ซึ่งสำหรับในเมืองไทยที่ผ่าน ๆ มาก็ดูจะ “ยึดโยงกับการเมือง” ไม่น้อยเลยทีเดียว และกับ “การเมืองไทยยามนี้-นับจากนี้” ส่วนหนึ่งส่วนนี้ก็กำลังย้อนมาประเด็นที่ “น่าจับตายิ่ง??”

น่าจับตา “ความรู้สึก” ของ “มวลชน”

รวมถึง “ความรู้สึก” ของ “คน 2 สภา”

“สมรภูมิความรู้สึก” นี่“ศึกยังไม่จบ!!”

ทั้งนี้ ที่ว่าความรู้สึกของคน “2 สภา” หมายถึง “สภาผู้แทนราษฎร-วุฒิสภา” โดยทั้ง 2 สภาเป็น “โครงสร้างของรัฐสภา” ซึ่งกับ “สมรภูมิความรู้สึก” นั้น ในขณะที่ “เกมการเมืองไทยยิ่งร้อนฉ่า!!” เรื่องนี้ก็น่าขยายความประกอบการ “จับตาความเป็นไปของการเมืองไทย??” โดยที่เรื่องนี้ก็คือเรื่องเดียวกับ “ไอโอ (IO)” หรือ “Information Operation” หรือภาษาไทย “ปฏิบัติการข่าวสาร” ซึ่งไม่ว่าเป้าหมายท้ายสุดการทำปฏิบัติการคาดหวังอะไร…ก็ “เกี่ยวกับความรู้สึกคน”…

เกี่ยวข้องกับ “ความรู้สึกของผู้คน”…

เป็นการ “ทำศึกในสมรภูมิความรู้สึก”

ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้เคยสะท้อนไว้ว่า…เรื่อง “ไอโอ-ปฏิบัติการข่าวสาร” นั้น ในภาพรวมก็ถือเป็นอีกศาสตร์ที่ “น่าพินิจพิจารณา” โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารเป็นสิ่งใกล้ตัวประชาชนคนไทยทั่วไปมากขึ้น กว่าในอดีตมาก อันเนื่องจากการพัฒนาก้าวกระโดดของเทคโนโลยีด้านสื่อสาร โดยเฉพาะ “สื่อสังคมออนไลน์-โซเชียลมีเดีย”

จริงหรือไม่ก็ไม่แน่ชัด??…แต่เคยมีกระแสแว่ว ๆ ว่าที่ผ่านมา “แกนการเมืองขั้วเก่าดีกรีลุงเบอร์ต้น” นั้น “ทั้งสนใจและทั้งกังวลโซเชียลมีเดียมาก??” ขณะที่จริงอย่างค่อนข้างจะแน่ชัดก็คือ “แกนการเมืองขั้วใหม่ดีกรีหนุ่ม” ที่นำพรรคลงเลือกตั้งแล้วได้คะแนนเสียง “ได้ที่นั่ง ส.ส. มากชนิดหักปากกาเซียนวิเคราะห์การเมือง” กับที่มาของคะแนนเสียงนั้นส่วนหนึ่งที่เป็นส่วนสำคัญคือ “กระแสตอบรับผ่านโซเชียลมีเดีย” จากประชาชน ทั้งจากคนรุ่นเก่า และโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่…

ชัยชนะนี้เป็น“ชัยชนะระดับยุทธวิธี”

และชัยชนะนี้ดู ๆ แล้วก็ “ยึดโยงไอโอ”

จากข้อมูลที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” เคยได้รับมาจากบางแหล่งข้อมูลในทางวิชาการความมั่นคง มีการระบุไว้ว่า… ในปัจจุบัน ในการต่อสู้ในกรณีความขัดแย้งต่าง ๆ ทั่วโลก “ไอโอ-ปฏิบัติการข่าวสาร” ได้กลายเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของปฏิบัติการหลักที่ถูกนำมาใช้ในการต่อสู้เพื่อที่จะชิงมวลชน” …เรื่องไอโอ ปฏิบัติการข่าวสาร นับวันจึงยิ่งน่าพิจารณา

