“…วันนี้เป็นวันที่อิสราเอลเฉลิมฉลองการสถาปนาประเทศครบ 75 ปี หลังจากถูกขับไล่ออกจากดินแดนของตนเมื่อหลายพันปีก่อน ประเทศของชาวยิวก็ได้รับการสถาปนาขึ้นอีกครั้งหนึ่งบนดินแดนของบรรพบุรุษ วันนี้เป็นเวลาของการฉลองความสำเร็จที่อิสราเอลสามารถฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการมาได้เป็นอย่างดีในช่วงเวลาอันสั้น จากประเทศเกิดใหม่สู่ประเทศที่เจริญรุ่งเรือง มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นสังคมหลากหลาย มีวัฒนธรรมที่ไม่หยุดนิ่ง มาดูกันว่าตลอด 75 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่การสถาปนาประเทศเมื่อ พ.ศ. 2491 ประเทศอิสราเอลมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง…

ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 อิสราเอลต้องฝ่าฟันอุปสรรคเพื่อเอาตัวรอด จากคลื่นผู้อพยพที่เข้ามาตั้งรกรากในประเทศเกิดใหม่ที่มีจำนวนมากกว่า 2 เท่าของประชากรดั้งเดิม ประชากรที่กำลังเติบโตต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องที่ดินทำกินอันไม่อุดมสมบูรณ์ และการขาดแคลนนํ้า แต่กระนั้นนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรชาวอิสราเอลก็ยัง สามารถสร้างความก้าวหน้าสำคัญ ๆ ทั้งด้านการเกษตร การพัฒนาวิทยาการและนวัตกรรมระบบชลประทาน เพื่อแก้ปัญหาความแห้งแล้งและเพิ่มผลผลิตการเกษตร ในทศวรรษนี้เองที่ อิสราเอลคิดนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ ให้เกิดประโยชน์

คริสต์ทศวรรษ 1960 เป็นเวลาของความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศเจริญเติบโตถึงร้อยละ 11 ในขณะเดียวกันอิสราเอลก็เริ่มพัฒนาเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมและโครงการอวกาศ และก้าวแรกของการ ทำให้ทะเลทรายกลายเป็นสีเขียว เกิดขึ้นจากการก่อสร้างท่อส่งนํ้าขนาดใหญ่ ที่นำนํ้าจากทะเลสาบกาลิลีทางตอนเหนือมาสู่ดินแดนอันแห้งแล้งทางตอนใต้ ในช่วงปลายของทศวรรษนี้เอง โกลดา เมเอียร์ ได้รับการเลือกตั้งเป็น นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอิสราเอล

เมื่อถึงคริสต์ทศวรรษ 1970 อิสราเอลก็พบกับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทางสังคม จากคลื่นผู้อพยพจากประเทศต่าง ๆ ที่มาพร้อมกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของตน สงครามนองเลือด ยม คิปปูร์ เมื่อ พ.ศ. 2516 นำไปสู่ข้อตกลงสันติภาพในปี 2519 ระหว่างอิสราเอล กับอียิปต์ ซึ่งเป็นประเทศอาหรับประเทศแรกที่รับรองการดำรงอยู่ของประเทศอิสราเอล ในทศวรรษนี้ อิสราเอลประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในด้านการพัฒนาสาขาต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านไฮเทค อุตสาหกรรม และการแพทย์ มีการเปิดบริษัทต่าง ๆ ในอิสราเอลเป็นจำนวนมาก รวมถึงบริษัทอินเทลอิสราเอล และบริษัทไอบีเอ็มอิสราเอล

ฯพณฯ ออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย

เศรษฐกิจของอิสราเอลเฟื่องฟูอย่างยิ่งในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 อันเป็นผลมาจากความสำเร็จของอุตสาหกรรมไฮเทค ซึ่งทำให้อิสราเอลกลายมาเป็นศูนย์กลางของนวัตกรรมเทคโนโลยี และผู้ประกอบการใหม่ และในทศวรรษนี้เองที่บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่มาเปิดกิจการในอิสราเอล ซึ่งขยายผลให้ บริษัทต่าง ๆ กว่า 500 แห่งมีศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาอยู่ในประเทศอิสราเอล มาจนปัจจุบัน

คริสต์ทศวรรษ 1990 มาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทางการเมือง นั่นคือ อิสราเอลลงนามในข้อตกลงออสโล เมื่อ พ.ศ. 2536 และการก่อตั้งเขตปกครองปาเลสไตน์ แต่ทว่า ทศวรรษนี้ก็มาพร้อมกับความรุนแรงและการก่อการร้ายในอิสราเอล การลงนามข้อตกลงสันติภาพระหว่างอิสราเอล และจอร์แดน พ.ศ. 2537 เป็นการยุติภาวะสงครามของประเทศทั้งสองที่มีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2491

