สภาพแวดล้อมการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศอย่างรุนแรง โลกร้อนขึ้น นำไปสู่การขับเคลื่อนโลกจากผลการประชุมสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในทุกปี ที่ทั่วโลกมีเป้าหมายร่วมมือกันลดผลกระทบจากความเสี่ยงที่ทำให้โลกร้อนขึ้น ช่วยกันวางยุทธศาสตร์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นไปตามความตกลงปารีส (Paris Agreement ค.ศ.2015 หรือ พ.ศ. 2558) หรือ COP21 ร่วมมือกันควบคุมอุณหภูมิโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ทุกประเทศทั่วโลกช่วยกันตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อย 50% ภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) โดยประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในภาคีที่เข้าร่วมลงนามความตกลง วางเป้าหมายระดับนโยบายของประเทศไทยเข้าสู่ Net Zero ในปี พ.ศ. 2608 มีการจัดทำแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Thailand NDC Roadmap) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2558-2593 หรือ ภายในระยะเวลา 35 ปี มีการวางเป้าหมาย 3 ระยะ ค.ศ. 2030 (พ.ศ.2573) ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 40% ต่อมาวางเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ.2050 (พ.ศ.2593) และ บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ภายในปี ค.ศ.2065 (พ.ศ.2608)

ผ่านไปกว่า 8 ปี มีการเข้าร่วมประชุม COP ต่อเนื่องทั้งระดับนโยบายและระดับธุรกิจ อุตสาหกรรม ปีล่าสุด การประชุม COP27 มีขึ้นที่ เมือง ชาร์ม เอล ซีค ประเทศ อียิปต์ สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย(Thailand Cement Manufacturers Association-TCMA) เป็นอุตสาหกรรมแรกของประเทศไทย และเป็นหน่วยงานแรกในกลุ่มอุตสาหกรรมซีเมนต์ของโลกที่ได้รับการรับรองและตอบรับสนับสนุนจากสมาคมปูนซีเมนต์และคอนกรีตโลก (Global Cement and Concrete Association-GCCA) ที่ COP27 ในการแปลงนโยบาย สู่การทำแผนงานมุ่งสู่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของอุตสาหกรรมซีเมนต์ของประเทศไทย (Thailand Net Zero Cement & Concrete Roadmap 2050) พร้อมผลักดันไปสู่การปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา TCMA ได้มีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนสมาชิกดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับตัวสู่การเป็นธุรกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกันเทรนด์ธุรกิจโลกมุ่งไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green) และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการหารือกันกับสมาชิกในสมาคมทั้ง7 ราย ซึ่งเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศ ประกอบด้วย บริษัท ภูมิใจไทยซีเมนต์ จำกัด, บริษัท ปูนซีเมนต์เอเชีย จำกัด (มหาชน), บริษัท ชลประทานซีเมนต์ จำกัด (มหาชน) , บริษัท ปูนซีเมนต์ ตราลูกโลก จำกัด, บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) , บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด และ บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด(มหาชน) ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ วิจัยพัฒนาด้านวัสดุศาสตร์ นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้งาน จึงนำไปสู่การพัฒนาปูนซีเมนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต ที่เรียกว่า “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 3 แสนตัน ในปี ค.ศ.2021 (พ.ศ.2564) ถือเป็นความสำเร็จที่สามารถบรรลุเป้าหมายได้รวดเร็วกว่าที่ Thailand NDC Roadmap กำหนดถึง 9 ปี เดิมตั้งเป้าไว้ปี พ.ศ.2573