และกับ “ไอโอ-ปฏิบัติการข่าวสาร” ยุคนี้…โฟกัสที่ “ไฮไลท์” ก็จะมีองค์ประกอบคือ 5 กิจกรรมหลัก, 5 กิจกรรมสนับสนุน, 2 กิจกรรมเสริม กล่าวคือ… กิจกรรมหลัก รักษาความปลอดภัยในการปฏิบัติการ ลวงทางยุทธวิธี ปฏิบัติการจิตวิทยา สงครามอิเล็กทรอนิกส์ ปฏิบัติการเครือข่ายคอมพิวเตอร์, กิจกรรมสนับสนุน ทำลายทางกายภาพ ต่อต้านข่าวกรอง ต่อต้านการลวง ต่อต้านการโฆษณาชวนเชื่อ รักษาความปลอดภัย, กิจกรรมเสริม ประชาสัมพันธ์ ปฏิบัติกิจการพลเรือน

“5 หลัก, 5 สนับสนุน, 2 เสริม” ที่ว่านี้…

ล้วนแล้วแต่ “ส่งผลต่อความรู้สึก” ทั้งสิ้น!!

โดยที่… “สมรภูมิความรู้สึก” นั้นถือเป็น “อีกแนวรบสำคัญ” ที่จะ “พลาดไม่ได้…ไม่เช่นนั้นชัยชนะระดับยุทธวิธีจะสูญเปล่า!!” เนื่องเพราะ… “ชัยชนะที่ได้รับแล้ว ไม่อาจยืนยันว่าจะหมายถึงชัยชนะในสงครามครั้งต่อไป” ดังนั้น… “กลไกสำคัญที่ยังต้องมีคือไอโอ-ปฏิบัติการข่าวสาร” และที่สำคัญคือ “ต้องมีอย่างรู้เท่าทันและมีประสิทธิภาพ” ด้วย

ทั้งนี้ กับ “สมรภูมิความรู้สึก” นั้น…ศาสตร์ความมั่นคงระบุไว้ว่า…ถือว่า เป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการทางการต่อสู้ โดยได้มีการ นำเอาเรื่องของ“ความรู้สึก” มาใช้ “เป็นพลังขับเคลื่อน” ซึ่งหากพินิจพิเคราะห์ดี ๆ จะพบว่า…สงครามการก่อการร้าย สงครามก่อความไม่สงบ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในยุคปัจจุบัน ก็มุ่ง “สร้างกระแสความรู้สึก” ด้วย…อย่างชัดเจน

การทำ “ไอโอ-ปฏิบัติการข่าวสาร” ยุทธวิธีในการปฏิบัติการก็ย่อมหวังผลทำให้เกิดการขยายการรับรู้ในวงกว้าง ก็ย่อมพยายาม “ชิงการนำในทางความคิด-ในทางความรู้สึก” ต่อเป้าหมาย วัตถุประสงค์การทำไอโอก็คือ เพื่อให้มีมวลชนสนับสนุนฝ่ายที่ทำไอโอ และเพื่อให้มีมวลชนเอาใจออกห่าง-เกลียดชังฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายที่ทำปฏิบัติการไอโอจะมุ่งเน้น แสวงหาแนวร่วมด้วยการถ่ายทอดสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึก แรงจูงใจ หรืออาจเป็นความคับแค้นใจ ก็ได้

“ไอโอ ถ้าทำถูกก็มีอำนาจไม่ต่างจากอาวุธ เพราะท้ายสุดฝ่ายใดสามารถปฏิบัติการจนสามารถครอบครองพื้นที่ความรู้สึกได้มากกว่า ก็ย่อมจะสามารถชนะบนแนวรบ” …นี่ว่ากันตามหลักการศาสตร์ความมั่นคง แต่กับ “เกมการเมืองไทยยุคนี้” หลังชัยชนะระดับยุทธวิธีในศึกเลือกตั้งครั้งล่าสุด…ถัดมาก็ “ยังมีสมรภูมิความรู้สึกที่ต้องจับตา??”

“ฝ่ายหนึ่ง” นั้น “ชนะศึกแค่สมรภูมิแรก”

“ฝายตรงข้าม-ฝ่ายรอเสียบ” ก็“ยังลุ้น”

“IO ในรัฐสภา…เดิมพันเก้าอี้นายกฯ”.