ล่าสุดที่เป็นกระแสครึกโครมก็กรณีที่ผู้ว่าฯ กทม. ออกมาระบุเมื่อพบพฤติกรรมไม่ปกติของเจ้าหน้าที่ในสังกัดการก่อสร้างปรับปรุงดัดแปลงอาคารส่อจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริต?? “เรียกรับสินบนแลกกับใบอนุญาต??” การดัดแปลงปรับปรุงอาคาร ซึ่งก็เรียกเสียงฮือฮาจากสังคม รวมถึงมี “เสียงสะท้อน” มากมายจากกรณีนี้ โดยหนึ่งในนั้นคือการเสนอให้ “ปรับปรุง-แก้ไข” เกี่ยวกับ “กฎหมายก่อสร้าง” ที่ใช้มานาน ซึ่งไม่สอดคล้องยุคปัจจุบัน โดยมีการเสนอให้แก้…

เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่าง “ปิดช่องโหว่”

อุดรูรั่ว “ป้องกันไม่ให้มีการคอร์รัปชั่น”

ที่ “มุมวิชาการ” ก็ “มีข้อเสนอน่าสนใจ”

ทั้งนี้ “ข้อเสนอแนะ” ที่เสนอให้แก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตการก่อสร้าง ดัดแปลง ปรับปรุงอาคาร ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปรากฏขึ้นหลังมีการเปิดเผยถึงพฤติกรรมที่ส่อจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับกรณี “เรียกรับสินบน??” ของบางบุคคลในบางหน่วยงานสังกัด กทม. และที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลนี่ก็น่าสนใจ โดย ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้มีการเสนอไว้ผ่านบทความ “แก้กฎหมายขออนุญาตก่อสร้าง กทม. รื้อ 4 ไม่ ใช้ 4 เพิ่ม คนสะดวก รัฐสบาย อุดช่องรับใต้โต๊ะ” โดยเผยแพร่อยู่ใน เว็บไซต์ทีดีอาร์ไอ

ทางนักวิจัยทีดีอาร์ไอท่านนี้ได้สะท้อนเกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น เกี่ยวกับการเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่บางคน เพื่อแลกกับใบอนุญาตปรับปรุงและดัดแปลงอาคาร โดยได้ระบุไว้ว่า… มีสาเหตุจากช่องว่างในการขอใบอนุญาตตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครและกฎกระทรวงที่ประกาศใช้มานานจนไม่สอดคล้องกับปัจจุบัน โดยปมปัญหาดังกล่าวสอดรับกับผลการศึกษาเรื่อง “โครงการกิโยตินกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตก่อสร้างของกรุงเทพมหานคร” ของทีดีอาร์ไอ ซึ่งพบว่า…มีอุปสรรคจาก “กฎระเบียบที่ซับซ้อนและไม่ชัดเจน” ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องมีการ “ใช้ดุลยพินิจ” ในการพิจารณา…

ทำให้ “เอื้อต่อการเรียกรับประโยชน์”…

จาก “ช่องว่างการใช้ดุลยพินิจเกินควร”

สำหรับปัญหาดังกล่าว ที่เป็น “อุปสรรคใหญ่” จนเป็น “ตัวฉุดรั้งทำให้ไทยได้คะแนนติดอันดับรั้งท้าย” ในแง่ของ “ประเทศที่มีความสะดวกในการขอใบอนุญาตก่อสร้าง” ในบทความดังกล่าวระบุไว้ว่า… ปัจจุบันไทยอยู่รั้งท้ายเพื่อนบ้านด้านความสะดวกในการขออนุญาตการก่อสร้าง โดยในปี 2564 ธนาคารโลกจัดอันดับให้ไทยเป็นประเทศที่มีความสะดวกสบายในการขออนุญาตก่อสร้างอยู่ในอันดับที่ 34 ของโลก จากทั้งหมด 190 ประเทศ แต่เมื่อลงลึกไปดูคะแนนประเมินของไทย กลับพบว่า… ไทยมีคะแนนต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก!! โดยมาเลเซียได้อันดับ 2 สิงคโปร์อันดับที่ 5 เวียดนามอันดับ 25

ตัวเลขนี้ยิ่งฉายภาพอุปสรรคที่มีอยู่ของไทย

ทำให้คะแนนด้านนี้ของไทยอยู่อันดับรั้งท้าย

ทั้งนี้ ในส่วนของ กทม. นั้น ผลการศึกษาพบ ความไม่สอดคล้องตามข้อแนะนำธนาคารโลก ที่ส่งผลทำให้เกิดปมปัญหานี้ขึ้น โดยแบ่งเป็น “4 ไม่” ดังนี้… “ไม่เร็ว” ที่พบความติดขัดหลายขั้นตอน เช่น ขั้นตอนสอบถามข้อมูล ขั้นตอนการเตรียมเอกสารที่ต้องติดต่อด้วยตัวเอง ขั้นตอนตรวจสอบใช้เวลานาน เพราะขาดแคลนเจ้าหน้าที่, “ไม่ชัด” การที่กฎหมายไม่ชัดเจนทำให้ต้องใช้ดุลยพินิจมาประกอบการพิจารณา จนเกิดการตีความที่ต่างกัน, “ไม่เชื่อม” จากการที่ข้อมูลและเอกสารบางอย่างยังขาดการเชื่อมโยงกัน, “ไม่ทันสมัย” ที่แม้จะมีการให้รายละเอียดผ่านเว็บไซต์ ทว่าแต่ละแห่งก็มีรายละเอียดที่ต่างกัน ทำให้ผู้ยื่นคำขอยังเลือกที่จะใช้วิธีติดต่อกับเจ้าหน้าที่โดยตรง เพราะได้ข้อมูลที่ครบถ้วนกว่า …เหล่านี้เป็น “อุปสรรคสำคัญ”…

ความไม่ชัดเจน “ล่าช้า” ที่เกิดขึ้นนั้น…

อาจนำสู่การเสนอ-เรียกรับ “ค่าเร่งเวลา”

ส่วน “แนวทางการแก้ปัญหา” ทางนักวิจัยอาวุโสทีดีอาร์ไอ ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ เสนอให้นำมาตรการ “4 เพิ่ม” มาใช้ โดยควรดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ดังนี้…“เพิ่มความเร็ว” ด้วยการแก้ไขกฎหมายใหม่ เพื่อเปิดทางให้มีนายตรวจเอกชนเพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้ขออนุญาต และเพื่อปรับปรุงระยะเวลาพิจารณาอนุญาต, “เพิ่มความชัดเจน” เพื่อลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่, “เพิ่มการเชื่อมข้อมูล” ด้วยการพัฒนาระบบเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างหน่วยงานให้เป็น One Stop Service, “เพิ่มความทันสมัย” ด้วยการพัฒนาช่องทางการขออนุญาตออนไลน์ ให้สะดวกยิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนหันมาใช้มากขึ้น

อย่างไรก็ดี ก็ได้มีการเน้นย้ำถึงการนำมาตรการ “4 เพิ่ม” นี้มาใช้ไว้ว่า… มาตรการต่าง ๆ เหล่านี้จำเป็นที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมาย ซึ่งข้อเสนอแนะที่จัดทำขึ้นนี้ถือเป็นการ “ปรับเพื่อเปลี่ยน” เพื่อทำให้ ประชาชนได้รับความสะดวก ลดภาระงานเจ้าหน้าที่ และเพิ่มความโปร่งใส อีกด้วย

“ข้อเสนอ” นักวิชาการทีดีอาร์ไอ “น่าคิด”

“ปิดช่องว่าง” มิให้มีการ “เรียกรับสินบน”

ปิดช่องว่างเรื่องนี้ “ควรเร่งทำทั่วไทย!!!”.