ทั้งนี้ กับปัญหานี้ ในวันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็มีข้อมูลที่ “ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรต้องสนใจ-ควรต้องพิจารณา” มาสะท้อนต่อในอีกมิติ…

ทั้ง “ครอบครัว-หน่วยงานรัฐ-รัฐบาล”

“ต้องเพิ่มความใส่ใจ” ปัญหานี้ของเด็ก

นี่ก็ “ไม่ใช่ปัญหาเล็ก-เป็นปัญหาใหญ่!!”

ทั้งนี้ อันสืบเนื่องจากการประชุมวิชาการระดับชาติครั้งที่ 17 “ประชากรและสังคม” ที่จัดโดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการนำเสนอบทความวิชาการภายใต้ธีม “หลากมิติ หนึ่งชั่วชีวิต” ที่น่าสนใจ รวมถึงหัวข้อ “ครอบครัวและการเลี้ยงดู ความสัมพันธ์ในบ้านที่ส่งผลชั่วชีวิต” ซึ่งมีการระบุถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อ “ความรุนแรงทางกายต่อเด็ก” อย่างต่อเนื่อง ที่พบว่า… ครอบครัวเด็กก็เป็นปัจจัยเสี่ยงการเกิดความรุนแรงต่อเด็ก จากสาเหตุต่าง ๆ

“ปัจจัยครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการอยู่อาศัยของพ่อแม่ในบ้าน เศรษฐกิจครอบครัว และความเชื่อของครอบครัวเรื่องการทำโทษเด็ก มีผลต่อความรุนแรงต่อเด็กอย่างต่อเนื่อง” …นี่เป็นส่วนหนึ่งจากการระบุไว้โดย รศ.ดร.อุมาภรณ์ ภัทรวาณิชย์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ซึ่งก็ยังได้แจกแจงไว้ว่า… “ความรุนแรงในครอบครัว” ส่วนใหญ่มักจะมองที่ความรุนแรงต่อผู้หญิงแต่ “เด็กในครอบครัว” ก็มีที่เป็น “เหยื่อความรุนแรง” เช่นกัน ซึ่งข้อมูลการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติช่วงปี 2558-2559 ก็ชี้ไว้ว่า เด็กไทยอายุ 1-14 ปี ร้อยละ 4.2 หรือประมาณ 470,000 ราย เคยเป็นเหยื่อในบ้าน

ผลของความรุนแรงในครอบครัว ที่รวมถึงการพบเห็นความรุนแรงระหว่างพ่อแม่ จะส่งผลให้เด็กมีปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์ รู้สึกไม่ปลอดภัย วิตกกังวล ซึมเศร้า มีปัญหาการควบคุมอารมณ์ และในระยะยาวเด็กที่เคยเผชิญความรุนแรงในครอบครัวอาจมีแนวโน้มกลายเป็นเหยื่อหรือผู้กระทำความผิดในการล่วงละเมิดในวัยผู้ใหญ่

นี่แหละที่บอกว่า “นี่ไม่ใช่ปัญหาเล็ก”

ปัญหาของเด็ก “นี่ก็เป็นปัญหาสังคม!!”

ในการสะท้องถึงปัญหาเรื่องนี้ในสังคมไทยไว้ในโอกาสดังกล่าวข้างต้นยังมีการระบุไว้อีกว่า… “ความรุนแรงต่อเด็ก” ที่เกิดในครอบครัวนั้น แบ่งเป็น 2 ลักษณะหลัก ๆ คือ ความก้าวร้าวทางจิตใจ ตวาดเสียงดังใส่เด็ก ว่าเด็กว่าโง่ ขี้เกียจ ด่าทอเด็กด้วยคำหยาบ และ ความรุนแรงทางร่างกาย ตีก้น แขน ขา ด้วยมือเปล่า หรือวัตถุอื่น ๆ ตีเด็กแรง ๆ หลาย ๆ ครั้ง ตบหน้า ศีรษะ หู ซึ่งผลจากการวิเคราะห์หลายตัวแปร พบว่า… ความแตกต่างระหว่างเพศของเด็กสัมพันธ์กับความรุนแรงทางกายต่อเนื่อง โดย เด็กผู้ชายมีแนวโน้มถูกกระทำด้วยความรุนแรงทางร่างกายอย่างต่อเนื่องมากกว่าเด็กผู้หญิง 1.8 เท่า

