กัน…

สืบเนื่องจากเมื่อเร็ว ๆ นี้ “ทีมวิถีชีวิต ได้มีโอกาสร่วมคณะเข้าเยี่ยมชม “ศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์เมืองสุโขทัย” ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของสุโขทัย รวมถึงได้มีโอกาสลองทำกิจกรรมพิมพ์พระแบบโบราณ อันเนื่องจากการที่ทาง KTC World Travel Service และหมวดท่องเที่ยวสายการบินของเคทีซี หรือบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จับมือกับบางกอกแอร์เวย์ส, เซเรนนาต้า โฮเทลส์ แอนด์ รีสอร์ท กรุ๊ป, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุโขทัย และ อพท. จัดโปรแกรมท่องเที่ยวใหม่ในพื้นที่ จ.สุโขทัย ภายใต้ชื่อโครงการ “บิน เที่ยวสุโข โลว์คาร์บอนฯ 3 วัน 2 คืน” ในโอกาสนี้ก็ได้พูดคุยกับ “ศิลปินพุทธศิลป์” คือ “กบ-ณรงค์ชัย โตอินทร์” ด้วย ซึ่งช่างทำพระพิมพ์แห่งเมืองสุโขทัย และผู้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์เมืองสุโขทัย ได้เล่าจุดเริ่มต้นที่ทำให้หลงรักประวัติศาสตร์และการทำพระพุทธรูปกับพระเครื่องให้ฟังว่า เขาเป็นคนที่รักและชอบเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ รวมถึงชอบพระพิมพ์พระเครื่องมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งตอนอายุ 8 ขวบเขาชอบไปนั่งฟังเรื่องราวประวัติศาสตร์ในวงสนทนาของคนเฒ่าคนแก่ แต่คุณลุงของเขาเห็นว่าเป็นเด็กมานั่งฟังในวงผู้ใหญ่ไม่เหมาะสม เพราะสมัยนั้นผู้ใหญ่มักจะชอบห้ามเด็กมานั่งเสนอหน้าในวงที่ผู้ใหญ่คุยกัน เขาก็เลยไปเรียนดนตรีไปตีกลองเพื่อให้มีโอกาสได้นั่งอยู่ในวงผู้ใหญ่ เพราะผู้ใหญ่คนเฒ่าคนแก่มักจะเรียกให้ไปเล่นดนตรีให้ฟัง ทำให้มีโอกาสนั่งฟังและจดจำเรื่องราวประวัติศาสตร์

พระพิมพ์สุโขทัย

เนื่องจากคนยุคเก่าเขาจะไม่นิยมใส่เสื้อ โชว์รอยสักยันต์เต็มตัวกับชอบคล้องพระเต็มคอ และก็ชอบมาพูดคุยถึงพุทธคุณของพระแต่ละองค์ที่คล้องคอ ทำให้เรื่องราวที่ผมได้ฟังจึงเป็นเรื่องราวแบบเดิม ๆ เป็นพัน ๆ ครั้ง จนผมจำได้ขึ้นใจว่าพระองค์นี้มาจากที่ไหนวัดไหน ณรงค์ชัยกล่าว พร้อมบอกอีกว่า การได้ฟังเรื่องราวประวัติศาสตร์ เรื่องราวพระเครื่อง เป็นเรื่องตื่นตาตื่นใจผมมากมาตั้งแต่ตอนนั้น ทำให้เราชอบและก็มาคิดว่าใครเป็นคนทำพระเครื่อง ทำออกมาเพื่ออะไร ผมก็เลยเริ่มศึกษาเรียนรู้ อ่านหนังสือประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพระเครื่องและพระพุทธรูปมาตลอด ตอนนั้นถุงย่ามที่ใช้ไปเรียนนั้นจะมีหนังสืออยู่ 2 ประเภท คือหนังสือเรียน และหนังสือประวัติศาสตร์ 

