วันก่อนมีกระแสเชิง“วิวาทะ”… ทั้งนี้ เรื่อง “บุญ” นั้นวันก่อนแวดวงการเมืองมีการโยนออกมาโดยมี “คุณ” ต่อท้ายด้วย…เป็นกรณี “บุญคุณ” แล้วก็มีการโต้กลับด้วยเรื่อง “ทาน” โดยมี “ทำ” นำหน้าด้วย…เป็นกรณี “ทำทาน” ก็กลายเป็น “วาทกรรมทวิวาทะทางการเมือง” …ซึ่ง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็มิใช่จะฟื้นฝอยหาตะเข็บ ก็เป็นแต่เพียงว่า…ไหน ๆ การเมืองก็ยังติดกึก เรา ๆ ท่าน ๆ ยังคงต้องรอดูความชัดเจนทางการเมือง กับเรื่องที่เขามีการพูด ๆ กันนั้น…

หยิบยกมา “พินิจ” ก็น่าจะไม่เสียหลาย

และวันนี้ชวนพินิจเกี่ยวกับเรื่อง “ทาน”

เรื่องนี้ “ในมุมพุทธ” ก็ “เรื่องดีน่าพินิจ”

ทั้งนี้ “ทาน” ในทางศาสนาพุทธ ที่ไม่ได้หมายถึงรับประทานหรือกิน ใน พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) อธิบายไว้ว่า… “ทานเป็นหนึ่งในทศบารมี” หรือ ความดีที่บำเพ็ญอย่างพิเศษ หรือ คุณธรรมเพื่อการบรรลุจุดหมายสูงสุด โดยใน “ทศบารมี” นั้นประกอบไปด้วย… ทาน คือ การให้ การเสียสละ ส่วนที่เหลือก็มี… ศีล การรักษากายวาจาให้เรียบร้อยดีงาม, เนกขัมมะ การออกบวช การปลีกตัวปลีกใจจากกาม, ปัญญา ความรอบรู้และเข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง,  วิริยะ ความเพียร ความไม่เกรงกลัวอุปสรรค การไม่ทอดทิ้งธุระหน้าที่

ถัดมาเป็น… ขันติ ความอดทน หรือการสามารถใช้สติปัญญาควบคุมตนให้อยู่ในอำนาจเหตุผล ที่ไม่ลุต่ออำนาจกิเลส, สัจจะ ความจริง เช่น พูดจริง ทำจริง จริงใจ,  อธิษฐาน ความตั้งใจในการวางจุดหมายแห่งการกระทำไว้แน่นอน และดำเนินตามนั้นด้วยความมุ่งมั่นแน่วแน่, เมตตา ความปรารถนาดี การมีไมตรีคิดเกื้อกูลให้ผู้อื่นมีความสุขความเจริญ, อุเบกขา ความวางใจเป็นกลางอย่างเที่ยงธรรม โดยไม่เอนเอียงไปด้วยความยินดียินร้าย หรือแรงเย้ายวนยั่วยุใด ๆ …เหล่านี้เป็น “ทศบารมี”

“ทาน…การให้-เสียสละ” ก็ “ข้อสำคัญ”

สำคัญ “ทั้งในการจะบรรลุธรรมสูงสุด”

และ “รวมถึงในการดำรงชีวิตโดยมีสุข”

พินิจลงลึกกันต่อเกี่ยวกับ“ทาน” โดยเฉพาะเจาะจงที่กรณี “ทานบารมี”… กรณีนี้ก็มีระบุไว้น่าสนใจในบทความ “การวิเคราะห์ทานบารมีในคัมภีร์อรรถกถาชาดก” ใน วารสารสหวิทยาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 (มกราคม-เมษายน 2564) ซึ่งเขียนไว้โดย พระมหาพงศ์ศิริ ปญฺญาวชิโร บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยบทความชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ คือ… 1.เพื่อศึกษาทานในคัมภีร์พระพุทธศาสนา, 2.เพื่อศึกษาทานบารมีในคัมภีร์อรรถกถาชาดก และ 3.เพื่อวิเคราะห์ทานบารมีในคัมภีร์อรรถกถาชาดก …ซึ่งการศึกษาวิเคราะห์นี้ก็ “น่าพินิจ”

