ช่วงปี พ.ศ.2557 พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคยบอกเอาไว้ว่าจะเข้ามาปฏิรูปประเทศในหลาย ๆ ด้าน รวมถึงการปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรม เพื่อคืนความสุขให้กับประเทศไทย เวลาล่วงเลยมา 7 ปีเต็ม ๆ ย่างเข้าสู่ปีที่ 8 แล้ว แต่ “การปฏิรูปตำรวจ” ไม่มีใครตอบได้ว่าบทสรุปจะเป็นเช่นไร ?

ต้องยอมรับความจริงว่า คดีผู้กำกับโจ้ เป็นการเปิดโลกมืดของ กลุ่มตำรวจนอกรีต ยังคงมีเจ้าหน้าที่รัฐซ้อมทรมานผู้ต้องหาอยู่จริง คดีเดียวได้เห็นหลากหลายบริบทว่า ภาครัฐจะเดินหน้าแก้ไขปัญหาครั้งนี้ให้สังคมได้เห็นอย่างไร ทั้งเรื่อง การปฏิรูปตำรวจ  และ การผลักดันกฎหมายเพื่อป้องกันการซ้อมทรมาน-อุ้มหาย ต่างยืดเยื้อมานานหลายปีเช่นกัน

ผู้ต้องหาถูกซ้อมทรมานมีมานานแล้ว

ก่อนหน้านี้ทางภาคประชาชนได้พยายามผลักดันกฎหมาย “พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมาน-อุ้มหาย” เพื่อหวังจะแก้ปัญหาการถูกเจ้าหน้าที่รัฐซ้อมทรมานหรืออุ้มหาย โดยมีสาระสำคัญไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกำหนดโทษ นิยามการทำให้คนสูญหายให้ชัดเจน สร้างหลักประกันด้านสิทธิให้กับผู้ต้องสงสัย เพื่อไม่ให้ถูกทำร้ายทรมานระหว่างควบคุมตัว ฯลฯ ทีมข่าว 1/4 Special Report ได้พูดคุยกับ นายสุรพงษ์ กองจันทึก  ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และอดีตประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น ให้สัมภาษณ์ว่า โดยปกติในกระบวนการยุติธรรมแล้วนั้น เมื่อบุคคลใดตกเป็น “ผู้ต้องหา” ไม่ว่าจะคดีอะไรเป็นหน้าที่ของทุกคน ที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม คือ ต่อสู้คดี ว่าได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ หากเป็นผู้กระทำผิดจริงยอมรับสารภาพ อัตราโทษจะทุเลาลง

แต่หากบุคคลนั้นไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด หรือถูกกล่าวหา บุคคลนั้นก็ควรที่จะมาแสดงตัว ต่อพนักงานสอบสวน ว่าตนเองไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด พร้อมทั้งนำพยานข้อมูลหลักฐานมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ จะได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมดมาตรวจสอบ วิเคราะห์ ว่าเหตุดังกล่าวมีข้อเท็จจริงมากน้อยเพียงใด หากพบว่ามีการกระทำความผิดจริง ขั้นตอนต่อไปก็จะส่งเรื่องไปยังพนักงานอัยการเพื่อดำเนินการตามขั้นตอน จากนั้นพนักงานอัยการจะดูข้อมูลของพนักงานสอบสวนที่ส่งมาว่าเพียงพอหรือไม่ มีการกระทำความผิดจริงตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ หากพบว่ากระทำผิดจริงก็จะส่งฟ้องต่อศาลเพื่อให้ศาลเป็นผู้พิจารณาลงโทษ หรือยกฟ้อง ในขั้นตอนต่อไป

สำหรับกรณีคดี ผู้กำกับโจ้ ที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ ร่วมกันซ้อมทรมานผู้ต้องหาจนถึงแก่ความตายนั้น ในมุมมองของตนเห็นว่า ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นในสังคมไทย  ที่ผ่านมามีการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในลักษณะแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นการซ้อมทรมาน การอุ้มบุคคลให้หายไป หรือนำไปฆาตกรรม โดยใช้อำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ในการกระทำนั้น ซึ่งพบว่ามีมาอย่างยาวนานแล้วและก็ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น ในต่างประเทศก็มีการกระทำในลักษณะแบบนี้เช่นเดียวกัน สมัยก่อนเมื่อเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้แล้ว ส่วนใหญ่จะไม่สามารถสืบสวนสอบสวน หรือหาพยานหลักฐานที่จะสามารถเอาผิดกับกลุ่มบุคคลเหล่านี้ได้เลย ทำให้พบว่ามีการกระทำลักษณะแบบนี้ กันต่อมาโดยตลอด

ภาคประชาชนไล่จี้ผลักดันร่างพ...

อดีตประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติฯ กล่าวต่อว่า  องค์ประกอบหลักกรณีของเจ้าหน้าที่รัฐ ได้กระทำพฤติกรรมการซ้อมทรมาน การอุ้มหาย หรือการนำไปฆาตกรรมนั้น เจ้าหน้าที่จะเตรียมการวางแผนอย่างดีเป็นขั้นเป็นตอนทั้งบุคคลที่จะลงมือ ผ่านการฝึกฝนมาอย่างดี ทั้งด้านอาวุธ อุปกรณ์ เครื่องมือต่าง ๆ ครบ มีการบังคับบัญชาสั่งการตามลำดับชั้น  หลายกรณีมีการปฏิบัติการโดยไม่เกรงกลัวอะไร เมื่อควบคุมตัวบุคคลได้แล้ว ก็จะนำไปดำเนินการซ้อม ทรมาน หรืออาจไปฆาตกรรมตามสถานที่ปิดเฉพาะหรือเซฟเฮาส์ โดยรูปแบบซ้อมทรมานคล้าย ๆ กัน ตั้งแต่ อดอาหาร, น้ำ, เอาถุงคลุม, ทุบตี, ช็อตไฟฟ้า ฯลฯ ระยะหลังจะเน้นไม่ให้ปรากฏร่องรอยทรมาน หรือหากนำไปฆาตกรรมก็จะอำพรางทำลายไม่ให้เหลือแม้ซากศพหลักฐาน และหากถูกตรวจสอบมักจะอ้างว่าเหยื่อเป็นผู้กระทำความผิด ต่อสู้ขัดขืน

จากสาเหตุการกระทำดังกล่าวที่เกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่รัฐทำให้ในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะองค์การสหประชาชาติ ได้ออกอนุสัญญามาด้วยกัน 2 ฉบับ คือ อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT )  ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาฯฉบับนี้ เมื่อวันที่ 2 ต.ค.2550  อีกฉบับ คือ อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย (CED ) เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2555  เมื่อประเทศไทยได้ไปลงนามในอนุสัญญาฯ ฉบับนี้และเตรียมการให้สัตยาบรรณจึงเท่ากับเป็นการยอมรับถึงความสำคัญของการป้องกันมิให้มีการบังคับให้บุคคลสูญหาย และตระหนักว่าการบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

ต่อมารัฐบาลไทย ได้เตรียมการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับในหลักการอนุสัญญาฯ ทั้ง 2 ฉบับ โดยได้มีการมอบหมายให้กับทางกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เป็นผู้ศึกษาดำเนินการยกร่าง ซึ่งในช่วงแรกจะมีการออกกฎหมายเป็น 2 ฉบับ คือ กฎหมายเกี่ยวกับการซ้อมทรมาน และ กฎหมายการบังคับมิให้บุคคลสูญหาย แต่หลังจากมีการประชุมแล้ว ได้ข้อสรุปว่า กฎหมายทั้ง  2 ฉบับ มีความคล้ายคลึงกัน จึงให้รวมกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ เป็นกฎหมายฉบับเดียวกัน โดยให้ใช้ชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย”  ภายหลังจากที่รัฐบาล ได้มีการยกร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้นมาได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลต่าง ๆ พร้อมทั้งมีการปรับปรุงร่างเรียบร้อย จนผ่าน ครม. และนำเข้าไปสู่การพิจารณาของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่ในช่วงนั้น ปี 2560 ได้มีประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 เตรียมการที่จะให้มีการเลือกตั้งใหม่ ทาง สนช. ยุติการออกกฎหมายต่าง ๆ ไว้

