ทำให้มีหลากหลายองค์กรหยิบยกแต่ละมุมมองที่ต้องติดตามต่อ มาเสวนาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อไม่อยากให้ปัญหานี้จบลงไปแบบง่าย ๆ วันก่อนทีมข่าว 1/4 Special Report มีโอกาสรับฟังเสวนาของทาง สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย  (TIJ) หัวข้อ อำนาจตำรวจ ส่องการใช้วิธี “เค้น” หาความจริง โดยเชิญผู้อยู่ในแวดวงกระบวนการยุติธรรมและนักวิชาการมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ผ่านทางระบบซูมเอาต์

เร่งแก้ปมยาเสพติดก่อนระบบล่มสลาย

นายวันชัย รุจนวงศ์ กรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม และ อดีตอธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศ และอดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า กรณีผู้กำกับโจ้ เป็นเพียงปัญหาเล็ก ๆ ในระบบยุติธรรม ที่ตอนนี้บิดเบี้ยวจากความเป็นจริง โดยเฉพาะนโยบายปราบปรามยาเสพติด ซึ่งที่ผ่านมามีกระบวนการละเมิดสิทธิของผู้ต้องหาอยู่เป็นประจำ เนื่องจากบทลงโทษมีความรุนแรงมากขึ้น และให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ที่ผ่านมามีการใช้กฎหมายเพื่อจับกุมผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่น้อยมาก ส่วนใหญ่เน้นจับผู้ค้ารายย่อย แต่ในระหว่างจับก็มักจะมีข่าวถึงกระบวนการต่อรองสินบน ในระหว่าง 3 วันที่ไม่มีการลงบันทึกประจำวัน บางรายต่อรองสินบนสำเร็จจะได้รับการปล่อยตัว แล้วคดีนั้นก็จบไป

ดังนั้นกฎหมายยาเสพติดจึงถูกใช้ในทางที่ผิด เพราะเหยื่อที่ถูกจับกุม พูดอะไรก็มักไม่มีคนเชื่อ เนื่องจากทัศนคติลบของสังคม จึงทำให้กระบวนการซ้อมทรมาน และเรียกสินบนของเจ้าหน้าที่มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งถ้าดูจากสถิติของนักโทษในเรือนจำจะเห็นว่า ผู้ต้องหาส่วนใหญ่เป็นผู้ค้ายาเสพติดรายย่อย โดยเฉพาะยาบ้า ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้เสพ ที่ต้องค้ายาเพื่อหาเงินมาเสพ ดังนั้นการปราบปรามโดยไม่มุ่งเน้นจับผู้ค้ารายใหญ่จึงทำให้ปัญหายาเสพติดในไทยไม่หมดไป

“ตอนนี้นโยบายและกฎ หมายยาเสพติด เป็นการทำลายทรัพยากรมนุษย์ และสร้างอาชญากรใหม่ เพราะไม่มีที่ไหนสร้างอาชญากรได้ดีเท่ากับในคุก การเอาคนที่ติดยาหรือจับกุมผู้ค้ารายย่อยมาไว้ในคุก เมื่อได้คลุกคลีกับผู้ค้าเหมือนกัน พอปล่อยตัวออกมาไม่มีอนาคตก็ต้องกลับไปค้ายา และกลายเป็นผู้ร้ายที่เชี่ยวชาญมากขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งนี้ทำให้สังคมไทยมีผู้ที่พร้อมจะค้ายารายใหม่มากขึ้นเรื่อย ๆ จึงทำให้เราต้องมาทบทวน ไม่เช่นนั้นระบบกระบวนการยุติธรรมจะล่มสลาย”

อดีตอธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศ กล่าวต่อว่า ถ้าดูสถิติคดีอาญาที่มีทั้งประเทศประมาณ 8 แสนคดี แต่ 35 เปอร์เซ็นต์ เป็นคดียาเสพติด ซึ่งแนวทางแก้ไขควรไปศึกษาระบบของยุโรป เช่น เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส ที่แยกกันระหว่าง ผู้ค้ารายใหญ่ ที่ปราบปรามจริงจัง ส่วน ผู้ค้ารายย่อย ที่ติดยาจะมีคลินิกคอยช่วยเหลือ มาลงทะเบียนเพื่อรับยาและต้องใช้ยาตรงนั้น ห้ามนำออกจากคลินิก เพื่อให้คนกลุ่มนี้เลิกเสพจะได้ไม่ต้องไปขายยาเสพติดและมีการบำบัดโดยจิตแพทย์

ถ้ามองกระบวนการสอบสวน ที่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาสอบสวนตำรวจที่กระทำผิดกันเอง แทบจะไม่มีที่ไหนในโลกทำแบบนี้ เช่น สหรัฐอเมริกา ถ้าคนในหน่วยงานทำผิด ต้องให้หน่วยงานอื่นเข้ามาสอบสวน ดังนั้นขบวนการยาเสพติดทำให้กระบวนการยุติธรรมล้มเหลว เพราะทุกคนมัวแต่ไปวุ่นวายอยู่กับคดียา ในขณะที่คดีอื่น ๆ มีไม่ถึง 20% ซึ่งกระบวนการแก้ไขปัญหายาเสพติดของไทยแก้อย่างผิดวิธีแต่ก็ยังดึงดันแบบเดิม ๆ อยู่ และโดยส่วนตัวยังเชื่อว่า การปฏิรูปตำรวจที่ทำอยู่ไม่น่าจะประสบความสำเร็จ

