ส่วน ณ ที่นี้ในวันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มีข้อมูลกรณี “เลือกตั้งในทางจิตวิทยาสังคม” มาสะท้อนต่อให้ประชาชนคนไทยลองพิจารณา… ทั้งนี้ ถึงตอนนี้อุณหภูมิ “เลือกตั้ง 2566” นั้น “เดือดมากขึ้นเรื่อย ๆ” โดยในการ “หาเสียง” ของบรรดาผู้สมัครจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ต่างก็พยายามแข่งขันเพื่อจะ “โน้มน้าว-ดึงดูดใจ” ให้ประชาชนตัดสินใจ “ลงคะแนนเสียงให้” ซึ่งผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการสถาบันต่าง ๆ ก็มีการวิเคราะห์เจาะลึกกันคึกคัก ขณะที่ในอีกมุม-ในแง่มุม “จิตวิทยาเชิงสังคม” ก็น่าสนใจ…

“การตัดสินใจลงคะแนนเสียง” นั้น…

ก็ “ยึดโยงด้านจิตวิทยาด้วย เช่นกัน

และ “เลือกตั้งกับจิตวิทยา” นั้น กับเรื่องนี้กรณีนี้ก็มีบทความบทวิเคราะห์ โดย ดร.ภัคนันท์ จิตต์ธรรม อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคม ที่มีการเผยแพร่ไว้ผ่านทางเว็บไซต์ www.psy.chula.ac.th ของ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้สะท้อนกรณีนี้เรื่องนี้ไว้ในบทความ “คนที่รัก? พรรคที่ใช่? นโยบาย? และวิธีการลงคะแนนเสียงในมุมมองจิตวิทยาสังคม” ซึ่งก็จะเป็นการช่วยอธิบาย “ปรากฏการณ์สังคมเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2566” ได้อย่างน่าพินิจ

ทั้งนี้ ดร.ภัคนันท์ ได้ระบุไว้ในบทความดังกล่าว โดยสังเขปมีว่า… หลังจาก กกต. ประกาศวันเลือกตั้ง นักการเมืองไทยต่างก็มุ่งหน้าหาเสียงกันอย่างเต็มที่ ซึ่งในสถานการณ์นี้ก็ มีกระบวนการทางจิตวิทยาสังคมที่เกี่ยวข้องมากมาย โดยหนึ่งในนั้นคือเรื่องของ จิตวิทยาสังคมกับการลงคะแนนเสียง ที่มีกระบวนการทางจิตวิทยาสังคมเกี่ยวข้องอยู่ 2 กระบวนการ ได้แก่ 1.การรับรู้บุคลิกภาพด้านความอบอุ่นและความสามารถของนักการเมือง และ 2.การพิจารณาสารโน้มน้าว ซึ่งสำหรับประเด็นหลัง กับเรื่องของ “การโน้มน้าว” นั้น เป็นกระบวนการสำคัญที่ถูกนำมาใช้ในการหาเสียงทุกยุคทุกสมัย

“การโน้มน้าว (Persuasion)” คือ การที่ผู้ส่งสารพยายามใช้สารเพื่อเปลี่ยนความคิดและความรู้สึกของผู้รับสาร ซึ่งการโน้มน้าวในบริบทนี้ก็คือการที่นักการเมืองสื่อสารเพื่อให้ประชาชนมีความคิดหรือความรู้สึกทางบวกต่อเขา เพื่อเพิ่มโอกาสในการที่ประชาชนจะลงคะแนนเสียงให้ และนอกจากนั้น ในทางจิตวิทยาสังคมนั้นพบว่า… คนเรามักจะมี วิธีในการพิจารณาสาร ที่ส่งออกมาเพื่อโน้มน้าว 2 วิธี คือ “ทางสายแกน (central route)” และ “ทางสายเปลือก (peripheral route)”

ดร.ภัคนันท์ ได้ยกตัวอย่างขึ้นมาเพื่อฉายภาพเรื่องนี้ไว้ว่า… สมมุติมีคน 2 คนชมการหาเสียงของนักการเมืองคนเดียวกัน โดยที่ 2 คนไม่รู้จักกันมาก่อน ซึ่งผู้ส่งสารมีคนเดียว และสารที่ส่งออกมาก็เป็นเรื่องเดียว แต่…ถ้าคนชมคนหนึ่งไม่อินกับการเมือง ไม่สนใจการเมือง ส่วนอีกคนสนใจการเมือง ก็ทำให้คนแรกจึงสนใจแค่ตัวผู้สมัคร เช่น มาจากพรรคไหน หน้าตาและแต่งตัวยังไง ขณะที่คนที่สองจะสนใจเกี่ยวกับข้อดีข้อเสียของนโยบาย และมีการเปรียบเทียบกับนโยบายขอ

