ทั้งนี้ กับกรณีคอมเมนต์ดุเดือดที่ว่านี้จุดเริ่มต้นมิใช่ในไทย เป็นที่เวียดนาม แต่ในไทยก็อื้ออึงด้วย โดยเป็นกรณีที่ชาวโซเชียลแห่แชร์เรื่องราวของสาวสวยคนหนึ่งที่โพสต์รูปคู่เธอกับชายคนหนึ่ง ซึ่งชายในรูปไม่ได้โสด มีสถานะแต่งงานมีภรรยามีครอบครัวแล้ว แต่หญิงสาวคนนี้ก็ไม่ได้ปิดบังหรือปกปิดสถานะของเธอที่ “คบหามีสัมพันธ์กับชายที่มีเมียแล้ว” โดยหลังมีการโพสต์รูป มีการแชร์ ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมหญิงสาวรายนี้อย่างเซ็งแซ่ มีชาวโซเชียลคอมเมนต์กันอย่างดุเดือด…

กระแสกรณีนี้มิใช่อื้ออึงแค่ที่เวียดนาม

ยังข้ามมาเป็นกระแสเซ็งแซ่ในไทยด้วย

ทั้งนี้ กับกรณีดังกล่าวข้างต้นนั่นก็ว่ากันไป ส่วนกรณีโดยรวมเกี่ยวกับ “เมียน้อย” นั้น วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลเชิงวิชาการ ซึ่ง… ในเชิงวิชาการก็มีการให้ความสนใจเกี่ยวกับ “สถานภาพ-การดำเนินชีวิต” ของคนกลุ่มนี้ โดยถึงขั้น มีการศึกษาและเก็บข้อมูลนำมาวิเคราะห์ เพื่อจะทำความเข้าใจถึง “ปัจจัย” ที่ทำให้เกิด “ความสัมพันธ์แบบเมียน้อย” ซึ่งสำหรับการศึกษา “เมียน้อย” ในเชิงวิชาการดังกล่าวนี้…เป็นงานวิทยานิพนธ์ของ สุภาวดี มนัสปิยะเลิศ ในฐานะนักศึกษาหลักสูตรสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

กับหัวข้อการศึกษานั้น…ใช้ชื่อว่า “เมียน้อย : กระบวนการตัดสินใจและการปรับตัว” โดยผู้ที่ศึกษาเรื่องนี้ระบุเป้าหมายไว้ว่า…มีวัตถุประสงค์ 4 ประการ คือ 1.เพื่อศึกษาภาวะเงื่อนไขที่เกิดขึ้นในการตัดสินใจและปัจจัยที่มีอิทธิพล 2.เพื่อศึกษาการปรับตัวและการจัดการเอกลักษณ์ที่มีปัญหา 3.เพื่อศึกษาวิถีชีวิตประจำวันของเมียน้อย และ 4.เพื่อศึกษาการคาดการณ์และวางแผนในอนาคต ทั้งก่อนและหลังตัดสินใจเข้าสู่การเป็น “เมียน้อย” โดยวิธีการศึกษาเน้น สัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ชีวิตเป็นเมียน้อยมาไม่ต่ำกว่า 3 ปี เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สะท้อนความเป็นจริงที่สุด

อนึ่ง “กระบวนการ” ในการ “ตัดสินใจเป็นเมียน้อย” ผลการศึกษาพบขั้นตอนต่าง ๆ ของกระบวนการ ดังนี้คือ… “ขั้นตอนการตัดสินใจเป็นเมียน้อย” พบว่า…เงื่อนไขที่ทำให้ตัดสินใจเป็นเมียน้อยมีเรื่อง ความผูกพันทางอารมณ์ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทำให้การเป็นเมียน้อยของบางคนนั้น ความรัก ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัย ที่ทำให้ตัดสินใจไปในทิศทางเช่นนี้…

“ขั้นตอนการปรับตัวเข้าสู่การเป็นเมียน้อย” เป็นที่ทราบกันดีว่า…เมียน้อยมีเอกลักษณ์ผู้เบี่ยงเบนและสังคมไม่ยอมรับ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในการตัดสินใจเป็นเมียน้อยจึงเป็นช่วง หัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต ทำให้ผู้หญิงที่เป็นเมียน้อยต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับเอกลักษณ์และวิถีชีวิตใหม่ซึ่งภายใต้สถานะเมียน้อยย่อมมีผลต่อการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะการดำเนินชีวิตในช่วงแรก ๆ ของการตัดสินใจเป็นเมียน้อย อาทิ แรงกดดันจากการที่ไม่ได้รับการยอมรับจากบุคคลอื่น ๆ