Jerusalem train

ในขณะเดียวกัน อิสราเอลก็ต้องเผชิญกับปัญหาคลื่นผู้อพยพอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้เป็นชาวยิวกว่า 1 ล้านคนจากอดีตสหภาพโซเวียต ทำให้จำนวนประชากรอิสราเอลเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20 ในเพียงทศวรรษเดียว ช่วงเวลานี้วัฒนธรรมของอิสราเอลเฟื่องฟูอย่างแท้จริง ทั้งภาพยนตร์ ดนตรี และวรรณกรรม อิสราเอลชนะการประกวดร้องเพลงยูโรวิชันถึง 2 ครั้งใน พ.ศ. 2541 และ 2542 นักบินอวกาศชาวอิสราเอล อิลาน รามอน เป็นนักบินอวกาศชาวอิสราเอลคนแรกที่เดินทางไปในอวกาศ แต่เขาต้องเสียชีวิตในโศกนาฏกรรมกระสวยอวกาศโคลัมเบียระเบิดระหว่างเดินทางกลับสู่โลก

อุตสาหกรรมไฮเทคของอิสราเอลเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 ด้วยการนำของบริษัทใหญ่ ๆ อย่างเช่น เช็คพอยท์ ซอฟท์แวร์ เทคโนโลยีส์ (Check Point Software Technologies) คอมเวิร์ส เทคโนโลยี (Comverse Technology) และ เทวา ฟาร์มาซูติคอล อินดัสทรีส์ (Teva Pharmaceutical Industries) มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของกองทุนสำหรับบริษัทเกิดใหม่ และความก้าวหน้าเหล่านี้ยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่ง ปัจจุบันนี้อิสราเอลติดอันดับสูงสุดของโลก ด้านการลงทุนในกองทุนเพื่อสนับสนุนบริษัทเปิดใหม่

Drip irrigation

คริสต์ทศวรรษ 2000 เริ่มต้นด้วยการก่อการร้ายและการใช้ความรุนแรงรอบใหม่ ที่มาพร้อมกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปที่รัฐบาลพยายามปรับปรุงมาโดยตลอดก็ประสบผลสำเร็จ อิสราเอลสามารถก้าวข้ามวิกฤติในปี 2551 อย่างไม่บอบชํ้า

ในทศวรรษนี้รัฐบาลอิสราเอลเปิดตัวโครงการ “ยอซมา (Yozma)” ที่สร้างแรงจูงใจให้บริษัทมาลงทุนในกองทุนเพื่อบริษัทเปิดใหม่ ด้วยวิธีนี้เองที่ทำให้ระบบนิเวศของบริษัทเปิดใหม่เจริญเติบโตยิ่งอย่างต่อเนื่อง และในช่วงเวลานี้เช่นกันที่ นักวิทยาศาสตร์หลายคนของอิสราเอลได้รับรางวัลโนเบล รวมทั้ง อะดา โยนาธ นักวิทยาศาสตร์หญิงคนแรกของอิสราเอลผู้ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้

Netanya Coast (Photo taken by Dana Friedlander for the Israeli Ministry of Tourism)

ระหว่างคริสต์ทศวรรษ 2010 นครเทล อาวีฟ ได้รับการขนานนามว่าเป็นเมืองหลวงแห่งบริษัทเปิดใหม่ เพราะมีบริษัทเกิดใหม่เป็นจำนวนมาก จะเป็นรองก็แต่เพียง ซิลิคอน วัลเลย์ ของสหรัฐอเมริกาเท่านั้น มีการเปิดไซเบอร์สปาร์ค (Cyber Spark) ที่เป็นศูนย์ไซเบอร์แห่งชาติ ทำให้ เทคโนโลยีด้านไซเบอร์ของอิสราเอลพัฒนาเติบโตอย่างโดดเด่น อันส่งผลให้อิสราเอลติดอันดับท็อป 10 ของประเทศแห่งนวัตกรรมที่ทรงพลังที่สุดในโลก

อิสราเอลมีความก้าวหน้าทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญอีกครั้งในช่วงคริสต์ทศวรรษ 2020 ด้วยการลงนามข้อตกลงสันติภาพอับราฮัม (Abraham Accords) เพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตและเศรษฐกิจขั้นปกติกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตามมาด้วยประเทศบาห์เรน ซูดาน และราชอาณาจักรโมร็อกโกในภายหลัง ข้อตกลงนี้เปิดโอกาสให้เกิดความร่วมมือทางการทูตและเศรษฐกิจในตะวันออกกลาง อันจะนำมาซึ่งเสถียรภาพและสันติภาพของภูมิภาค

Dead Sea (Photo taken by Itamar Grinberg for the Israeli Ministry of Tourism)

เมื่อกล่าวถึง ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศอิสราเอล และราชอาณาจักรไทย ที่ดำเนินมาเป็นเวลา 69 ปี อาจกล่าวได้ว่าความสัมพันธ์ระดับประชาชนและระดับรัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศยิ่งแนบแน่นมั่นคง การค้าระหว่างประเทศเจริญรุ่งเรือง การท่องเที่ยวเติบโตไม่หยุดยั้ง ประเทศของเราจับมือกันเผชิญหน้ากับความท้าทายของโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโลกร้อน สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ความมั่นคงทางอาหารและนํ้า ความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ ความเท่าเทียมและการเข้าถึงของผู้พิการ เป็นต้น

ในโอกาสอันน่ายินดียิ่งนี้ ดิฉันใคร่ขอให้ความมั่นใจว่า ประเทศอิสราเอลและราชอาณาจักรไทยจะร่วมมือร่วมใจทำงานไปด้วยกัน เพื่อสันติภาพ เสถียรภาพ ภราดรภาพ และความวัฒนาผาสุกของประเทศของเรา…”.