พรรคอื่น ๆ ด้วย ซึ่งวิธีพิจารณาสารที่โน้มน้าวของทั้ง 2 คนนี้สะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการทางจิตวิทยาสังคม คือ คนแรกใช้กระบวนการที่เรียกว่า ทางสายเปลือก ขณะที่คนที่สองใช้ ทางสายแกน นั่นเอง …นี่เป็นตัวอย่างที่หยิบยกขึ้นมาเพื่ออธิบายเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าคนใดคนหนึ่งจะต้องใช้วิธีพิจารณาสารที่โน้มน้าวแบบใดแบบหนึ่งเพียงแบบเดียวไปตลอด แต่อาจจะมีเรื่องของ “แรงจูงใจ-ความพร้อม” ในขณะนั้นเป็น “องค์ประกอบการตัดสินใจ” ด้วย ซึ่งคนที่เคยใช้วิธีพิจารณาแบบทางสายเปลือกมาตลอด เมื่อตระหนักว่า…การเลือกตั้งครั้งนี้มีความสำคัญมาก ก็อาจเกิดแรงจูงใจจนเลือกใช้วิธีพิจารณาแบบทางสายแกนก็ได้ ขณะที่“ความพร้อมทางร่างกาย” ก็เป็นอีกปัจจัยที่ มีผลในการเลือกใช้วิธีตัดสินใจ ด้วย

แล้ว ควรใช้ทางสายแกน? หรือใช้ทางสายเปลือก? ในการพิจารณาผู้สมัครรับเลือกตั้ง?? กับคำถามนี้ ดร.ภัคนันท์ ได้ระบุไว้ว่า… หัวใจสำคัญของจิตวิทยาคือการเข้าใจและยอมรับความหลากหลาย ดังนั้นบทความนี้จึงต้องการนำเสนอผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจากวิธีการพิจารณาสารทั้ง 2 รูปแบบ เพื่อให้ประชาชนใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกใช้

กล่าวคือ… กรณี “เลือกใช้ทางสายแกน” ในการพิจารณา ข้อดีคือ ทำให้ได้ข้อสรุปที่คงทนถาวรกว่า ข้อเสียคือทำให้เหนื่อยล้า เพราะต้องใช้พลังงานความคิดมากกว่า และกรณี “เลือกใช้ทางสายเปลือก” ข้อดีคือไม่เปลืองเวลา ไม่เปลืองทรัพยากรทางปัญญาเท่ากับการใช้ทางสายแกน แต่ก็มีข้อเสียคือ ข้อสรุปที่เกิดขึ้นมักจะไม่คงทน เช่น วันนี้เลือกคนนี้เพราะดูเป็นคนไว้ใจได้ แต่เมื่อภาพลักษณ์เปลี่ยนไป มุมมองที่มีต่อคน ๆ นั้นก็อาจไม่เหมือนเดิม …นี่เป็นแง่มุมในทางกระบวนการ

ขณะที่ในแง่ “ผลลัพธ์” ของ “วิธีพิจารณาสารโน้มน้าว” ทั้ง 2 วิธีนั้น ดร.ภัคนันท์ จิตต์ธรรม ทิ้งท้ายไว้ในบทความดังกล่าวข้างต้นว่า… อาจ ต้องพิจารณาที่เป้าหมายของประชาชนและนักการเมือง เช่น ถ้าความต้องการของประชาชนคือความเจริญก้าวหน้า การใช้ทางสายแกนที่ให้ความสำคัญกับ นโยบาย จะตอบสนองดีกว่า แต่ถ้าโจทย์ประชาชนคือเลือกคนที่รักพรรคที่ใช่เข้าสภา ทางสายเปลือกที่ให้ความสำคัญกับ คุณสมบัติผู้สมัคร จะตอบโจทย์มากกว่า ซึ่งการเลือกใช้วิธีพิจารณาสารโน้มน้าวเพื่อตัดสินใจลงคะแนนเสียง ทั้งประชาชนและนักการเมืองก็ “ต้องตกผลึก” ว่า “โจทย์ของตัวเองคืออะไร??”

เหล่านี้คือ “จิตวิทยาสังคมกับเลือกตั้ง”

“การตั้งโจทย์ให้ตกผลึกมีผล” ชวนคิด

จะเป็น “สายเปลือกหรือสายแกน??”.