…เป็นการระบุจากเกษตรกรผู้ปลูก“ทุเรียนภูเขาไฟ” พื้นที่ จ.ศรีษะเกษ ที่ชื่อ เวียง สุภาพ ที่บอกกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ว่าแม้ปีนี้มีทั้งอากาศร้อนจัดมาก มีทั้งฝนตกมาก แต่ “คุณภาพทุเรียน” นั้น…ยังคง “ถูกต้องตรงตามมาตรฐาน” เหมือนเดิม นั่นก็เพราะผู้ปลูกทุเรียน“ต้องปฏิบัติตามกฎเข้ม” เพื่อ…

“รักษามาตรฐาน” ผลไม้ขึ้นชื่อพื้นที่นี้

“ทุเรียนภูเขาไฟ” ที่พลิกชีวิตเกษตรกร

ทั้งนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ร่วมคณะ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไปเยี่ยมชม “การปลูกทุเรียนภูเขาไฟ” ที่ จ.ศรีษะเกษ โดย สวนเวียงทุเรียนภูเขาไฟ บ้านซำขี้เหล็ก อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ ของ เวียง สุภาพ เป็นพื้นที่ในการศึกษาเยี่ยมชม ซึ่งสวนทุเรียนแห่งนี้เป็น หนึ่งในเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนาการผลิตทุเรียนแบบอินทรีย์ มีพื้นที่สวนทั้งหมด 9 ไร่ โดยเป็นหนึ่งในวิสาหกิจชุมชนที่ ธ.ก.ส. ได้เข้าไปให้การสนับสนุนสินเชื่อ ทั้งในโครงการปกติ และสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียน และต่อยอดกิจการสวนทุเรียน

“ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ” ก็ได้รับการรับรองเป็น สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์”หรือ“GI” เพราะเป็นทุเรียนที่มีอัตลักษณ์เฉพาะ มีรสชาติและมีคุณภาพที่แตกต่างจากทุเรียนแหล่งอื่น ๆ อาทิ กลิ่นไม่ฉุนมาก เนื้อมีกลิ่นหอม มีลักษณะของเนื้อทุเรียนที่ละเอียด แห้ง และไม่แข็ง ตลอดจนมีความหวานพอดี ซึ่ง กลุ่มเกษตรกรหรือเกษตรกรที่จะปลูกจะต้องขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานหรือองค์กรที่ทางจังหวัดให้การรับรองเสียก่อน โดยผู้ที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นผู้ผลิตเท่านั้นจึงจะได้รับอนุญาตให้ใช้ชื่อ “ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ” เพื่อใช้ในเชิงการค้าได้ …นี่เป็นหลักเกณฑ์สำคัญเบื้องต้นโดยสังเขป

กับกรณี “ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ”

ส่วนเรื่อง “มาตรฐานทุเรียนภูเขาไฟศรีษะเกษ” นั้น สวนที่จะได้รับการคัดเลือกเป็น “สวนทุเรียนคุณภาพ” จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ดังนี้คือ… 1.ต้องดูแลสวนทุเรียนได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ถัดมา 2.ต้องผ่านการตรวจรับรองมาตรฐานการผลิตพืช ตามมาตรฐานเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) ระดับแปลง โดยต้องผ่านการตรวจรับรองจากกรมวิชาการเกษตร 3.มีการจัดเก็บข้อมูลในระบบ QR Code เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังผู้ผลิตทุเรียนได้ …เหล่านี้เป็น “เกณฑ์มาตรฐาน” ที่ถูกนำมาใช้เพื่อ “รักษาคุณภาพ” ของ “ทุเรียนภูเขาไฟศรีษะเกษ”

ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้รับฟังเสียงจาก เวียง สุภาพ หรือ ลุงเวียง ซึ่งได้บอกเล่าว่า…เริ่มปลูกทุเรียนเมื่อประมาณ ปี 2529 โดยก่อนหน้านั้นเคยมีอาชีพปลูกข้าวโพดมาก่อน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้หันมาปลูกทุเรียน ก็เพราะเห็นว่าชาวสวนเริ่มหันมาปลูกกันเพิ่มขึ้น อีกทั้งส่วนตัวมองว่า…การปลูกทุเรียนนั้นปลูกครั้งเดียวก็สามารถเก็บกินได้ตลอด แม้จะขายไม่ได้ แต่ก็สามารถนำไปแลกข้าวได้ จึงไปนำพันธุ์ทุเรียนมาจาก จ.จันทบุรี โดยเริ่มต้นปลูกราว 100 ต้น …นี่เป็นประวัติโดยสังเขปของสวนนี้

เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนภูเขาไฟคนเดิมยังระบุว่า…ปี 2566 นี้ถือว่าชาวสวนทุเรียนที่นี่เผชิญวิกฤติอีกครั้ง เพราะปีนี้อากาศแปรปรวนหนัก ทั้งร้อนจัด และยังมีฝนตกหนัก จนทำให้ทุเรียนร่วงจากต้นมาก ส่งผลให้ปีนี้มีผลผลิตลดลง โดยจากที่เคยเก็บผลผลิตทุเรียนได้ปีละราว ๆ 15 ตัน มาในปีนี้กลับเก็บผลผลิตได้แค่ 3 ตันกว่าเท่านั้น ซึ่ง ทุเรียนที่ยังเหลือรอดส่วนที่เป็นทุเรียนลูกใหญ่ เปลือกหนา ไม่ได้คุณภาพ จะไม่ขายลูกสด ขายไปก็เสียชื่อสวนเปล่า ๆ จึงแปรรูปด้วยการทอด เพื่อที่อย่างน้อยก็ยังทำให้เกิดการสร้างรายได้ เพื่อนำเงินที่ได้มาหักลบกลบต้นทุน ทำให้ตัวเลขขาดทุนน้อยที่สุด …ทางลุงเวียงระบุ

พร้อมเล่าต่อว่า… ถ้าไม่เจอภัยธรรมชาติ ปีนี้รายได้น่าจะดี โดยทุเรียน 9 ไร่ ปกติเคยขายได้เงิน 1.7-1.8 ล้านบาท แต่ปีนี้น่าจะขายได้ไม่ถึงทุนที่ลงไป คือน่าจะได้ราว ๆ 7 แสนบาทเท่านั้น ก็ต้องทำใจ เพราะสภาพอากาศเป็นเรื่องที่คุมไม่ได้ ก็ต้องดูแลให้ดีกว่าเดิม ซึ่งก็ต้องใช้ทุนเพิ่มขึ้นอีก เพื่อการทำระบบน้ำ และติดตั้งไม้ค้ำยันต้น โดยน่าจะต้องใช้เงินทุนอีกราว ๆ 5 แสนบาท เพื่อรับมือให้ได้ดีที่สุด ...ลุงเวียงระบุถึง “การปรับตัว” ที่ต้องมีต้นทุนเพิ่ม…ทั้งเพื่อรักษาผลผลิต และรักษาคุณภาพทุเรียน

“ทุเรียนภูเขาไฟช่วยพลิกชีวิตคนศรีสะเกษทั้งจังหวัด นอกจากจะเป็นของดีขึ้นชื่อของจังหวัดแล้ว ยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น อีกทั้งยังส่งผลดีต่อธุรกิจอื่น ๆ ตามมา ทั้งร้านอาหาร และธุรกิจที่พัก ดังนั้นคุณภาพมาตรฐานจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เสียชื่อ” …ลุงเวียงย้ำ

ด้าน สำรวย เกษกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ก็ระบุถึง “มาตรฐานทุเรียนภูเขาไฟศรีษะเกษ” ว่า…ปัจจุบัน เกษตรกรที่จะปลูกได้ต้องผ่านการคัดกรอง การรับรอง และต้องปฏิบัติตามกฎควบคุมคุณภาพอย่างเคร่งครัด โดยกฎเหล็กต่าง ๆ เป็น “ข้อตกลงร่วมกัน” ของผู้ปลูกทุเรียน ที่จัดทำขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ “ควบคุมมาตรฐาน” ซึ่งกฎก็จะรวมถึง ห้ามตัดทุเรียนอ่อนขาย ถ้าผู้บริโภคพบทุเรียนอ่อนไม่ได้คุณภาพ ก็สามารถร้องเรียนเข้ามาได้ ซึ่งทางจังหวัดจะเข้าตรวจสอบ ก็จะระบุได้ว่ามาจากสวนใด และ ผู้บริโภคสามารถเคลมทุเรียนได้ …นี่เป็นบางส่วนของมาตรฐานที่ทางผู้ว่าฯ ศรีษะเกษ ย้ำไว้

และก็เป็นเรื่องดีที่ “ธ.ก.ส. ช่วยส่งเสริม”

ส่งเสริมเกษตรกรมีทุนเพื่อ “มาตรฐาน”

“ทุเรียนภูเขาไฟ” ในมุมนี้ก็ “น่าสนใจ”.