ข้อมูลข้างต้นก็สอดคล้องกับการศึกษาหลายชิ้น ซึ่งพบ “อคติทางเพศ” กรณีเพศและความรุนแรงต่อเด็กว่า… การลงโทษทางร่างกายเป็นเรื่องปกติสำหรับเด็กผู้ชาย!! ขณะที่ ความก้าวร้าวทางจิตใจเป็นเรื่องปกติสำหรับเด็กผู้หญิง!!

และก็มีการศึกษาของต่างประเทศที่พบว่า ผู้ที่เป็นแม่ที่ถูกทารุณกรรมโดยคู่สมรส ทำให้แม่เกิดความเครียดความเครียดของแม่ส่งผลต่อความรุนแรงทางกายต่อลูก รวมถึงยังมีงานวิจัยของต่างประเทศพบว่า ยิ่งสังคมมีทัศนคติที่สนับสนุนการลงโทษทางร่างกายของเด็กด้วยการตี ก็จะยิ่งส่งเสริมความรุนแรงทางร่างกายมากยิ่งขึ้น โดยเมื่อเทียบกับครอบครัวที่ไม่ได้ใช้วิธีตี ครอบครัวที่ใช้การตีเป็นวิธีอบรมสั่งสอนลูกมีแนวโน้มจะเกิดความรุนแรงทางกายมากกว่า 1.7 เท่า

ถัดมา…มาดูอีก “ปัจจัยสำคัญ” ต่อการเกิดปัญหา “รุนแรงต่อเด็ก” คือ “สภานภาพทางเศรษฐกิจของครอบครัวที่มีปัญหา” ที่พบว่า… ปัจจัยนี้ก็มีความสัมพันธ์ทางลบต่อความรุนแรงทางกายต่อเด็กอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับการวิจัยที่ผ่านมาที่พบว่า ความเสี่ยงของการเกิดความรุนแรงในครอบครัวนั้นเกิดจากการขาดแคลนทรัพยากรในครอบครัว

“ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐควรจะมีการเข้าไปช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวที่ยากจนให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งมีผลโดยอ้อมให้แม่ไม่เครียดมากในบทบาทสองอย่าง นั่นคือ การต้องทำงานบ้านรวมทั้งคอยอบรมสั่งสอนลูก และการทำงานหารายได้ให้ครอบครัวอีกทางหนึ่ง สำหรับความเชื่อของครอบครัวในเรื่องแนวคิด “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” อาจจะใช้ได้ในสังคมที่ไม่มีความซับซ้อนมากนักอย่างเช่นสมัยก่อน แต่ในปัจจุบันแนวคิดเรื่องนี้อาจไม่สามารถใช้กับเด็กในปัจจุบันที่สังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น หน่วยงานรัฐและเอกชนที่มีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนามนุษย์ควรรณรงค์หรือประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครองและพ่อแม่ได้ลดความเชื่อนี้ลง และชี้แจงให้เห็นผลกระทบที่เกิดจากการทำโทษเด็กว่าอาจมีผลกระทบต่อเนื่องกับเด็กในอนาคต” …นี่เป็นหลักใหญ่ใจความสำคัญในส่วน “ข้อเสนอแนะ” ที่มีการสะท้อนไว้

ทั้งนี้ ในสังคมไทย “ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก” นับวันดูจะยิ่ง “รุนแรงมากขึ้น-เกิดเหตุมากขึ้น” ซึ่งมีทั้ง “ความรุนแรงทางจิตใจ” และ “ความรุนแรงทางร่างกาย” ที่หมายรวมถึงความรุนแรงกรณี “ล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก” ด้วย

“ครอบครัว” ก็ “ต้องตระหนักมากขึ้น”

รวมถึง “หน่วยงานรัฐ” และ “รัฐบาล”ปัญหานี้ “ก็รอวัดใจรัฐบาลใหม่??”.