ส่วนเส้นทางชีวิตของณรงค์ชัย ก่อนที่จะมาเป็นช่างพิมพ์พระและมาก่อตั้งศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์เมืองสุโขทัยนั้น เจ้าตัวเล่าว่า หลังจากที่เรียนจบช่างกล สาขาการผลิต ก็ไปทำงานที่ จ.ชลบุรี ทำอยู่ระยะหนึ่งก็ออกจากงาน และออกเดินทางค้นหาตัวเอง โดยไปทำงานในอาชีพต่าง ๆ ไม่ว่าจะงานช่างปูน งานก่อสร้าง งานรับจ้างทั่วไป และก็ได้ทำงานกับมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทำให้มีโอกาสได้เข้าไปอยู่ในป่าลึก ๆ ถึงเขตแดนเมียนมา จนคุณพ่อเสียชีวิต ก็เลยต้องตัดสินใจลาออกกลับมาอยู่บ้าน เพื่อทำหน้าที่เป็นเสาหลักแทนคุณพ่อในการดูแลครอบครัว คอยดูแลคุณแม่และน้อง ๆ ซึ่งเมื่อกลับมาอยู่บ้านก็ต้องหารายได้ จึงมานั่งคิดว่า เราจะอยู่กับอะไรได้นานและมีความสุขที่สุด คำตอบที่อยู่ในใจก็คือ พระพุทธรูปกับพระเครื่อง เพราะทั้งคุณพ่อและคุณลุงนั้นเป็นช่างแกะสลักไม้ทำพระพุทธรูป และเขาเองก็เรียนรู้เรื่องนี้มาตั้งแต่เด็ก อย่างไรก็ตาม เขาก็มาเกิดคำถามอีกว่า เขาจะแกะสลักไม้แบบพ่อไหม หรือจะทำพระพิมพ์ดี ซึ่งด้วยความที่สนใจเรื่องงานดินมากกว่า เขาจึงเริ่มศึกษาเรียนรู้อย่างจริงจังเกี่ยวกับการทำพระพิมพ์ดินแทนการแกะสลัก

นอกจากจะทุ่มเทให้กับการเรียนรู้การทำพระพิมพ์จากดินแล้ว เขายังเริ่มตามหาพระสุโขทัยรูปแบบต่าง ๆ เพื่อนำมาเก็บรวบรวม โดย ณรงค์ชัย เล่าถึงที่มาของ พระพิมพ์สุโขทัย รูปแบบต่าง ๆ ว่า เขารวบรวมพระสุโขทัยที่เป็นของโบราณมา แล้วก็นำมาพิมพ์ขึ้นรูปเป็นแม่พิมพ์ โดยเขาเริ่มจากพระที่มีเป็นของตัวเองเพียงแค่ 5 องค์ และใช้เวลากว่า 20 ปีในการรวบรวมเพิ่มเติม ซึ่งตอนนี้เขามีพระสุโขทัยที่เก็บรวบรวมเอาไว้ได้ถึง 850 แบบ

ส่วนหนึ่งของขั้นตอนพิมพ์พระ

พิมพ์ของพระเครื่องที่มีอยู่นั้น จะแกะถอดพิมพ์มาจากของแท้ทุกองค์ ซึ่งหายากมาก แต่เราโชคดีที่เกิดมาเป็นลูกยาม ซึ่งอาชีพของยามนั้นต้องเดินตรวจตามวัดต่าง ๆ จึงรู้จักวัดทุกวัด ตั้งแต่ยอดเขาจนถึงริมแม่น้ำยม ทำให้รู้ว่าควรเริ่มค้นหาพระได้จากที่ไหนบ้าง และก็โชคดีที่ปู่เป็นคนกว้างขวาง ผมก็ได้บารมีจากปู่บ้าง ไปขอเขาบ้าง ไปช่วยเหลือเขาบ้าง เขาถึงยอมให้เราเอาพระมาถอดพิมพ์ ณรงค์ชัย กล่าว