ต่อมาปี 2561 กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ฯ เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. แต่กระบวนการพิจารณากลับล่าช้า อีกทั้งยังถูกคัดค้าน และสนช. ถูกยุบก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 ร่าง พ.ร.บ.ฯดังกล่าวจึงตกไป  อย่างไรก็ดี ปี 2562-2563 องค์กรสิทธิมนุษยชนจึงได้ร่วมกันร่างกฎหมายฉบับภาคประชาสังคม ที่มีบทบัญญัติสอดคล้องกับ อนุสัญญาและหลักสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขึ้นเพื่อเสนอให้ตราเป็นกฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้สูญหาย แล้วเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยยื่นให้กับพรรคการเมือง และคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง วันที่ 23 มิ.ย.63 ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ของกระทรวงยุติธรรมที่เสนอมา จากนั้น ก.ค.63 พรรคการเมืองได้เสนอร่างของพรรคการเมือง อีก 3 ร่าง เข้าสู่การพิจารณาต่อสภาผู้แทนราษฎร คือ 1.ร่างของพรรคพลังประชารัฐและพรรคก้าวไกล  2.ร่างของพรรคประชาชาติ 3.ร่างของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งทั้ง 3 ร่าง เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร

กระทั่งวันที่ 23 มิ.ย.64 ที่ผ่านมา ภาคประชาชนเครือข่ายบุคคลที่ถูกซ้อมทรมานหรือสูญหาย ได้ยื่นหนังสือต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อติดตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวฯ คืบหน้าไปถึงไหน และเมื่อมาเกิดคดี “ผู้กำกับโจ้” ร่วมกับลูกน้องรุมทรมานใช้ถุงดำคลุมรัดผู้ต้องหาจนเสียชีวิต ทำให้ร่างพ.ร.บ.ฯฉบับนี้ถูกจับตามองอีกครั้ง

สาระสำคัญพ.ร.บ.ป้องกันทรมาน-อุ้มหาย

ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้เป็นบุคคลสูญหาย มีสาระที่สำคัญหลัก ๆ คือ จะมีมาตราที่ทำให้การซ้อมทรมาน อุ้มหาย ยากขึ้นและมีโทษหนักขึ้น คือ 1.ให้การทรมานและอุ้มหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นอาชญากรรม เจ้าหน้าที่ที่กระทำและผู้บังคับบัญชาที่รู้เห็นหรือละเลยต้องถูกลงโทษ 2.ให้คดีทรมานและอุ้มหายไม่มีอายุความต้องสอบสวนจนกว่าจะรู้ชะตากรรมของผู้ถูกอุ้มหาย 3.ให้มีกลไกป้องกันและตรวจสอบ เช่น ญาติ  ทนายหรือกรรมการมีสิทธิพบผู้ถูกควบคุมตัว ให้บันทึกสถานที่และสภาพร่างกายระหว่างการควบคุมตัว 4.ให้ศาลตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ และมีอำนาจหน้าที่กำหนดวิธีเยียวยาความเสียหาย 5.มีมาตรการคุ้มครองความปลอดภัย และช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายอย่างเร่งด่วน เยียวยาความเสียหายทั้งทางร่างกายและจิตใจ 

6.ให้พนักงานอัยการควบคุมการสอบสวน ไม่ต้องส่งคดีให้ ป.ป.ช.และป.ป.ท.  ให้ศาลพลเรือนเป็นผู้พิจารณาคดีโดยใช้ระบบไต่สวน 7.ตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อร้องเรียน กำหนดนโยบายเยียวยา และป้องกันการละเมิด โดยคณะกรรมการประกอบด้วย ตัวแทนผู้เสียหาย ภาคประชาสังคม ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ พิสูจน์หลักฐาน กฎหมาย และสิทธิมนุษยชน 8.ให้ สามี ภริยา คู่ชีวิต บุพการี ผู้สืบสันดาน และผู้อยู่ในอุปการะ ทั้งที่จดและไม่จดทะเบียน เป็น “ผู้เสียหาย” สามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมและได้รับการเยียวยา 9.คุ้มครองผู้เสียหายที่ร้องเรียนและพลเมืองดีที่แจ้งกรณีทรมานหรืออุ้มหาย  หากกระทำโดยสุจริต และ 10.ให้การทรมานและอุ้มหายเป็นความผิดสากล ไม่มีเหตุยกเว้น ห้ามส่งบุคคลกลับไปเผชิญอันตราย  ไม่ให้รับฟังพยานหรือหลักฐานที่ได้มาจากการทรมาน.