…นี่เป็น“หัวใจสำคัญ” ในการจัดทำ “ผลสำรวจความพิการ” ภายใต้ความร่วมมือของหลายหน่วยงาน เพื่อ สำรวจสถานการณ์ผู้พิการทั่วประเทศไทย ซึ่งจะมีประโยชน์ในการจัดทำนโยบายหรือมาตรการ “พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการในประเทศไทย” ที่ “ยังต้องเร่งทำ” โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีการเปิดเผยผลสำรวจดังกล่าว…

ช่วยทำให้ “ทราบปัญหาของผู้พิการ”

เพื่อใช้ “เป็นข้อมูลปรับปรุงนโยบาย”

ที่ส่งผลต่อการ “ยกระดับคุณภาพชีวิต”

เกี่ยวกับผลสำรวจดังกล่าวที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลในวันนี้ มีชื่อว่า… “การสำรวจความพิการ พ.ศ. 2565” ที่ทาง สำนักงานสถิติแห่งชาติ และ องค์การยูนิเซฟประเทศไทย ร่วมกันจัดทำขึ้น ซึ่ง “มีประเด็นน่าสนใจ” โดยทาง ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้อธิบายไว้ว่า… การสำรวจความพิการ เป็นการสำรวจระดับประเทศ ที่มีการจัดทำเป็นประจำทุก ๆ  5 ปี ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 5 โดยได้มีการเก็บข้อมูลจาก 88,273 ครัวเรือนทั่วประเทศไทย ระหว่างเดือน ต.ค. จนถึงเดือน ธ.ค. 2565 ซึ่งใช้ชุดคำถามที่พัฒนาโดย Washington Group on Disability Statistics และองค์การยูนิเซฟ

ผู้บริหารหน่วยงานดังกล่าวยังให้ข้อมูลไว้อีกว่า… ผู้พิการในการสำรวจเป็นผู้ที่มีความลำบากหรือมีปัญหาสุขภาพ หรือมีลักษณะความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ หรือสติปัญญา อย่างน้อย 1 ลักษณะ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยมีข้อมูลสถิติสำหรับการติดตามความก้าวหน้าของสถานการณ์นี้…เพื่อจะ“พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ”

ด้าน คยอน ซอง คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้ระบุไว้ว่า… ผู้พิการเป็นกลุ่มประชากรที่มีแนวโน้มเผชิญความยากลำบากในชีวิตทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นโดยการสำรวจถือเป็นขั้นแรกที่จะช่วยให้สังคมได้รับรู้ข้อมูลและปัญหาของผู้พิการ แต่ สิ่งสำคัญคือการดำเนินการแก้ปัญหา  ซึ่งต้องอาศัยการจัดให้มีบริการต่าง ๆ ที่ตอบสนองความต้องการในทุก ๆ มิติของผู้พิการ ซึ่งผลสำรวจความพิการ พ.ศ. 2565 ก็พบประเด็นที่สำคัญต่าง ๆ…

อาทิเช่น… ปี 2565 นั้น ประเทศไทยมีจำนวนผู้พิการอยู่ที่ประมาณ 4.19 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 6.0 ของประชากรไทยทั่วประเทศ โดยในจำนวนผู้พิการทั้งหมดนั้นจะแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้คือ… 1.ผู้พิการจากความลำบากหรือปัญหาสุขภาพ มีอยู่ร้อยละ 2.0 หรือประมาณ 1.37 ล้านคน, 2.ผู้พิการจากลักษณะความบกพร่อง มีร้อยละ 1.3 หรือ 0.91 ล้านคน, 3.ผู้พิการที่มีทั้ง 2 ลักษณะ (ความลำบาก-ปัญหาสุขภาพ ลักษณะความบกพร่อง) มีร้อยละ 2.7 หรือ 1.91 ล้านคน

นี่เป็น “ข้อมูลด้านจำนวน” ที่สำรวจพบ

และก็มี “ข้อมูลลักษณะความบกพร่อง”

ลักษณะความบกพร่องของผู้พิการ 5 ลำดับแรก ที่พบ ประกอบด้วย… 1.สายตาเลือนรางทั้ง 2 ข้าง, 2.แขน ขา มือ ลำตัว คดงอ-เกร็ง-โกง-กระตุก-สั่น, 3.หูตึง 2 ข้าง, 4.ร่างกายเป็นอัมพฤกษ์ และ 5.แขน ขา ลีบหรือเหยียดงอไม่ได้