ดร.ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เปิดเผยถึงปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จอยู่ที่ความร่วมมือกันระหว่างสมาชิก TCMA ที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตปูนซีเมนต์ที่ทันสมัย ทำให้มีการผลิตที่ช่วยลดต้นทุนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้คิดค้นพัฒนาปูนซีเมนต์ชนิดใหม่ ที่เรียกว่า “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” หรือ ปูนลดโลกร้อน โดยมาแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ชนิดเดิม ที่เริ่มแนะนำเข้าสู่การใช้งานในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวได้นำไปสู่การขับเคลื่อนในระดับนโยบาย โดยมี 6 กระทรวง และ 30 หน่วยงานเข้ามาให้ความร่วมมือในการสนับสนุนด้านการรับรองมาตรฐาน และออกกฎหมายและระเบียบในหน่วยงานภาครัฐ ที่จะนำไปสู่การช่วยขับเคลื่อนไปสู่การนำไปใช้งานได้จริงในระดับผู้บริโภค

สู่ยุค New Era ปูนลดโลกร้อน
ทั้งนี้ ผลความสำเร็จ นำไปสู่จุดเปลี่ยนยุคใหม่ (New Era) ของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เป้าหมายใหม่อันท้าทายของการขับเคลื่อนภารกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 1 ล้านตัน ภายในปี พ.ศ. 2566 นั่นเท่ากับว่าทั้งอุตสาหกรรม จะผลิตปูนลดโลกร้อนเข้าสู่การใช้งานทั้งประเทศ 100 % หรือ ราว 30-40 ล้านตันต่อปี สอดคล้องกันกับนโยบายของภาครัฐ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคตให้เติบโตอย่างยั่งยืน พัฒนาสังคม ควบคู่กันกับรักษาสิ่งแวดล้อม จะต้องมีการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมประเทศไปสู่เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG -Bio-Circular-Green Economy- BGC )

“ความสำเร็จจากการที่อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์บรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 3 แสนตันตั้งแต่ปี 2564 เป็นผลมาจากการวางแผนโรดโมปที่ชัดเจนได้รับการยอมรับในระดับโลก จึงทำให้ภาครัฐยอมรับ อีกทั้งยังมาจากความร่วมมือกันในสมาคมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิต โดยให้ความสำคัญกับทุกรายทั้งรายใหญ่และรายเล็กเท่าเทียมกัน มีการร่วมมือกันทดลองนำเทคโนโลยีปูนลดโลกร้อนมาใช้จนได้รับการยอมรับในมาตรฐาน อีกทั้งยังมีการตั้งคณะทำงานภายใน TCMA ที่ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายถึง 8 คณะ ซึ่งเข้าไปหารือขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องกับหน่วยงานภาครัฐกว่า 200 ครั้ง/ปี จนนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง ในระดับนโยบาย “ ดร.ชนะ กล่าวถึงปัจจัยความสำเร็จที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกันขับเคลื่อนจากภายใน TCMA สู่ภายนอก

เบื้องหลังความสำเร็จของการนำปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกมาใช้ได้ เป็นผลมาจากการที่ TCMA ทำงานร่วมกันกับภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา โดยการสนับสนุนของกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ทำให้เกิดการปรับปรุงมาตรฐานวิศวกรรมก่อสร้างและกฎระเบียบของหน่วยงาน การปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) มีการวิจัยและพัฒนา ส่งเสริมการผลิต และสร้างความเข้าใจในการส่งเสริมการใช้งานปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก มาตรฐาน มอก. 2594 แทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ มอก.15

เปิด 7 ขั้น ไต่โรดแมปลดคาร์บอนระดับโลก
ดร.ชนะ ยังกล่าวต่อว่า TCMA ตั้งเป้านำอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ.2050 ( พ.ศ.2593) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 30.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการมุ่งสู่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของอุตสาหกรรมซีเมนต์ของประเทศไทย (Thailand Net Zero Cement & Concrete Roadmap 2050) มีทั้งหมด 7 มาตรการที่ TCMA จะดำเนินการต่อเนื่อง ประกอบด้วย 1.การลดจากกระบวนการผลิตปูนเม็ด 2.การลดการใช้ปูนเม็ดในการผลิตปูนซีเมนต์ 3.การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตคอนกรีต 4.การใช้เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนและนำไปใช้ประโยชน์ เช่น การเปลี่ยนรูปไปเป็นพลังงาน ซึ่งต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยี 5.การใช้พลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น การนำพลังงานทางเลือกและพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในกระบวนการผลิต 6.การดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์โดยคอนกรีต และ 7.การเพิ่มประสิทธิภาพในการออกแบบและก่อสร้าง เช่น นำเทคโนโลยีการออกแบบและก่อสร้าง (BIM) มาใช้เพื่อลดการสูญเสียตลอดกระบวนการก่อสร้าง
จากทั้ง 7 มาตรการมีการนำไปสู่การสร้างความร่วมมือกับอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ การร่วมมือกับสมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย ในการพัฒนาคอนกรีต ที่ช่วยดูดซับคาร์บอนได้ดี หรือการร่วมมือกับ Global Cement and Concrete Association ในการเข้าถึงเทคโนโลยี CCUS หรือการสนับสนุนด้านการเงิน Green Finance เป็นต้น

ยก จ.สระบุรี สู่ต้นแบบเมืองอุตสาหกรรมสีเขียว
ดร.ชนะ ยังกล่าวถึงการขยายความร่วมมือไปสู่ภาคท้องถิ่นที่จะสร้างการพัฒนาเปลี่ยนประเทศไปสู่เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG -Bio-Circular-Green Economy- BGC ) ที่นำร่องไปสู่ความร่วมมือกับจ.สระบุรี ซึ่งเป็นแหล่งการผลิตหลักอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ สัดส่วนกว่า 80 % ของการผลิตปูนซีเมนต์เพื่อตอบสนองการใช้งานในประเทศถือกำเนิดและพัฒนาขึ้นในจังหวัดนี้ จึงเริ่มต้นมีความร่วมมือกับ 12 พันธมิตรในจังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นประธานสักขีพยาน ลงนามบันทึกความเข้าใจ เรื่องการบูรณาการความร่วมมือในการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในจ.สระบุรี ที่จะพัฒนาเหมืองปูนไปสู่เหมืองแร่สีเขียว ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังสร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและชุมชน จึงมีการปรับปรุงหลังทำหมืองปูนสิ้นสุด จะมีการพัฒนาเป็นแหล่งน้ำ และจุดเรียนรู้ชุมชน รวมไปถึงการปลูกต้นไม้ เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มุ่งหวังให้อุตสาหกรรมเหมืองแร่เติบโตอยู่คู่ชุมชน จึงจะเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน

โดย นายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า ตามที่ประเทศไทยมีนโยบายให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ โดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และประกาศคำมั่นในการประชุมระดับผู้นำ (World Leader Summit) COP26 ที่เมือง กลาสโกว์ ประเทศ สกอตแลนด์ จึงมีการขับเคลื่อนสร้างความร่วมมือกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมภายในจังหวัด ซึ่งจ.สระบุรี ถือเป็นแหล่งอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมที่สำคัญ พบว่าในปี พ.ศ.2558 ทั้งจังหวัดมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 27.93 ล้านตัน โดยกิจกรรมสูงสุดมาจากภาคอุตสาหกรรมสัดส่วน 68% จึงร่วมมือกับผู้ผลิตปูนซีเมนต์ทุกรายในจังหวัด ผ่านสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักในจังหวัด ร่วมมือกันส่งเสริมการนำวัสดุก่อสร้างประเภทปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก มอก. 2594 เข้าสู่การใช้งานในทุกโครงการก่อสร้างของจังหวัด โดยมีทั้งหน่วยงานภาครัฐในจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชนและผู้ประกอบการให้ความร่วมมือกัน ขับเคลื่อนจากระดับนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรม การใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก 1 พันตัน จะทำให้จังหวัดสระบุรีช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 92 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 5,000 ตัน หรือราว 55 ไร่ทีเดียว เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัด ตามแนวทาง BCG ที่จะสร้างสมดุล ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม