ทั้งนี้ ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ระบุเช่นนี้ก็เพราะสังเกตเห็นจากท่าทีคนไทยที่มีทั้ง เหน็บแนม โผงผาง เกรี้ยวกราด ฟูมฟาย ฯลฯ อันเนื่องจาก “กรณีโหวตนายกรัฐมนตรีคนใหม่” ตั้งแต่ก่อนวันโหวตในรัฐสภาครั้งแรก 13 ก.ค. เรื่อยมาจนถึงตอนนี้…และหลัง 19 ก.ค. 2566 นี้แล้วท่าทีคนไทยในทำนองดังกล่าวนี้ก็ “อาจจะยิ่งเห็นมากขึ้น??”

“อินการเมือง” ถ้า “มากไปจิตใจระส่ำ”

โดย “ไม่ว่าฝักใฝ่ฝ่ายใดก็เสี่ยงเครียด”

เสี่ยงเกิด “โพลิติคอล สเตรส ซินโดรม”

ทั้งนี้… “แม้ว่าก็สามารถจะหายไปเองได้เมื่อสถานการณ์ในแบบที่ผู้ที่เกิดภาวะอาการรู้สึกไม่ชอบคลี่คลายไป… แต่…ถ้าใครมีอาการเกินสัปดาห์ มีอาการมาก ทางที่ดีควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาหรือจิตแพทย์…” …นี่เป็นการให้ข้อมูล-ให้คำแนะนำไว้ในทางวิชาการด้านจิตวิทยา เป็นการให้ข้อมูล-ให้คำแนะนำไว้เกี่ยวกับ “โพลิติคอล สเตรส ซินโดรม” หรือเรียกย่อ ๆ ว่า“พีเอสเอส”หรือภาษาอังกฤษ “Political Stress Syndrome : PSS”  ซึ่งในเมืองไทยเราเคยมีการระบุในเชิงวิชาการทางการแพทย์ตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อนว่า… “เป็นปัญหาทางสุขภาพจิตที่ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติด้านจิตใจมากที่สุดในไทยในช่วงเวลาต่อเนื่องนับสิบปี” นับแต่เมืองไทยเกิดการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 เรื่อยมา…

จากการที่ สถานการณ์ทางการเมืองในไทยเป็นไปในแบบที่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ เป็นสถานการณ์ทางร้าย เกิดความขัดแย้ง-แตกแยก เกิดการเคลื่อนไหวของฝั่งฝ่ายต่าง ๆ และเกิดปัญหาความรุนแรง-สูญเสีย สถานการณ์แบบนี้ได้ทำให้“พีเอสเอสกลายเป็นอีกปัญหาที่สำคัญในไทย” โดยที่ในทางวิชาการแพทย์ในไทยใช้คำเรียกพีเอสเอสว่า… “สภาวะความเครียดจากสถานการณ์ทางการเมือง” ซึ่งสถานการณ์การเมืองไทยตอนนี้สภาวะนี้ก็ “มีแนวโน้มเกิดมาก” 

เป็น “สภาวะที่ไม่ดี-ที่ควรต้องเท่าทัน”

และ “ป้องกันไม่ให้เกิดเป็นการดีที่สุด”

ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ขอพลิกแฟ้มหยิบยกเรื่องของสภาวะดังกล่าวนี้มาสะท้อนเตือนย้ำว่า… สภาวะความเครียดจากสถานการณ์ทางการเมือง ที่ในยุคปัจจุบันนี้ก็เป็นเรื่อง “ใกล้ตัวคนไทย” อย่าง “น่าเป็นห่วงอีก!!”… สภาวะนี้สามารถจะ ป้องกันได้โดยลดการให้ความสำคัญกับเรื่องทางการเมืองลงบ้าง หันเหความสนใจไปในเรื่องอื่น ๆ บ้าง พยายามผ่อนคลายด้วยวิธีการต่าง ๆ  พยายามหันไปหาสิ่งที่ทำให้จิตใจสงบ …ก็จะไม่ตกอยู่ในสภาวะ“พีเอสเอส” ที่ไม่ดี…

เน้นย้ำกันไว้ว่า… แม้“พีเอสเอส” จะไม่ใช่โรคที่เกิดจากปัญหาทางสุขภาพจิต แต่ก็เป็นสภาวะที่ “ไม่ควรมองข้าม” โดยสภาวะนี้ “เป็นปฏิกิริยาของอารมณ์และจิตใจ” ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือของผู้ที่ให้ความสนใจเรื่องราวความเป็นไปในทางการเมืองแบบเกาะติดใกล้ชิด จนอาจทำให้ “เกิดตึงเครียดทางจิตใจจากเรื่องการเมือง” และก็อาจ“เกิดผลร้าย!!”

“ผลร้าย” ที่เสี่ยงจะเกิดขึ้นจาก “พีเอสเอส” นั้น ก็มีทั้งการ ทำให้ผู้ที่เกิดสภาวะดังกล่าวนี้มีอาการป่วยได้ทั้งทางจิตใจและทางร่างกาย รวมถึงการ ทำให้กระทบต่อสัมพันธภาพกับผู้อื่นได้ง่าย ๆ ด้วย โดยเฉพาะกับคนที่ “อินมาก ๆ หรือ คิดคาดการณ์แล้วนำสู่ความรู้สึกวิตกกังวล เกิดความหวั่นวิตกต่อเหตุการณ์ เกี่ยวกับสถานการณ์ “การเมือง”

ผู้ที่เกิด “พีเอสเอส” หรือ “สภาวะความเครียดจากสถานการณ์ทางการเมือง” นั้น กับ “อาการป่วย” สำหรับทางกายก็จะทำให้… ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดขมับ-ต้นคอ-แขนขา ปวดท้อง ชาตามร่างกาย หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ทั้ง ๆ ที่ก็อยู่ในสภาพปกติ หรือบางคนก็อาจเกิดอาการเกี่ยวกับการนอน นอนไม่หลับ หลับ ๆ ตื่น ๆ หลับแล้วตื่นกลางคืนแล้วก็ไม่อาจข่มตาหลับต่อได้ ส่วนทางใจก็เช่น… วิตกกังวล ครุ่นคิดตลอดเวลา สมาธิไม่ดี ฟุ้งซ่าน รู้สึกเหมือนไร้ทางออก

บางคนอาจ… ท้อแท้ หมดหวัง สิ้นหวั

 หงุดหงิด ฉุนเฉียว โกรธง่าย ก้าวร้าว!!

โดยที่… อาการทางใจอาจทำให้เกิดปัญหาสัมพันธภาพกับผู้อื่นอย่างรุนแรง ซึ่งก็ถือว่า “น่าเป็นห่วง!!-น่ากลัว!!” โดยใครที่เกิด “สภาวะความเครียดจากสถานการณ์ทางการเมือง” หรือ “พีเอสเอส” สิ่งที่อาจเกิดได้ง่าย ๆ คือการ โต้เถียงกับคนอื่น หรือแม้แต่คนใกล้ชิด คนในครอบครัว จากการที่พยายามเอาชนะทางความคิด แม้แต่กับคนที่เคยมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน และอาจจะมีการ ใช้อารมณ์ ตั้งแต่ปานกลางไปจนถึงรุนแรง โดยไม่สามารถยับยั้งตนเองได้ ซึ่งอาจมีความคิดหรืออาจถึงขั้น ใช้กำลังเพื่อจะเอาชนะความคิดทางการเมือง เกิดการทำร้ายร่างกาย หรืออาจเกิดเรื่องร้ายถึงชีวิต!!

ทั้งนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ขอย้ำเน้น ๆ ไว้อีกครั้งว่า… “พีเอสเอส” หรือ“โพลิติคอล สเตรส ซินโดรม” หรือ “สภาวะความเครียดจากสถานการณ์ทางการเมือง” นี่ก็อาจจะ“อันตราย!!” ทั้งกับคนที่เกิดสภาวะเอง และกับคนอื่น ๆ รอบตัวคนที่เกิดสภาวะ ซึ่งหากไม่เท่าทันป้องกันปฏิกิริยาของอารมณ์และจิตใจดังกล่าวนี้ให้ดี ๆ “เรื่องร้ายแรงอาจเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ”

“ชอบใคร-เชียร์ใคร” ก็ถือว่าเป็นสิทธิ

“ชังใคร-แช่งใคร” ก็ย่อมจะสุดแท้แต่

ที่สำคัญ…“ระวังพีเอสเอสพังชีวิต!!”.