ทั้งนี้ ณ ที่นี้ในวันนี้ จะสะท้อนต่อข้อมูลที่น่าสนใจอีกชุดหนึ่ง โดยเป็นข้อมูลที่ ผศ.พญ.กิติกานต์ ธนะอุดม ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ระบุไว้ใน รายการ “สุขภาพดี ชีวิตดี สร้างได้” มหิดลชาแนล ที่ดำเนินรายการโดย อ.ระพี บุญเปลื้อง ซึ่งได้นำเรื่อง “โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ดูแลและป้องกันอย่างไร?” มาพูดคุย…

“เมืองไทย” วันนี้ “เข้าสู่ยุคสังคมสูงวัย”

“ดูแลจิตใจผู้สูงวัย” ก็จึง “ยิ่งต้องสนใจ”

ทั้งนี้ เกี่ยวกับเรื่องนี้กรณีนี้  ผศ.พญ.กิติกานต์ ให้ข้อมูลความรู้ความเข้าใจที่น่าสนใจเอาไว้ หลักใหญ่ใจความมีว่า… ปัจจุบัน พบ “โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ” บ่อยขึ้น!! โดยจากรายงานการเก็บสถิติพบในผู้สูงอายุหญิงมากกว่าชายเล็กน้อย คือผู้สูงอายุหญิงเป็นโรคซึมเศร้าประมาณ 8% ส่วนชายประมาณ 4-5% แต่เมื่อลงไปเก็บข้อมูลในกลุ่มที่อยู่ในความเสี่ยง เช่น ในเนอร์สเซอรี่โฮม สถานพยาบาล คลินิกโรคเรื้อรัง มีรายงานพบว่าตัวเลขผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าสูงขึ้นกว่านี้อีก 10-20%

“โรคซึมเศร้า” กับ “อารมณ์เศร้า” ต่างกันอย่างไร?… อารมณ์เศร้า ถ้ามีอยู่แค่ไม่นาน เป็นความเศร้าปกติ ส่วนโรคซึมเศร้าจะมีความเศร้าที่ชัดเจน เกิดบ่อย เป็นนาน อย่างน้อย 2 สัปดาห์ จนกระทบชีวิต ทำกิจวัตรไม่ได้ ทำให้ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง …แบบนี้เรียกว่าโรคซึมเศร้า โดย สาเหตุโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ จะไม่ได้มีแค่เหตุใดเหตุหนึ่งเหตุเดียว…

ส่วนใหญ่จะมีหลายเหตุรวมกันไม่ว่าจะ “ปัจจัยด้านชีวภาพ” เรื่องพันธุกรรม เช่น มีพี่น้องป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ก็มีความเสี่ยง แม้จะอยู่ในวัยสูงอายุแล้ว หรือบางคนมีโรคเรื้อรัง โรคทางกายต่าง ๆ เช่น โรคหลอดเลือด สมอง หัวใจ โรคระบบประสาท ก็เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า และคนที่มีความผิดปกติทางฮอร์โมน ฮอร์โมนเพศ ฮอร์โมนเพศหญิง เอสโตรเจนก็เป็นฮอร์โมนที่สำคัญ ทั้งต่ออารมณ์และความคิด ถ้าหมดก่อนคนอื่น ๆ (วัยทอง) ก็มีความเสี่ยงในเพศหญิง, “ปัจจัยด้านจิตใจและสังคม” เช่น เกิดความเปลี่ยนแปลงบทบาทหน้าที่ อาจปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงไม่ได้หรือทำได้ยาก สูญเสียคนรอบข้าง อาจ รู้สึกว่าตัวเองถดถอย ต้องการความช่วยเหลือมากขึ้น แต่ไม่ได้รับ มีคนประคับประคองน้อย ก็เป็นปัจจัยทำให้เป็นโรคซึมเศร้า

