ทั้งนี้ ประเทศไทยใกล้จะถึงวัน “เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566” โดยกำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า…หรือใน “วันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค. 2566” ซึ่งมาถึงตอนนี้กระแส สถานการณ์ ของบรรดานักการเมืองและพรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นเช่นไรกันบ้าง??…นั่นก็ว่ากันไป… อย่างไรก็ตาม วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ชวนพลิกดูประเด็น “ปัจจัยกฎกติกาเลือกตั้ง” ที่ตามหลักการนั้น สามารถจะกลายเป็นสิ่งที่ “พลิกกระแส-พลิกสถานการณ์” ได้เลยทีเดียว!!…

“เกมเลือกตั้ง” นั้น “อาจจะพลิกผัน”…

หากมีใคร-พรรคใด “โดนใช้กฎกติกา”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง…กรณี “4 ใบ 4 สี”

ทั้งนี้ กับ “4 ใบ 4 สี” ที่ว่านี้ก็คือ… “ใบเหลือง-ใบส้ม-ใบแดง-ใบดำ” ที่บรรดานักการเมืองทั้งหลายย่อมจะไม่อยาก “โดนแจก” กันแน่ ๆ เพราะนั่นจะหมายถึงเป็นการ “โดนบทลงโทษ” คล้าย ๆ กับกรณีที่นักฟุตบอลถูกกรรมการเป่าฟาล์วแล้วแจกใบเหลือง-ใบแดง หากแต่กับกรณีของนักการเมืองนี่หนักกว่าเยอะ…เพราะว่ามีตั้ง 4 ใบ 4 สี และหากว่าโดนแจกแล้วล่ะก็…จะ “ซีด” กว่ากรณีนักฟุตบอลอย่างมากถึงมากที่สุด!! โดยเกี่ยวกับกฎกติกาเลือกตั้งกรณี 4 ใบ 4 สีนี้…ก็ได้มีการระบุไว้ว่า…

เป็น…“อาวุธปราบทุจริตเลือกตั้ง”

และก็มีบทความ “เลือกตั้ง 2566 : ใบแดง ใบดำ ใบเหลือง ใบส้ม บทลงโทษแตกต่างกันอย่างไร” รวมถึงมีเอกสารเพื่อทำความเข้าใจ เผยแพร่ไว้ทาง เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) www.ect.go.th โดยสรุปมีดังนี้คือ…

“ใบเหลือง” เลือกตั้งใหม่เฉพาะเขต จะเกิดขึ้นเมื่อ กกต. มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งใดไม่สุจริต หรือการนับคะแนนเป็นไปโดยไม่ถูกต้อง ซึ่งถ้า กกต. สั่งให้เลือกตั้งใหม่ และให้ผู้สมัครยังเป็นคนเดิม ลักษณะเช่นนี้คือ “ใบเหลือง” คือเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งนั้นไม่สุจริต แต่หาคนผิดที่แน่ชัดไม่ได้ ซึ่งใบเหลืองนี่แจกได้ทั้งก่อนและหลังประกาศผลการเลือกตั้ง

“ใบส้ม” ถอนสิทธิเลือกตั้ง 1 ปี ใบส้มนี้จะเกิดขึ้นในกรณีที่ กกต. มีหลักฐานว่าผู้สมัครได้กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง หรือมีผู้ใดกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งซึ่งเชื่อมโยงมาถึงผู้สมัคร โดย “ใบส้ม” จะมีกฎหลายสเต็ป กล่าวคือ… ถ้า กกต. แจกใบส้มหลังวันที่สมัครรับเลือกตั้ง ผู้สมัครนั้นได้เบอร์ไปแล้ว แต่ยังไม่ถึงวันเลือกตั้ง ถ้าในวันเลือกตั้งใครกาบัตรเลือกตั้งเบอร์นี้ก็ถือว่าเป็นบัตรเสีย แต่ถ้า กกต. แจกใบส้มหลังวันเลือกตั้ง ผู้สมัครโดนใบส้มหลังวันลงคะแนนเลือกตั้ง ถ้าผู้สมัครที่โดนใบส้มชนะเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น กรณีเช่นนี้ ให้ทาง กกต. สั่งยกเลิกการเลือกตั้ง และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตนั้น หรือถ้าหากว่าผู้สมัครที่โดนใบส้มนั้นไม่ชนะเลือกตั้ง คะแนนที่ได้ก็ไม่ให้นำไปคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ หรือ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ

ใคร “โดนแจกใบส้ม” ก็ “เว้นวรรค 1 ปี”

“ใบแดง” ถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี นี่เป็นบทลงโทษที่ “แรง” และนักการเมืองคนใดโดนแจกก็ “ซีดชัวร์” โดยในบทความที่อ้างอิงไว้ข้างต้นระบุไว้ว่า… กรณีประกาศผลเลือกตั้งแล้ว ได้เป็น ส.ส. แล้ว ถ้ามีหลักฐานเชื่อได้ว่ามีการกระทำอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง ทาง กกต. จะต้องยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือถอนสิทธิเลือกตั้ง หากศาลตัดสินว่าผิดก็จะถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี ลงสมัคร ส.ส. ไม่ได้ และ จะเป็นรัฐมนตรี ที่ไม่ต้องมาจาก ส.ส. นี่ก็ไม่ได้ เช่นกัน นอกจากนี้ นอกจากจะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครหรือสิทธิรับเลือกตั้งแล้ว กับการจัดเลือกตั้งใหม่ ผู้โดนแจกใบแดงต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดเลือกตั้งใหม่ ตามหลักฐานการใช้จ่ายที่ กกต. เสนอต่อศาล

เช่นนี้ก็ย่อมจะ “ซีดแล้วซีดอีก” แน่นอน!!

“ใบดำ” ถอนสิทธิเลือกตั้งไม่มีกำหนด นี่ยิ่งไปกันใหญ่ จะเรียกว่า “ไปแล้วไปเลยหวนกลับไม่ได้” ก็ได้ โดยในบทความ “เลือกตั้ง 2566 : ใบแดง ใบดำ ใบเหลือง ใบส้ม บทลงโทษแตกต่างกันอย่างไร” ที่มีการเผยแพร่ไว้ทางเว็บไซต์ กกต. www.ect.go.th ระบุถึงใบดำนี้ไว้ว่า… เป็นบทลงโทษเพิ่มเติมเข้ามานอกเหนือจากในส่วนของโทษเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งที่มีการกำหนดระยะเวลาไว้ชัดเจน เป็นการกำหนดให้มีโทษเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งโดยไม่มีกำหนดระยะเวลารับโทษว่านานกี่ปี ซึ่ง กกต. ก็จะยื่นต่อศาลฎีกาให้พิจารณา โดยกรณีใบดำนี้ หากศาลฎีกามีคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัคร หรือ ส.ส. คนใด ก็จะถือว่าเป็นผู้ ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีพ ซึ่งการถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งนั้น เป็นลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ ทางการเมือง และกรรมการองค์กรอิสระ ก็ด้วย

ทั้งนี้ การแข่งขันกันของนักการเมืองในการ “เลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไป วันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค. 2566” ถึงตอนนี้ก็ถือเป็น “โค้งสุดท้าย-ท้ายสุดโค้ง” ก่อนจะปรากฏผลลัพธ์โดยปัจจัยคะแนนเสียงจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งนักการเมืองรายใดกระแสดี-กระแสไม่ดี หรือสถานการณ์ดี-สถานการณ์ไม่ดี นั่นก็เรื่องหนึ่ง ขณะที่ “ประเด็นที่ต้องจับตา??” ด้วยก็คือ…

“จับตา” ปัจจัย “กรณีกฎกติกาเลือกตั้ง”

กรณี “ใบเหลือง-ใบส้ม-ใบแดง-ใบดำ”

ที่เป็น “อาวุธปราบทุจริตเลือกตั้ง??”.