พระมหาพงศ์ศิริ ได้ระบุถึง “ทาน-ทานบารมี” ไว้ หลักใหญ่ใจความสำคัญมีว่า… จากผลการวิเคราะห์คัมภีร์อรรถกถาชาดกในเรื่องทานบารมี พบว่า… 1. ทาน ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา ถือเป็นหลักธรรมเบื้องต้นในฐานะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจของกันและกันไว้ และเป็นคุณูปการต่อการปฏิบัติธรรมในขั้นสูงจนกระทั่งถึงความดับทุกข์ได้, 2.พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ในอดีตชาติต้องเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์มาก่อน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการบำเพ็ญทานบารมี และ 3.ทานบารมีเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ได้บรรลุธรรม …เป็นการระบุไว้ถึงผลการศึกษาที่พบและผลการวิเคราะห์เรื่อง “ทาน-ทานบารมี”

“ทาน” นั้นเป็น “หลักธรรมเบื้องต้น”                 

และก็ยัง “เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจ”

ก็ “ไม่รู้การเมืองให้ความสำคัญมั้ย??”

ผลศึกษาวิเคราะห์ที่มีการสะท้อนไว้ผ่านบทความจากแหล่งข้อมูลดังกล่าวข้างต้นยังมีส่วนที่ระบุไว้อีกว่า… การศึกษาค้นคว้าในคัมภีร์อรรถกถาชาดกจากคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา และเอกสารกับตำราที่เกี่ยวข้อง สามารถวิเคราะห์ถึง “ผลดี” ด้านต่าง ๆ ของ“ทานบารมี” ได้ 4 ประเด็น คือ… 1.ทานบารมีส่งผลต่อการบรรลุธรรม, 2.ทานบารมีส่งผลต่อการดำรงชีวิต, 3.ทานบารมีส่งผลต่อการเป็นแบบอย่างที่ดี, 4.ทานบารมีส่งผลต่อแบบแผนการประพฤติปฏิบัติ …นี่เป็นผลดีที่เกิดจาก “ทาน-ทานบารมี” …โดยสังคมใดมีการปฏิบัติเรื่องนี้มาก ๆ ก็จะ “นำสู่ความสุขสงบ” ได้ทั้งปัจจุบันและอนาคต

ทั้งนี้ หากขาดความเข้าใจในหลักการให้ทานที่ถูกต้อง ก็อาจจะให้ทานในสิ่งที่ไม่ควร-ที่ไม่ถูกต้อง แต่หากเป็นการให้ทานทำทานด้วยปัญญาโดยเข้าใจหลักการ ก็ย่อมบังเกิดผลดี ซึ่งทาง พระมหาพงศ์ศิริ ได้ระบุไว้ในแหล่งข้อมูลที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำข้อมูลมาสะท้อนต่อในวันนี้ด้วยว่า… จากพระพุทธดำรัสทำให้ทราบถึง “ประโยชน์ของทาน” 2 ส่วน คือ… 1.ส่งผลดีต่อผู้ให้ทาน ทำให้มีความก้าวหน้าในทางธรรม และเป็นปัจจัยทำให้มีคุณธรรมเป็นพื้นฐานรองรับ อันจะส่งเสริมให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดในชีวิต, 2.ส่งผลให้สังคมมีความโอบอ้อมอารี ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อแก่การมีชีวิตที่ดีร่วมกัน  

“ทานคือสิ่งดี” ถ้าเข้าใจดี “ปฏิบัติก็จะดี”

“การเมืองไทย” นั้น “มีผู้มีบารมีไม่น้อย”

ส่วน “ผู้มีทานบารมีมาก…ไม่รู้มีมั้ย???”.