…นี่เป็นการระบุไว้โดยผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ ที่สะท้อนถึง “ปัญหาจากข้อความอันตราย” โดยเรื่องนี้มีการระบุไว้บน เวทีนักคิดดิจิทัล Digital Thinkers Forum ครั้งที่ 25 ที่ใช้ชื่อหัวข้อว่า “ตรวจสอบข้อความอันตรายบนโลกออนไลน์” ซึ่งจัดโดย Cofact – โคแฟค (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่าย เมื่อปลายเดือน เม.ย. 2566 ที่ผ่านมา…

ผู้เชี่ยวชาญเห็นพ้องต้องกันในเรื่องนี้…

“Dangerous Speech” เป็นปัญหาสำคัญ

ที่ “สร้างผลกระทบเชิงลบให้สังคมมาก”

รายละเอียดเรื่องนี้ ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลในวันนี้ มีหลายประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับ “ปัญหาจากข้อความหรือถ้อยคำอันตราย” โดยเฉพาะบน “สื่อสังคมออนไลน์” ที่นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญได้มีการสะท้อนถึงมิติเรื่องนี้ไว้ในหลาย ๆ มุมมอง อาทิ สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค ประเทศไทย ที่สะท้อนไว้ว่า…ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีมีผลต่อพลเมือง จึงทำให้ทุกคนได้เห็นผลทั้งด้านบวกและด้านลบกันมาแล้ว ข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีที่มีอยู่นั้น ส่งผลต่อชีวิตด้านต่าง ๆ ทั้งสิทธิเสรีภาพ สุขภาวะ ความรู้ความเข้าใจ ความถูกต้องและ ไม่ถูกต้อง ของข้อมูลข่าวสาร…

ที่กระตุ้นให้สังคมต้องหาวิธีจัดการ…

เพื่อจะ “รับมือผลกระทบของข่าวลวง”

ด้านผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ… สก็อต อารอนสัน ก็ระบุถึง Dangerous Speech ข้อความ-ถ้อยคำอันตราย ไว้ว่า… เป็นประเด็นสากลที่ส่งผลกระทบในแง่ลบต่อสังคมในด้านต่าง ๆ และบางครั้งเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรง ซึ่งข้อความ-ถ้อยคำอันตรายนี้ ก็จะแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละประเทศ โดยในส่วนของประเทศไทย…มุมมองผู้เชี่ยวชาญรายนี้มองว่า… สังคมไทยมีถ้อยคำอันตรายอยู่มากมาย เพียงแต่อาจจะยังไม่ได้มีการรับรู้หรือสัมผัสในระดับที่ร้ายแรง…เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา ฉะนั้นจึงอาจเป็นจังหวะที่ ภาคสังคมของไทยต้องทำงานกันอย่างหนัก เพื่อ…

ไม่ปล่อยให้สถานการณ์ซับซ้อนกว่านี้!!

ขณะที่ สุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบันเชนจ์ฟิวชั่น ได้ระบุไว้ถึงงานวิจัย “การตรวจสอบข้อความอันตรายในสื่อสังคมออนไลน์” ที่ได้ทำการศึกษาเรื่องนี้ ซึ่งหลังจากได้ศึกษาเกี่ยวกับข้อความหรือถ้อยคำอันตรายมาได้ 1-2 ปี พบว่า… ในพื้นที่โลกออนไลน์มีการใช้ข้อความหรือถ้อยคำอันตรายในหลากหลายประเด็น และ ยิ่งช่วงนี้ประเทศไทยใกล้จะเข้าสู่การเลือกตั้ง ก็พบข้อความอันตราย หรือถ้อยคำอันตราย ปรากฏขึ้นในสังคมออนไลน์เพิ่มขึ้น จากเดิมเป็นอย่างมาก…

“ช่วงนี้มีการสร้างกระแสจำนวนมากเพื่อการเลือกตั้ง ซึ่งที่ต้องระวังคือถ้าดูบทเรียนจากสหรัฐอเมริกา หรือในหลาย ๆ ประเทศ จะเห็นว่า…กระแสที่เกิดขึ้นช่วงเลือกตั้ง มันไม่ได้หมดไปพร้อมกับการเลือกตั้ง แต่กลับโหดขึ้นกว่าเดิม เพราะมีฝั่งที่ได้และไม่ได้ ดังนั้นสังคมต้องดูว่าจะจัดการความคาดหวังที่ไปกันคนละทาง และความเชื่อที่ต่างกันมาก ๆ ที่เกิดขึ้นจากการ Build หรือปั่นกระแส ได้อย่างไร” …เป็น “ข้อควรระวัง” ที่ ผอ.สถาบันเชนจ์ฟิวชั่น ชี้ไว้

ให้สังคมไทยระวังให้มากเพราะเลือกตั้ง

ทางด้าน สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน ที่ปรึกษากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ก็ได้สะท้อนมุมมองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้ไว้ว่า… ปัจจุบัน “Hate Speech” หรือ “ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง” ได้แพร่กระจายไปทุกอณูของสังคม ไม่ว่าการเมือง บันเทิง หรือศาสนา ซึ่งสังคมกลายเป็น “สังคมแห่งความเกลียดชัง” เพราะการเลือกที่จะเชื่อชุดข้อมูลตามแต่ที่เชื่อแล้วสบายใจ แล้วยังผลักคนเห็นต่างให้ไปอยู่ฝั่งตรงข้าม ส่วน Dangerous Speech หรือ ถ้อยคำอันตราย คือขั้นที่ยิ่งกว่าของ Hate Speech เพราะเป็นการก้าวข้ามจากความไม่ตระหนัก หรือความคึกคะนอง ไปเป็นความ จงใจให้เกิดความรุนแรง ขึ้น

“สื่อสังคมออนไลน์วันนี้ ถูกใช้เป็นเครื่องมือหวังผลต่อเป้าหมายมากขึ้น ถ้าเป็นธุรกิจก็เพื่อการตลาด ส่วนมิติสังคมก็ถูกใช้เพื่อวิพากษ์วิจารณ์อีกฝ่าย ทำให้นำมาซึ่งความเกลียดชัง หรือใช้เพื่อชวนเชื่อ” …ทางที่ปรึกษา กสม. สะท้อนข้อมูลน่าตกใจในเรื่องนี้ และว่า… ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลมาจากการที่เราอยู่ในสภาพสังคมแบบนี้มายาวนานนั่นเอง

ทั้งนี้ พระมหานภันต์ ประธานกรรมการมูลนิธิสถาบันการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติ (IBHAP) ได้ชี้เตือนถึงเรื่องนี้ไว้บนเวทีเสวนาว่า… ข้อความอันตรายที่ปรากฏบนโลกออนไลน์วันนี้ เป็นเรื่องที่อันตรายและน่ากลัว เพราะนอกจากจะผลักคนให้ตกอยู่ในอันตรายจากความกลียดชัง หรือทำให้เกิดการทำร้ายทำลายกันแล้ว “Dangerous Speech” ยังทำให้คนที่ใช้กลายเป็น “Dangerous People” หรือ“บุคคลอันตราย” ตามไปด้วย ซึ่งถ้าสังคมยังไม่เข้าใจ ยังไม่ตระหนักถึงอันตรายเรื่องนี้ ก็ยิ่งน่าเป็นห่วงว่า “สังคมไทยจะหลงเข้าไปสู่เส้นทางที่อันตราย!!” …เป็น “คำเตือน” จากพระมหานภันต์

“Dangerous Speech” ที่ไทยก็ “น่ากลัว”

“ยิ่งมีเลือกตั้ง” ก็อาจจะ “ยิ่งน่ากลัว”…

“ทุกฝ่ายโปรดตระหนักกันให้มาก!!”.