ทั้งนี้ วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์ ก็จะสะท้อนต่อข้อมูลเกี่ยวกับสมาชิกในครอบครัวไทยยุคปัจจุบันในส่วนที่เกี่ยวกับเด็ก ที่ยุคนี้ก็ “มีปัญหามากขึ้น!!” รวมถึงกรณี “เด็กหาย-เด็กถูกทำร้าย-เด็กเสียชีวิต” โดยมีเงื่อนงำ “ชวนกังขายึดโยงบุคคลในครอบครัวเด็ก??” …ที่อื้ออึงอย่างต่อเนื่อง…

กับ “เด็กในครอบครัวที่มีฐานะยากจน”

หรือ “เด็กที่ครอบครัวมีภาวะบกพร่อง”

นี่ “สุ่มเสี่ยงหลุดจากระบบช่วยเหลือ!!”

ทั้งนี้ เพื่อจะช่วยเหลือและป้องกันผลกระทบให้กับ “เด็กกลุ่มเปราะบาง” กลุ่มนี้ ทั้งผลกระทบต่อสุขภาพ ผลกระทบในด้านการขาดโอกาสพัฒนาศักยภาพ รวมถึงผลกระทบด้านการเรียนรู้ในระยะยาวของเด็กกลุ่มนี้ ในยุคโควิด-19 นี่ก็มีอีกหนึ่งโครงการที่น่าสนใจ คือ… โครงการ “วิจัยชีวิตไม่พึงประสงค์ของเด็กปฐมวัยเพื่อฟื้นฟูสุขภาวะเด็กและครอบครัวจากวิกฤติ COVID-19” ที่มีเป้าหมายสำคัญคือ…ส่งเสริมสนับสนุนนักวิจัยไทยให้ลงพื้นที่สำรวจ ค้นหา-คัดกรอง และให้ความช่วยเหลือ ควบคู่ไปพร้อมกับการ พัฒนาคุณภาพและศักยภาพเด็ก และครอบครัว ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ผ่านแนวทาง “สร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ”

“พัฒนานวัตกรรมใหม่เพื่อใช้แก้ปัญหา”

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทาง รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ประธานมูลนิธิสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า…ในยุคโควิด-19 นอกจากจะมีเด็กที่เจ็บป่วยจากอาการทางเดินหายใจและอาการแทรกซ้อนหลายอย่างแล้ว ที่มากกว่านั้นก็คือ ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมของพ่อแม่ ที่ทำให้ “ครอบครัวป่วย” ตามไปด้วย จน “ส่งผลกระทบต่อเด็ก”…

“โดยเฉพาะเด็กเล็ก” เป็น “กลุ่มเสี่ยงสูง”

ที่ “เกิดผลกระทบมากด้านการเรียนรู้!!”

นอกจากนี้ รศ.นพ.อดิศักดิ์ ยังได้เผยไว้อีกว่า… ความสัมพันธ์ของ “ความยากจน” ที่ส่งผล “ทำให้เกิดภาวะครอบครัวบกพร่อง” นั้น ได้ส่งผลทางอ้อมอีกส่วนต่อเด็กกลุ่มนี้ด้วย โดยส่งผลให้ “เกิดการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม” และ ยิ่งเป็น “เด็กปฐมวัย” ที่เติบโตในครอบครัวยากจนที่มีปัญหาเศรษฐกิจ ก็ยิ่งทำให้ “ปัญหาเดิมยิ่งถูกเพิ่มเติมด้วยปัญหาใหม่ ๆ” จนกลายเป็น “ปัญหาซับซ้อนยิ่งขึ้น” ที่ถึงแม้จะมีบางครอบครัวสามารถ “ดูแลจัดการเด็ก” ได้ระดับหนึ่ง แต่…

มีครอบครัวไม่น้อยที่ “ไม่สามารถทำได้”

“ไม่สามารถดูแลเด็กได้อย่างเหมาะสม!!”

“การศึกษาเรื่องนี้พบว่า ภาวะครอบครัวบกพร่องที่สำคัญนั้นมีตั้งแต่ครอบครัวที่ยากจน ครอบครัวที่แตกแยก ครอบครัวที่มีการใช้ความรุนแรง ครอบครัวที่ใช้สารเสพติด ครอบครัวที่ก่ออาชญากรรม รวมถึงครอบครัวที่มีสุขภาพจิตที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งภาวะบกพร่องเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับความยากจน” …รศ.นพ.อดิศักดิ์ อธิบายภาวะนี้ไว้

และกับ “ภาวะบกพร่องของครอบครัว” ดังที่กล่าวมานี้ กรณีนี้ได้ “ส่งผลต่อวิธีการดูแลเด็กของครอบครัว” โดยครอบครัวใดที่เกิดภาวะดังกล่าวนี้ ก็มักจะพบว่า… เด็กมักจะถูกละเลยจากการได้รับการดูแลสูง ทั้งทางกายและทางอารมณ์ ที่สำคัญ…ไม่เพียงถูกละเลย ที่ซ้ำร้ายคือยังพบกรณี “เด็กถูกทารุณกรรม” รวมทั้ง “เด็กถูกทำร้ายทางเพศ” ด้วย

สังคมไทย “จำเป็นต้องพยายามหาทาง”

“สร้างกลไกการช่วยเหลือให้เด็กกลุ่มนี้”

ทั้งนี้ “กลไกช่วยเหลือเด็กจากภาวะครอบครัวบกพร่อง” นี้ ทาง รศ.นพ.อดิศักดิ์ ระบุไว้ว่า…ในส่วนของนักวิจัยเองก็มีความห่วงใยเด็กกลุ่มเปราะบางกลุ่มนี้มาก โดยเฉพาะ “เด็กที่ตกอยู่ภายใต้ความเหลื่อมล้ำของสังคม” เด็กที่อยู่ภายใต้ครอบครัวที่ยากจน เด็กที่อยู่ภายใต้ครอบครัวที่มีภาวะบกพร่อง ที่เสี่ยงจะได้รับการดูแลอย่างไม่เหมาะสม จึ

ได้คิดค้นเครื่องมือให้ชุมชนนำไปใช้สร้างองค์ความรู้เพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ อาทิ ใช้กลไกบุคลากรที่มีในชุมชนอยู่แล้ว เช่น ครูปฐมวัย, อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน, อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการเข้าช่วยเหลือ

“ช่วยเหลือ” ทั้ง “เด็ก และครอบครัว”…

ที่มี “ภาวะความบกพร่องในครอบครัว”

“ชุมชน ผู้นำชุมชน สามารถนำเครื่องมือเหล่านี้ไปใช้ สามารถนำไปใช้เพื่อเป็นเครื่องมือเพื่อศึกษา ติดตาม ช่วยเหลือ ตลอดจนใช้ ช่วยฟื้นฟู เด็กและครอบครัวได้ และสุดท้ายข้อมูลที่ได้รับกลับมาก็จะเป็นประโยชน์ในการจัดทำแนวทางเพื่อ ป้องกันปัญหา ในเรื่องนี้ด้วย” …นี่เป็นประโยชน์โครงการนี้ที่ประธานมูลนิธิสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็กได้ให้ข้อมูลไว้

“ครอบครัวบกพร่อง” นับวัน “ไทยมีอื้อ”

“แก้ไข-ฟื้นฟู-ป้องกัน” นั้น “ต้องเร่งทำ” “หยุดกรณีโศกนาฏกรรมชีวิตเด็ก!!!”.