ถัดมา “ขั้นตอนการธำรงเอกลักษณ์เมียน้อย” โดยหลังจัดการกับอุปสรรคต่าง ๆ หลังตัดสินใจเป็นเมียน้อยแล้ว การดำเนินชีวิตประจำวันย่อมแตกต่างจากผู้หญิงปกติทั่วไป ซึ่งผลศึกษาพบข้อมูลน่าสนใจในเรื่องนี้ อาทิ การ สร้างความรู้สึกดีให้กับตัวเอง ซึ่งหลังจากเข้าสู่การเป็นเมียน้อยนั้นเมียน้อยบางส่วนมองว่า…สาเหตุทำให้เกิดการตัดสินใจเช่นนี้เป็น ความผิดที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากตนเอง แต่เกิดจากเรื่อง เวรกรรม ชะตาลิขิต เหตุสุดวิสัย และ ความผิดของฝ่ายชาย

นอกจากนี้ ยังพบว่าเมียน้อยบางส่วนนั้น พยายามสร้างความแตกต่างให้ตัวเอง ด้วยการ เน้นย้ำภาพที่ไม่ได้เกาะผัวกิน เพื่อจะอธิบายให้คนรอบข้างเห็น “ข้อแตกต่าง” ระหว่างเมียน้อยทั่วไป กับเมียน้อยที่กลุ่มตัวอย่างเป็นอยู่ ซึ่งกรณีนี้สะท้อนการปรับตัวของเมียน้อยเพื่อธำรงเอกลักษณ์ของตนไว้ ขณะที่อีกแนวทางปรับตัวคือวิธีจัดการเอกลักษณ์ที่มีปัญหา เช่น การ ปกปิดข้อมูลตนเอง เพื่อควบคุมให้สังคมรับรู้เท่าที่จะจัดการได้ แต่ก็มีบางรายที่เลือกการ เปิดเผยสถานะ เพื่อให้สังคมได้รับรู้ โดยไม่ต้องคาดเดา ซึ่งเป็นวิธีที่เมียน้อยเลือกใช้เพื่อ ลดแรงกดดัน ในกรณีไม่สามารถควบคุมข้อมูลได้

…เหล่านี้เป็น“วิธีปรับตัว” ที่ถูกนำมาใช้

ทั้งนี้ ผู้ศึกษาเรื่องนี้ยังสะท้อนผลการศึกษาไว้อีกว่า… ในสังคมไทย “สถานภาพเมียน้อย” เป็นสถานภาพบุคคลที่ “ไม่เป็นที่ยอมรับตามกฎหมายและสังคม” เนื่องจากภายใต้กรอบบรรทัดฐานสังคมมักกำหนดคุณลักษณะการเป็นผู้หญิงที่ดีไว้ว่า…ต้องเรียบร้อย ต้องเป็นกุลสตรี รักนวลสงวนตัว จึงส่งผลทำให้ผู้หญิงที่เป็นเมียน้อยซึ่งไม่ได้ประพฤติตนให้เป็นไปตามบรรทัดฐานและความคาดหวังทางสังคม ถูกมองเป็นผู้หญิงไร้ศีลธรรม ผู้หญิงไม่ดี ผู้หญิงไร้ยางอาย ซึ่งแสดงถึงการไม่ยอมรับความเป็นเมียน้อย และมีมุมมองต่อเมียน้อยในลักษณะที่เป็นปัญหาทางสังคม และปัญหาครอบครัว…

อย่างไรก็ตาม… “แรงกดดันด้านครอบครัว เช่น ครอบครัวแตกแยก การเข้มงวดของการอบรม ชีวิตสมรสล้มเหลว ต้องการที่จะลบคำสบประมาท เช่น จะเอาชนะคำท้าของผู้ที่เป็นเมียหลวง เหล่านี้เป็นปัจจัยเกื้อหนุน นอกเหนือจากปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้หญิงตัดสินใจเป็นเมียน้อย” …เป็น “ข้อค้นพบ” จากการศึกษาเพื่อให้เข้าใจ…

“ปัจจัย” ทำให้ “ตัดสินใจกินน้ำใต้ศอก”

“ยอม” เข้าสู่สถานะ “เป็นเมียน้อย”…

จน “ต้องปรับตัวมิใช่น้อย ๆ”.