สำหรับ แบบพระที่ได้มายากมากที่สุด นั้น เขาบอกว่า จะเป็นพระมอญ ซึ่งเป็นศิลปะแบบอินเดียใต้ ที่ชาวบ้านมักจะเรียกว่า “พระร่วงนั่งซุ้มระฆัง” โดยเขาตามหามาหลายสิบปี และก็มีต้นแบบอยู่ในพิพิธภัณฑ์รามคำแหงเท่านั้น ซึ่งเขาต้องไปยืนดูเป็นสิบปี จนจดจำลักษณะรายละเอียดได้ทุกเส้นสาย และก็บังเอิญด้วยความโชคดี มีวันหนึ่งทางองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. ได้มีการรวบรวมศิลปินที่ทำพระมาเจอกันที่วัดตระพังทอง ซึ่งเขารู้ว่าอาจารย์จากเมืองกำแพงเพชรมีพระองค์นี้ เขาก็เลยตัดสินใจเข้าไปขอถอดพิมพ์ และก็รู้สึกดีใจมากที่ในที่สุดก็ได้พิมพ์พระที่ตามหามานับสิบปีมาครอบครองได้สำเร็จ ส่วน พระองค์ที่รักมากที่สุด เป็น “ปางปาลิไลยก์” ซึ่งเป็นพระที่พระยาลิไทสร้างตอนบวช เป็นรูปพระพุทธเจ้านั่งบนดอกบัว มีช้างและลิงอยู่ 2 ข้าง ด้านล่างมีพระพุทธเจ้าปางปรินิพพาน

ให้ความรู้พระพิมพ์แก่นักท่องเที่ยว

ผมพยายามตามหาแม่พิมพ์อยู่นานก็ไม่เจอ จนที่สุดไปเจออยู่ที่อาจารย์ที่เป็นปราชญ์ชาวบ้านที่อยู่ห่างจากบ้านไปแค่ประมาณ 1 กิโลเมตร ก็ไปคุยกับแกอยู่ 3 ปี จนแกยอม เราก็ได้ถอดพิมพ์มา และสร้างไปให้ 1,000 องค์ แกก็นำไปฝังในองค์เจดีย์ เขาเล่าถึงเบื้องหลังของพระองค์ที่เขารักมากที่สุด

นอกจากนี้ ณรงค์ชัย ยังเริ่มทำพระพิมพ์ขายให้กับนักท่องเที่ยว เพื่อเป็นของที่ระลึก เพื่อเป็นของฝากอีกด้วย โดยมี อพท. เข้ามาพูดคุยแนะนำให้เขานำความรู้ทางประวัติศาสตร์ และการพิมพ์พระ มาช่วยสอนให้นักท่องเที่ยว ทำให้เขาก่อตั้ง ศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์เมืองสุโขทัย ขึ้นในปี 2550 สำหรับเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์สุโขทัย และเชื่อมโยงกิจกรรมพิมพ์พระแบบโบราณ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น

ภรรยาช่วยสอนนักท่องเที่ยว

ผมคิดว่า การบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ และการสอนให้นักท่องเที่ยวทำพิมพ์พระ จะทำให้นักท่องเที่ยวเข้าใจความเป็นสุโขทัยมากขึ้น ซึ่งเจตนาในการสอนทำพระพิมพ์ ผมมองว่าเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง แม้พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนให้กราบไหว้วัตถุ แต่พระพุทธรูป พระพิมพ์ ก็เป็นเปลือกของพระพุทธศาสนา โดยพระสามารถเป็นประตูที่เข้าไปหาแก่นธรรมของพระพุทธเจ้า ที่บอกว่าทุกคนต้องทำความดี เข้าถึงอริยสัจ 4 ต้องมีมรรค 8 ที่อย่างน้อยคนที่เห็นพระพุทธรูป หรือพระพิมพ์ ก็จะเป็นเส้นทางไปสู่การเข้าใจในพระพุทธศาสนา หรือได้เจออีกหนึ่งเส้นทางที่ทำให้คนมีสติมากขึ้น เป็นเป้าหมายสำคัญของเรื่องนี้ ที่ณรงค์ชัยได้ย้ำไว้