กลับมาที่เรื่องจำนวนอีกทีในส่วนของ “เด็กพิการ” ผลสำรวจพบว่า… มีเด็กพิการแรกเกิดถึงอายุ 17 ปี จำนวน 157,369 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 1.1 ของเด็กทั้งหมด และคิดเป็นร้อยละ 3.8 ของผู้พิการทั้งหมด ซึ่ง 2 ใน 5 มีความลำบากหรือปัญหาสุขภาพซ้ำซ้อนกว่า 1 ประเภท  และ เด็กพิการอายุ 5-17 ปี 1 ใน 3 ไม่ได้เรียนหนังสือ สาเหตุที่ไม่ได้เรียนก็มาจากความพิการ

ขณะที่ “ผู้พิการที่เป็นผู้สูงวัย กลุ่มนี้ผลสำรวจพบว่า… ไทยมีผู้พิการสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) จำนวน 2.66 ล้านคน หรือมากกว่า 3 ใน 5 หรือราวร้อยละ 63.5 ของผู้พิการทั้งหมด หรือคิดเป็นร้อยละ 20.1 ของผู้สูงอายุทั่วประเทศ โดยผู้สูงอายุจะเป็นกลุ่มที่มีความลำบากหรือปัญหาสุขภาพตามวัยที่สูงขึ้น ส่วน “การทำงานของผู้พิการ” ผู้พิการที่อายุ 15 ปีขึ้นไปที่มีงานทำมีร้อยละ 21.2 ซึ่งเกือบครึ่ง หรือร้อยละ 49.2 ทำงานในภาคเกษตร โดย มีผู้พิการร้อยละ 50.1 ที่ไม่ได้ทำงาน เนื่องจากป่วยหรือพิการ

ทั้งนี้ ผลสำรวจความพิการ พ.ศ. 2565 ยังสำรวจพบข้อมูลอื่น ๆ ที่น่าสนใจ อย่างด้าน “การสื่อสารของผู้พิการ” โดยสำรวจพบว่า… ผู้พิการอายุ 5 ปีขึ้นไปมีการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีการใช้อินเทอร์เน็ต ร้อยละ 40.0 และมีโทรศัพท์เคลื่อนที่ใช้ ร้อยละ 54.8 แต่พบว่า มีการใช้คอมพิวเตอร์ค่อนข้างน้อย คือร้อยละ 5.2 นอกจากนั้น กับหัวข้อ “การได้รับสวัสดิการของรัฐ” ผลสำรวจพบว่า… มีผู้พิการที่เข้าถึงสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลหลักของรัฐ อยู่ที่ร้อยละ 99.1 ขณะเดียวกันก็มีส่วนที่ไม่ต้องการขึ้นทะเบียน ไม่คิดว่าตนเองพิการ ร้อยละ 26.4 และที่ความพิการไม่อยู่ในระดับที่ขึ้นทะเบียนได้ มีราวร้อยละ 25.1

สำหรับ “สวัสดิการรัฐที่ผู้พิการต้องการ…แต่ยังไม่ได้รับ” นั้น จากผลสำรวจนี้ ผู้พิการระบุไว้ว่า… ต้องการสวัสดิการด้านการตรวจรักษาพยาบาล ร้อยละ 4.1 ต้องการสวัสดิการด้าน การฟื้นฟูสมรรถภาพ ร้อยละ 9.2 และมีร้อยละ 16.6 ที่ต้องการ การสนับสนุนอุปกรณ์ อวัยวะเทียม เครื่องช่วยคนพิการ เช่น เครื่องช่วยฟัง แว่นตา ไม้เท้า ไม้เท้าแบบสามขา รถนั่ง…นี่ก็เป็นอีกส่วนจากข้อมูลจาก “ผลสำรวจความพิการ พ.ศ. 2565” ที่ถือเป็น “ข้อมูลอัปเดทล่าสุด” ของประเทศไทย…

นี่ “ฉายภาพสถานการณ์ผู้พิการในไทย”

“หลายกลุ่ม” และก็ หลากหลายมิติ”…

รวมถึง “ปัญหาที่ยังรอการแก้ไข”.