ทั้งนี้ เมื่อเป็นหนี้ก็ย่อมจะไม่อาจอยู่ดีกินดีได้ โดยไทยในปัจจุบันมีรายงานว่า “หนี้สาธารณะพุ่ง” และก็ส่อเค้าว่าจะส่งผลเพิ่มปัญหาทบทวีคูณกับ หนี้ครัวเรือน” หนี้ของประชาชนด้วย?? ซึ่งจากเดิมที่มีปัญหาหนักอยู่แล้ว…ก็อาจยิ่งหนักขึ้น อย่างไรก็ดี กับเรื่อง “หนี้” นี่วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็มีข้อมูลที่น่าสนใจมาสะท้อนต่อ โดยมีนักวิชาการจากหลากหลายสาขาพยายามระดมสมองช่วย “หาทางออกให้กับปัญหา” เพื่อหา…

“โรดแมป” เพื่อที่จะ “ลดหนี้สาธารณะ”

นำไปใช้เพื่อ “ลดปัญหาหนี้” ที่เกิดขึ้น

หากได้ผลดีก็จะส่งผลดีต่อประชาชน…

ทั้งนี้ เกี่ยวกับเรื่อง “ลดหนี้” นั้นได้มี “ข้อเสนอแนะ” จากทาง  รศ.ดร.วิชัย วิทยาเกียรติเลิศ นักวิชาการ สาขาวิชาคณิตศาสตร์และสถิติ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โดยทาง รศ.ดร.วิชัย ระบุไว้ว่า…ปัจจุบันประเทศไทยมีหนี้สาธารณะสะสมสูงถึง 10 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 60-61 ของจีดีพี โดยจัดเป็นประเทศที่มีภาระหนี้สาธารณะอันดับที่ 120 ของโลก และเป็นอันดับที่ 4 ของอาเซียน ซึ่งเกิดจากรัฐมีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย และจากสถานการณ์นี้ ทางคณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. จึงได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์และสถิติ ร่วมกับบริบทของสังคม…

จนได้ “สูตรโรดแมปในการแก้ปัญหา”

เพื่อใช้เป็นแนวทาง “ลดหนี้สาธารณะ”

สำหรับ “แนวทางลดหนี้สาธารณะ” ผ่าน “มุมคณิตศาสตร์” และ “มุมสถิติ” นั้น ทาง รศ.ดร.วิชัย ได้มีการแจกแจง พร้อมกับอธิบายไว้ว่า… “โรดแมป” ดังกล่าว จะประกอบด้วย การดำเนินงาน 3 ระยะ คือ… ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ซึ่งเริ่มจาก “ระยะสั้น” ก็ได้แก่ การลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น หรือ พิจารณาความคุ้มค่าในการก่อหนี้ โดยอาจจะประเมินจากรายได้ หรือประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนและประเทศในอนาคต ผ่านการ จัดตั้งโครงการแก้หนี้ เพื่อแก้หนี้ระยะสั้น

ระยะกลาง” ได้แก่ การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้ขาดรายได้ ให้เข้าถึงโอกาสประกอบอาชีพ เพื่อลดภาระการจ่ายเงินเยียวยากรณีที่ประชาชนไม่มีรายได้ กับช่วยให้เอสเอ็มอีมีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อให้มีรายได้-จ่ายภาษี ขณะที่รัฐก็จะมีรายได้เพื่อใช้พัฒนาโดยไม่ต้องกู้ยืม หรือมีเงินใช้คืนหนี้ ผ่านการพัฒนาโครงการให้เกิดการจ้างงาน โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ

ส่วน “ระยะยาว” คือ การยกระดับศักยภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่เป็นจุดแข็งของไทย ทั้งด้านการเกษตรและวัตถุดิบแต่ละท้องถิ่น ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้สู่การเป็นผลิตภัณฑ์การเกษตรและนวัตกรรมอาหารที่น่าสนใจเพิ่มเติม นอกเหนือจากเดิมที่มักจะเน้นการส่งออกวัตถุดิบเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเพิ่มโอกาสการลงทุนของนักลงทุนในไทยในอนาคต …นี่เป็นข้อมูลโดยสังเขปของ “โรดแมปปลดหนี้สาธารณะ” ระยะต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม กับ “ปัญหาหนี้ครัวเรือน” ก็ต้องสนใจ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 90 มาตั้งแต่ไตรมาสที่ 4/2565 เนื่องจากประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นมากกว่าเดิม โดยจากสถิติปี 2563-2564 พบว่า ประชาชนร้อยละ 34.3 เป็นหนี้เพื่ออุปโภคบริโภค ร้อยละ 65.7 เป็นหนี้การลงทุนและเพื่อสร้างรายได้ในอนาคต อาทิ ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ยานยนต์ และลงทุนธุรกิจ แต่ประเด็นคือ เกิดหนี้เสีย หรือสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non-Performing Loan : NPL) จำนวนมาก ซึ่งต้องติดตามความสามารถชำระหนี้ของกลุ่มเปราะบางอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มที่รายได้ฟื้นตัวช้าและมีหนี้สูง

ทาง รศ.ดร.วิชัย วิทยาเกียรติเลิศ อาจารย์สาขาวิชาคณิตศาสตร์และสถิติ คณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. ได้มีการเสนอแนะไว้ถึง “แนวทางสร้างภูมิคุ้มกัน-สร้างความมั่นคงทางการเงิน” ในระยะยาว ซึ่งแบ่ง “ตามลำดับขั้นชีวิต” ดังนี้…

วัยเริ่มต้นทำงานจนถึงอายุ 35 ปี เป็นช่วงวัยที่ควรต้องสร้างความมั่งคั่งพื้นฐาน จึงควรวางแผนการเงินในครัวเรือน ด้วยการเก็บเงินสำรองฉุกเฉินไว้ให้ได้อย่างน้อย 6 เท่าของค่าใช้จ่ายส่วนตัวแต่ละเดือน และก็ควรจะมีเงินเก็บสำหรับการเรียนรู้สิ่งใหม่หรือพัฒนาทักษะ ตลอดจนต้องรู้จักสร้างเครดิตทางการเงิน และศึกษาการลงทุนเพื่อรองรับวัยเกษียณ ถัดมา… ช่วงอายุ 35-55 ปี นี่ถือเป็นช่วงวัยแห่งการสะสมความมั่งคั่ง ควรเริ่มจากการนำเงินเก็บไปลงทุนเพื่อสร้างให้งอกเงย เช่น การซื้อทรัพย์สินเป็นของตัวเอง รวมทั้งวางแผนเก็บเงินไว้สำหรับครอบครัว นอกจากนั้นยังควรอัปเดตแผนการเงินสำหรับการเกษียณ 

ช่วงอายุ 55-65 ปี เป็นช่วงวัยที่ควรวางแผนก่อนเกษียณ คำนวณค่าใช้จ่ายส่วนตัวรายเดือน หรือมองหางานเล็ก ๆ ทำเพื่อสร้างรายได้เสริม รวมถึงวางแผนระยะยาวสำหรับการเงิน เพื่อดูแลสุขภาพตัวเองในวัยเกษียณ และสุดท้าย… ช่วงอายุ 65 ปีขึ้นไป ช่วงวัยที่ควรพิจารณาเงื่อนไขในชีวิตที่มีอยู่พร้อมกับเงินที่สะสมมาทั้งชีวิต ดูแผนประกันชีวิต-ประกันสุขภาพตัวเอง

ทั้งนี้ นอกจากเงื่อนไขอายุ ก็ยังควรต้องพิจารณาการวางแผนทางการเงินให้สอดคล้องกับปัจจัยที่เกิดขึ้นในชีวิต เช่น มีบุตรตอนอายุมาก หรือวางแผนเกษียณก่อนกำหนด …เหล่านี้เป็นแนวทาง “สร้างภูมิคุ้มกันหนี้” ที่นักวิชาการแนะนำไว้

“หนี้” นี่ “รอรัฐบาลใหม่ช่วยแก้คงช้าไป”

โดยเฉพาะ “หนี้ประชาชน” ที่ “ท่วมท้น”

“ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ถ้าทำได้ “ดีสุด”.