ก่อนจะจบการสนทนากัน กบณรงค์ชัย กล่าวกับ ทีมวิถีชีวิตว่า การทำพระพิมพ์ของคนในสมัยสุโขทัย ชาวบ้านเป็นผู้ทำพระ แล้วจึงนำไปถวายวัด ซึ่งต่างจากสมัยนี้ที่ทางวัดเป็นผู้ทำพระ แล้วชาวบ้านไปรับมาบูชา ซึ่งปัจจุบันการซื้อการบูชาพระพิมพ์ พระเครื่อง พระพุทธรูป อยู่ที่ว่าจะมองที่คุณค่าหรือมูลค่า และเขาก็ทิ้งท้ายว่า ถ้ามองกันที่มูลค่า ก็ระวังถูกหลอก!!! แต่หากมองที่คุณค่า ต่อให้คล้องพระปลอมก็ตาม แต่ถ้าทำตามคำสอนพระพุทธเจ้า พระนั้นก็จะคุ้มครองคุณได้ และต่อให้คล้องพระแท้ แต่ไม่ได้ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า พระก็ไม่มีคุณค่า และพระองค์นั้น

ก็จะกลายเป็นเพียงแค่ก้อนดิน“.

‘ตำนาน’ ของ ‘พระพิมพ์สุโขทัย’

“กบ-ณรงค์ชัย โตอินทร์” เล่าไว้ด้วยว่า คนโบราณสุโขทัยสร้างพระเพื่อการสืบทอดพระพุทธศาสนา โดยเชื่อกันว่าหากพระศาสนามีอายุครบ 5,000 ปีแล้วจะหายไปจากโลกนี้ แต่ก็จะยังมีพระพิมพ์เหล่านี้คงอยู่เพื่อเป็นตัวแทนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพื่อให้คนสืบหาความหมายในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าจากพระพิมพ์ที่ได้สร้างไว้ ดังนั้นในความหมายของคนโบราณในการสร้างพระพิมพ์ขึ้นนั้น ก็คือการสร้างรูปพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยนำวัสดุ เช่น ดิน หรืออื่น ๆ กดลงในพิมพ์ ซึ่งพระพิมพ์เมืองสุโขทัยจะถูกสร้างขึ้นตาม 4 อิริยาบถของพระพุทธเจ้า คือ นั่ง นอน ยืน เดิน โดยศิลปะพระในแบบสุโขทัยขึ้นชื่อเรื่องความอ่อนช้อย ซึ่งพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยนั้นจะมีความอิ่มเอิบ สวยงามลงตัว ที่เมื่อได้ชมแล้วจะทำให้ผู้ชมเกิดความสุขใจ นอกจากนี้ เขายังระบุว่า “ลักษณะเด่นพระสุโขทัย” นั้น จะงดงามตามลักษณะของ “มหาปุริสลักษณะ” หรือลักษณะของมหาบุรุษ โดยลักษณะความเป็นมหาบุรุษของพระพุทธเจ้า 32 ประการ อาทิ พระพักตร์เป็นรูปไข่ แขนยาวเสมอหัวเข่า รอยพระพุทธบาทจะราบเรียบ สื่อถึงการเป็นผู้ที่ปลอด “อสวกิเลส” ทั้งปวง ขณะที่นิ้วพระบาทจะเท่ากัน และจะมีทรวดทรงองค์เอวแบบสตรี หูยานเสมอหัวไหล่ เนื่องจากพระองค์เป็นเจ้าชายต้องมีการระเบิดหู ฉะนั้นหูพระพุทธรูปจึงจะต้องมีรอย.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน