อย่างไรก็ตาม วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ชวนดูกรณี “ภาษากาย” ที่กับการเมืองไทยตอนนี้ก็มีหลาย ๆ คนใช้กรณีนี้ “จับพิรุธนักการเมือง”ซึ่งก็ถือเป็นอีก “ปรากฏการณ์ในสังคมไทยยุคใหม่” ที่มีผู้ให้ความสนใจเรื่องนี้กันไม่น้อย เพราะเชื่อว่า “คำพูดหลอกได้…ภาษากายไม่เคยโกหก” ซึ่งเรื่องนี้ก่อนหน้านี้ก็เคยมีกระแสดราม่า ที่มีบางคนนำ “สัญลักษณ์มือ” ไปยึดโยง “ทฤษฎีสมคบคิด” และโยง “สมาคมลับต่างประเทศ” ที่ในโลกโซเชียลฮือฮากันอยู่พักใหญ่…ก่อนที่จะซา ๆ ไป…

“ภาษากาย-อวจนภาษา” มี “มุมวิชาการ”

“ในไทยก็มีผู้สันทัดกรณี” เกี่ยวกับเรื่องนี้

ทั้งนี้ เกี่ยวกับ “ความสำคัญของภาษากาย” นั้น เรื่องนี้ หมอมด-ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษากาย เจ้าของเว็บไซต์ Bodylanguageclassroom.com ได้อธิบายกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” เอาไว้ว่า… ภาษากายเป็นสิ่งที่แสดงออกมาผ่านร่างกาย ซึ่งจะแปรผันตรงกับอารมณ์และความรู้สึก ณ วินาทีนั้น โดยความรู้สึกต่าง ๆ ของคนเราจะมีการแสดงออกมาผ่านทาง การกะพริบตา ท่าทาง ท่านั่ง สีหน้า การเคลื่อนไหว ซึ่งผู้ที่ศึกษาภาษากายจะทราบทันทีว่า… ภาษากายที่แสดงออกมา ณ เวลานั้น บุคคลคนนั้นกำลังมีความรู้สึกและอารมณ์ในวินาทีนั้นอย่างไร หรืออาจกล่าวได้ว่า…

ภาษากายคือ “ภาษาที่ไม่ได้พูดออกมา”

แต่ “สื่อสารผ่านท่าทางการเคลื่อนไหว”

ทาง ทพ.อภิชาติ ได้หยิบยกตัวอย่างกรณีที่เป็นกระแสเมื่อไม่นานมานี้ กับ “ท่ามือ” ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ได้ทำท่า มือประสาน 2 ข้างประกบ กางปลายนิ้วสัมผัสกัน โดยผู้สันทัดกรณีระบุว่า…ภาษามือนี้เป็นท่า “Steeple” หรือบ้างก็เรียกว่า “Power sphere” ที่ สื่อถึงความสุขุม เฉลียวฉลาด ควบคุม…เป็นการวิเคราะห์ท่ามือที่มีกระแสเมื่อเร็ว ๆ นี้

นอกจากนั้น ผู้สันทัดกรณีภาษากายท่านเดิมยังได้มีการวิเคราะห์ถึง “ภาษากายลักษณะอื่น ๆ ที่น่าสนใจ” ที่เป็นข้อมูลเชิงวิชาการ เป็นความรู้ ที่สามารถจะนำไปใช้เป็น “หลักสังเกต” ได้ โดยบอกว่า…มีอาทิ…การ ใช้มือประกอบการพูด (illustrator) กรณีนี้เป็นภาษามือ หรือภาษากายที่ใช้กันบ่อย พบกันบ่อย เพราะช่วยทำให้ประสิทธิภาพในการสื่อสารชัดเจนและดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะเวลาที่ต้องสื่อสารเรื่องสำคัญ ต้องการย้ำ หรือต้องการเชื่อมโยงและดึงดูดอารมณ์กับความรู้สึกของผู้ฟัง

การ สบตา (Eye contact) นี่ก็เป็นภาษากาย ซึ่งสำหรับภาษากายลักษณะนี้ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่สำคัญอันดับต้น ๆ ของการมีบุคลิกภาพที่ดี เพราะเป็นส่วนที่สะท้อนถึงความมั่นใจของผู้ที่พูด และความน่าเชื่อถือที่ผู้อื่นจะมอบให้ แต่ถ้า สบตาน้อยเกินไป ในกรณีนี้จะทำให้ดูขาดความมั่นใจ หรืออาจดูไม่ให้เกียรติคู่สนทนา ทำให้ดู ขาดความน่าเชื่อถือ และในทางกลับกัน ถ้า สบตามากเกินไป หรือนานเกินไป ก็จะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกอึดอัด หรือรู้สึกเหมือนถูกจับจ้อง คุกคาม (intiminating)

“ในฐานะนักภาษากาย ภาษากายที่แสดงออกมาของคุณพิธานั้น สามารถบริหาร Eye contact ได้ดี เพราะสบตาคู่สนทนาตอนตอบคำถามในระดับที่เหมาะสม ทำให้ผู้สนทนารู้สึกดี เพราะแสดงให้เห็นว่าใส่ใจและตั้งใจที่จะฟังคู่สนทนา (Full attention and respect) ทำให้คู่สนทนาเกิดความประทับใจ เพราะรู้สึกว่าผู้ที่สนทนาด้วยให้เกียรติกัน” …เป็นการวิเคราะห์ถึงภาษากายจากกรณีที่มีกระแส ที่ทาง ทพ.อภิชาติ สะท้อนกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ เพื่อย้ำว่า…

“ภาษากาย” ก็ “สำคัญ-มีบทบาทมาก”

ทั้งนี้ ทางนัก “ถอดรหัสภาษากาย” ชื่อดังท่านเดิม ยังได้ให้ความรู้เกี่ยวกับ “ภาษากาย” ผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้เพิ่มเติมอีกว่า… ภาษากาย เป็นสิ่งที่คน ๆ หนึ่งแสดงออกมาผ่านร่างกายโดยอาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ได้ และจะแปรผันตรงกับอารมณ์และความรู้สึกในเวลานั้น ด้วยเหตุนี้ ภาษากายจึง เป็นความจริงที่ปกปิดยาก และหลอกกันไม่ได้ ทำให้ภาษากายที่แสดงออกมาจึงเป็นสิ่งที่ซื่อสัตย์เสมอ ไม่เหมือนกับคำพูดที่โกหกกันได้ หลอกกันได้ ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีการควบคุมอารมณ์และความรู้สึกไว้ แต่สุดท้ายก็จะต้องแสดงออกมาผ่านทางภาษากายตามสัญชาตญาณที่ถูกกระตุ้นอยู่ดี

“1 ภาษากาย เท่ากับ 1 คำพูด ดังนั้น ปัจจุบันจึงมักจะมีการนำภาษาพูดและภาษากายมาใช้วิเคราะห์ร่วมกัน เพื่อถอดรหัสสิ่งที่ผู้พูดได้กล่าวออกมาว่า…มีความจริง มีความน่าเชื่อถือแค่ไหน แต่ภาษากายก็ไม่ใช่ศาสตร์ที่จะนำไปใช้ตัดสินใคร เป็นศาสตร์เพื่อให้เราเข้าใจคนคนนั้นให้มากขึ้นมากกว่า” …ผู้สันทัดกรณีเน้นย้ำถึงเรื่องนี้

พร้อมกันนี้ ทพ.อภิชาติ ยังทิ้งท้ายผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ว่า… “ภาษากาย” ประยุกต์ใช้กับอาชีพได้หลากหลาย ช่วยให้เกิดประโยชน์อย่างมากกับผู้ที่ศึกษาเรื่องนี้ ช่วยทำให้เข้าใจอารมณ์ ความรู้สึก ความนึกคิดที่แท้จริงของคน ได้มากกว่าแค่คำพูดช่วยในการวิเคราะห์ว่าคนคนนั้นโกหกหรือไม่? จริงใจแค่ไหน? อย่างไรก็ดี การจะวิเคราะห์ก็เป็นทักษะที่จำเป็นต้องศึกษา ฝึกฝน และต้องสั่งสมประสบการณ์ระยะเวลาหนึ่ง จึงจะสามารถ “ถอดรหัสภาษากาย” ได้อย่างแม่นยำ

นี่คือ “ภาษากาย” ในมุม “ศาสตร์ที่น่ารู้”

ศาสตร์นี้ “ศึกษาไว้เพื่อจับโป๊ะ” ก็คงได้

ดังเช่นที่ “มีการใช้จับโป๊ะการเมือง??”.