“ข้อสังเกต” อาการของ “โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ” นั้น ทางอาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ท่านเดิมระบุไว้ว่า… จะใกล้เคียงกับวัยอื่น แต่ก็มีสิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามา อาการที่ใกล้เคียงนั้นก็แบ่งเป็น… เรื่องอารมณ์ อาจมีอาการเศร้า อาจมีความรู้สึกทุกข์ใจ ร้องไห้ง่ายขึ้น ซึม อาจจะเนือย ๆ เบื่อ ๆ ผู้สูงอายุหลายคนที่เป็นซึมเศร้าจะมีอาการเบื่อหน่าย ไม่สนใจอะไร ไม่อยากทำอะไร บางคนอาจไม่สามารถบอกได้ว่ารู้สึกอย่างไร แต่จะแสดงออกมาในลักษณะหงุดหงิด ความอดทนน้อยลง บางคนมีความวิตกกังวลมากขึ้น …ก็จะตามมาด้วย พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป จะดูช้าลง ไม่ค่อยสนใจกิจกรรมที่เคยทำ ซึ่งเรื่องการนอนการกินก็ต้องสังเกต อาจเปลี่ยนไป เช่น เบื่ออาหาร กินน้อยลง คุณภาพการนอนแย่ลง นอนน้อยลง นอนไม่หลับ รวมถึง…

เรื่อง “ความคิด” ที่ “เปลี่ยนแปลงไป”…

จะ มีความคิดที่ช้าลง จดจ่ออะไรน้อยลง จำอะไรไม่ค่อยได้ ซึ่งก็เป็น “ผลจากโรคซึมเศร้า” ได้เช่นกัน และที่สำคัญคือ คิดโทษตัวเอง เห็นคุณค่าตัวเองลดลง มองตนเองเป็นภาระ ไม่มีประโยชน์ที่จะอยู่ ซึ่งอาจจะนำไปสู่การ “คิดสั้น!!”

ทั้งนี้ ความรู้ความเข้าใจที่ได้สะท้อนไว้โดย ผศ.พญ.กิติกานต์ ธนะอุดม ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในรายการ “สุขภาพดี ชีวิตดี สร้างได้” ของมหิดลชาแนล ยังมีข้อมูลส่วนที่ระบุไว้ว่า… “โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ” ความรุนแรงเบื้องต้น…กระทบชีวิตประจำวัน ความรุนแรงต่อมา…ถ้าป่วยเรื้อรัง โรครุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ สุขภาพกายจะแย่ลง และถ้าซึมเศร้ามาก ๆ อาจ มีอาการทางจิตเพิ่ม หลงผิด คิดในสิ่งที่ไม่เป็นจริง หูแวว ประสาทหลอน

ทางผู้สันทัดกรณีบอกไว้ต่อไปว่า… โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ วัยเกษียณ วัยที่ไม่ได้ทำงานแล้ว ที่บางคนอาจเกิดตั้งแต่ก่อนอายุ 60 ปี จริง ๆ แล้ว…การซึมเศร้าในช่วงที่สูงวัยก็สามารถหายได้ อาการแทบจะกลับคืนเป็นปกติได้ แต่ก็มีที่เรื้อรังในบางคน หายช้า หรือเป็นซ้ำได้ หากมีปัจจัยที่มากระตุ้นเยอะขึ้น อย่างไรก็ดี… โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุไม่ใช่โรคที่ไม่มีทางออก ถ้าดูแลกันดีในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ก็จะสามารถผ่านไปได้แน่นอน …ซึ่งผู้สันทัดกรณีก็แนะนำไว้ว่า…

“จะมีการเปลี่ยนบทบาทก็ต้องมีการเตรียมตัว ดูแลตัวเองให้เป็นผู้สูงอายุที่แข็งแรง มองตัวเองยังมีคุณค่าที่มอบให้คนในครอบครัว คนรอบข้าง เช่น ดูแลบ้าน ดูแลลูกหลาน ให้คำปรึกษา… คนที่อยู่ร่วมกับผู้สูงอายุ คนในครอบครัว ก็แนะนำให้ดูแลท่าน ทางกายดูว่ามีความผิดปกติอะไร พาไปตรวจสุขภาพ หมั่นใส่ใจและสื่อสารกับท่าน จะได้ไม่รู้สึกเหงา โดดเดี่ยว ความโดดเดี่ยวเป็นปัจจัยในการเป็นโรคซึมเศร้า” …ทาง ผศ.พญ.กิติกานต์ แนะนำไว้

อีกทั้งยังได้ระบุไว้ถึงประเด็นที่ “สังคมไทย-สังคมสูงวัย…ควรสนใจ-ใส่ใจ” ด้วยว่า… “ผู้สูงอายุเป็นวัยที่สามารถป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้ ซึ่งความรุนแรงของโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ หากปล่อยให้มีการป่วยเรื้อรัง หรือมีความรุนแรงของโรคมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะมีความเสี่ยงต่อสุขภาพทางกาย…” …ซึ่งเมื่อเทียบกับผู้สูงวัยที่ไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้า…

“ผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า…

จะมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่า!!”.