สร้างกระบวนการตรวจสอบอย่างโปร่งใส

ด้าน ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีมุมมองว่า กรณีผู้กำกับโจ้ สะท้อนถึง กระบวนการทำงานของตำรวจ ที่มุ่งเน้นป้องกันปราบปรามและรักษาความสงบเรียบร้อย แต่ยังขาดความคิดในการปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐค่อนข้างมาก เช่น หลังจับกุมตัว สามารถควบคุมตัวได้  3 วัน ก่อนนำตัวไปยังสถานที่ทำการของพนักงานสอบสวน จึงเป็นความเสี่ยงที่ช่วงเวลานี้อาจเกิดอะไรขึ้นกับผู้ต้องหา

“ทั้งที่ในปัจจุบันกระบวนการค้นหาหลักฐานมีหลายวิธี เช่น กระบวนการนิติวิทยาศาสตร์ หรือการใช้เทคนิคในการสอบสวน ซึ่งในทางปฏิบัติ ตำรวจที่ต้องทำหน้าที่สืบสวน ยังขาดการอบรมเทคนิคการทำงานใหม่ ๆ เพราะแต่ละวันมีคดีที่ต้องทำจำนวนมาก”

จากเหตุการณ์นี้ การแก้ปัญหาต้องสร้างระบบการตรวจสอบเพื่อสร้างความโปร่งใส ซึ่งในหลายประเทศบังคับว่า หากมีการสอบสวนต้องมีการบันทึกวิดีโอเทปในการสอบสวน เพื่อแสดงถึงความโปร่งใส แม้กระทั่งการจับกุมก็ต้องมีบันทึก หากไม่มีบันทึกก็อาจไม่นับรวมว่าเป็นพยานหลักฐานในคดี ขณะเดียวกัน อัยการควรเข้าไปมีส่วนร่วมในการสอบสวนคดีตั้งแต่ต้น และอัยการสามารถมาตรวจสอบความชอบธรรมทางกฎหมายของพยานหลักฐานต่าง ๆ ได้ตั้งแต่ต้น เพราะการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับกระบวนการยุติธรรมได้ ต้องสามารถลงโทษคนที่แตกแถวได้อย่างตรงไปตรงมา

หนุนดึง “อัยการมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น

น.ส.ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มองว่า ประเด็นการซ้อมทรมานในหลายประเทศทั่วโลก ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเต็มที่ แม้จะมีอนุสัญญาการต่อต้านการทรมาน ที่มุ่งหมายจะยุติการใช้อำนาจความรุนแรงที่อยู่นอกกฎหมาย ซึ่งในระบบก็มีการใช้ความรุนแรงอยู่ โดยรัฐยอมรับให้ใช้ได้ แต่ก็มีหลายเรื่องที่อยู่นอกกระบวนการที่กฎหมายยอมรับ

สิ่งสำคัญต้องมีการแก้ไขระบบยุติธรรม โดยเฉพาะการตรวจสอบ ซึ่งต้องมีการบันทึกการทำงาน แม้ที่ผ่านมาตำรวจจะมีการบันทึกอยู่แล้ว แต่ควรจะต้องทำให้สม่ำเสมอในทุกคดี ขณะเดียวกันองค์กรอื่นจะต้องสามารถเข้ามาตรวจสอบการทำงานได้ ทั้งในกระบวนการและนอกกระบวนการ เช่น อัยการจะต้องสอบบันทึกการทำงานของตำรวจว่า บันทึกเหล่านี้มีอยู่อย่างถูกต้องหรือไม่ หากมีการโต้แย้งจากผู้ต้องหาจะต้องมีบุคคลที่สามเข้ามาตรวจสอบทั้งฝ่ายตำรวจและอัยการที่ทำคดีได้

ควรมีเครื่องมือการสอบสวนในวิธีอื่น ๆ คือ เราต้องหยุดความคิดที่ว่าความรุนแรงจะนำมาซึ่งความจริง เพราะมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยันแล้วว่า การทำวิธีนี้บางครั้งอาจจะได้ข้อมูลที่เกินจริง และบิดเบี้ยวไปจากเดิม ขณะเดียวกันก็นำไปสู่กระบวนการคอร์รัปชั่น

โพลชี้ปรับปรุงกระบวนการสอบสวนอาญา

ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผอ.สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เปิดเผยถึง ผลโพล : การใช้อำนาจของตำรวจ เพื่อค้นหาความจริงคดี “ผกก.โจ้” ที่มีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 5,291 คน ซึ่งมี 94% แสดงความคิดเห็นต้องเร่งปรับปรุงกระบวนการสอบสวนทางอาญาในทุกมิติ  1. ควรปรับปรุงกลไกการสอบสวน ให้มีประสิทธิภาพ น่าเชื่อถือ ไม่ละเมิดสิทธิของประชาชน  2. ควรส่งเสริมให้พนักงานสอบสวนเป็นวิชาชีพเฉพาะ ทำงานแบบมืออาชีพและเป็นอิสระจากสายบังคับบัญชา และควรสร้างกระบวนการเปิดให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมกำกับดูแลงานตำรวจ  และ 3. ควรกำหนดบทบาทหน้าที่ของตำรวจให้มุ่งเน้นงานของตำรวจโดยเฉพาะ โดยถ่ายโอนภารกิจที่ไม่ใช่งานของตำรวจออกไป รวมถึงลดการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง แต่เพิ่มบทบาทหน่วยปฏิบัติในพื้นที่เพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจในการบริหารงาน.