ตอกย้ำให้เห็นถึงอันตรายที่ต้อง “ห้ามประมาทเด็ดขาด!!” มิฉะนั้นไม่เพียงจะ “สูญเสียทรัพย์สิน” แต่อาจถึงขั้นทำให้เกิดการ “เสียชีวิต” ได้!!และการสูญเสียนั้นก็อาจจะมิใช่เพียงส่วนน้อย…อาจ “วินาศสันตะโร!!” ซึ่งวันนี้“ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ขอย้ำเตือนถึงภัยนี้…

ทั้งนี้ “อันตรายจากการรั่ว” นั้นก็มิได้มีเพียง “แก๊สรั่ว” เท่านั้นที่ทำให้เกิดอันตรายได้ แต่รวมถึง “กรณีรั่ว ๆ” จากสิ่งอื่น ๆ ด้วย ซึ่ง ณ ที่นี้ในวันนี้จะสะท้อนต่อข้อมูลคำแนะนำจาก ศูนย์วิจัยเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ได้มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับกรณีนี้ไว้ผ่านทางบทความชื่อ “รั่ว…อันตรายร้ายแรงในบ้านคุณแก้ไขหรือยัง???”

เน้นย้ำให้สังคมเห็นอันตรายจากภัยนี้

“ภัยรั่วต่าง ๆ” ซึ่งอาจเกิดในบ้านเรือน

ที่อาจทำให้เกิดอันตรายระดับร้ายแรง!!

ในแหล่งข้อมูลดังกล่าวระบุไว้สรุปได้ว่า… การรั่วเป็นไปได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะหลังคารั่ว ก๊อกน้ำรั่ว เป็นต้น แต่ที่เป็นอันตรายถึงขั้นอาจถึงแก่ชีวิต ซึ่งต้องระวังให้มากและรีบป้องกันแก้ไขโดยด่วนที่สุด ก็คือ “แก๊สรั่ว” ซึ่งที่ผ่านมาได้เคยเกิดกรณีลักษณะนี้แล้วหลาย ๆ ครั้ง เช่น กรณีร้านขายอาหารตามสั่งแห่งหนึ่งเกิดระเบิดจากแก๊สหุงต้ม จนทำให้ประตูกับผนังกระจกร้านแตกกระจัดกระจาย และผนังไม้กั้นระหว่างห้องครัวกับโต๊ะก็ถูกแรงระเบิดจนบิดเบี้ยวผิดรูป ส่วนเจ้าของร้านและลูกจ้างโดนไฟลวกใบหน้าและแขน  ซึ่งกรณีนี้ปรากฏเป็นข่าวชวนอกสั่นขวัญผวาเป็นอย่างมาก…นั่นก็เพราะเกิดขึ้นใจกลางเมือง

มีสาเหตุจากการ “ลืมปิดวาล์วถังแก๊ส!!”

สำหรับ “วิธีลดความเสี่ยง” จาก“ภัยแก๊สหุงต้มรั่ว” นั้น มีการให้คำแนะนำไว้ว่า… หลังการใช้แก๊ส ต้องไม่ลืมปิดวาล์วตรงถังแก๊สทุกครั้ง ซึ่งเป็นจุดที่มักจะมีคนลืมปิดอยู่เสมอ หรือไม่ก็ปิดไม่สนิท ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย และไม่เป็นปัญหาร้ายแรงตามมา จึงต้องฝึกทำให้เป็นกิจวัตร เพื่อให้ห้ามลืมโดยเด็ดขาด และ ควรปิดวาล์วแก๊สที่ถังก่อนจึงค่อยปิดวาล์วที่หัวเตา เพื่อลดความดันก๊าซที่ค้างอยู่ในท่อก๊าซให้หมดไป และเมื่อจะใช้เตาแก๊สก็ ควรหมั่นตรวจตราสภาพอยู่เสมอเช่น บริเวณเกลียววาล์วเปิด-ปิด ยังใช้ได้ดีหรือไม่ สายอ่อนนำแก๊สหักงอหรือไม่ ถ้ามีปัญหาต้องรีบแก้ไขหรือเปลี่ยนใหม่ทันที

กรณีสงสัยว่าจะมี“แก๊สหุงต้มรั่ว” ก็มัก รับรู้ได้โดยการได้กลิ่น ซึ่งกลิ่นแก๊สคือกลิ่นเดียวกับการจุดไฟแช๊กแล้วมาอังที่จมูก โดยหากอยากตรวจสอบให้แน่ใจ ก็มีวิธีตรวจสอบได้ง่าย ๆ กล่าวคือ นำน้ำยาล้างจานหรือน้ำสบู่ไปลูบตามจุดต่าง ๆ ของถังแก๊ส เช่น วาล์ว ตัวถังแก๊ส แกนลูกบิดเปิด-ปิดเตา สายอ่อนนำแก๊ส และบริเวณข้อต่อต่าง ๆ ถ้าหากเกิดฟองอากาศปุด ๆ ขึ้นมา ก็แน่ชัดแล้วว่าเกิดการรั่วซึมของแก๊สหุงต้ม โดย ถ้าได้กลิ่น “แก๊สรั่ว” สิ่งที่ต้องรีบทำคืออย่าตกใจเกินเหตุ ให้ตั้งสติให้ดี แล้วรีบเช็กดูว่ามีสิ่งที่เสี่ยงจะทำให้เกิดเป็นประกายไฟหรือไม่ ถ้ามีก็ต้องดับหรือปิดให้หมด เพราะเมื่อแก๊สรั่ว… 

“ประกายไฟ” จะ “ทำให้เกิดการระเบิด”

จากนั้น ให้รีบเปิดหน้าต่าง เปิดประตูทุกบาน ให้อากาศถ่ายเท เพื่อให้แก๊สระบายออกไปให้เร็วที่สุด แต่ถ้าหากเป็นห้องทึบหรือระบายช้า  เพื่อที่จะไม่ หมดสติเพราะสูดดมแก๊สเข้าไปมาก กรณีนี้ก็ให้ก้มตัวต่ำ ๆ แล้วใช้ผ้าชุบน้ำมาปิดปากและจมูกไว้ จากนั้นเข้าไปปิดวาล์วที่ถังแก๊ส หรือกรณีที่ถังแก๊สรั่วก็ให้ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำพันแล้วรีบยกถังออกไปวางไว้ในที่โล่ง ๆ โดยให้จุดที่รั่วอยู่ด้านบน แล้วรีบติดต่อให้ผู้ชำนาญการ หรือร้านขายแก๊ส มาแก้ไข หรือเปลี่ยนให้ปลอดภัยทันที

เหล่านี้เป็น “คำแนะนำ” กรณี “แก๊สรั่ว”

ส่วนกรณี“ภัยรั่วอื่น ๆ” นั้น ก็มีคำแนะนำไว้ในแหล่งข้อมูลดังกล่าวข้างต้นเช่นกัน อาทิ “ไฟฟ้ารั่ว” ที่แนวทางป้องกันเพื่อลดอันตรายก็คือการ หมั่นตรวจตราอย่าให้สายไฟชำรุด หรือเก่าจนฉนวนหุ้มเปลือย ปริแตก เพราะสายไฟอาจเกิดการสัมผัสกัน จนกระแสไฟฟ้ารั่ว หรือเกิดไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งหากฉนวนที่ใช้ห่อหุ้ม ใช้พัน ใช้รอง หรือใช้คั่นส่วนที่มีแรงดันไฟฟ้า เกิดชำรุดเสื่อมสภาพ ควรต้องตามช่างผู้ชำนาญมาแก้ไขเปลี่ยนใหม่โดยเร็ว โดยเหตุร้ายจาก“ไฟฟ้ารั่ว” ก็เป็น “อันตรายใกล้ตัว” เนื่องจากทุกบ้านเต็มไปด้วยเครื่องใช้ไฟฟ้าสารพัด ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องหมั่นตรวจตราอยู่เสมอ…

เพราะอาจเกิดอันตรายร้ายแรงขึ้นได้!!

ขณะที่หากคนในบ้านโดน “ไฟฟ้าดูด” ก็มีคำแนะนำเพื่อป้องกันอันตราย ทั้งผู้ที่ถูกไฟฟ้าดูด-ผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือ ดังนี้คือ… ให้รีบตัดทางเดินกระแสไฟฟ้า โดยสับฟิวส์ สับคัทเอาท์ลง หรือดึงปลั๊กออก เพราะ การปิดสวิตซ์ที่ตัวเครื่องไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่ได้ผล เพราะยังไม่ได้มีการตัดกระแสไฟฟ้าที่เข้าสู่ตัวเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่หากไม่สามารถตัดทางเดินกระแสไฟได้ทันที ให้หาวัตถุที่ไม่เป็นสื่อไฟฟ้ามาคล้อง-ดึงผู้ที่โดนไฟดูด เช่น ไม้แห้ง เชือก สายยาง แผ่นยาง เก้าอี้ไม้ ผ้าห่ม และเพื่อความปลอดภัย ผู้ที่ช่วยเหลือก็ควรต้องยืนอยู่บนพื้นที่แห้ง …เหล่านี้เป็นคำแนะนำ หลัก-แนวทาง เพื่อ “ป้องกันภัย”

ป้องกัน “เหตุร้าย-อันตรายจากภัยรั่ว!!”

โฟกัสกันที่ “แก๊สหุงต้ม-กระแสไฟฟ้า”

ประโยชน์ที่อาจจะเป็น “ภัยใกล้ตัว”.