เมื่อวันที่ 24 ก.พ. เวลา 13.15 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ได้เดินทางมากระทรวงคมนาคม พร้อมตั้งโต๊ะแถลงข่าวเกี่ยวกับการทุจริตโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยก่อนเริ่มการแถลงข่าวได้นำน้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดคนโกง และสเปรย์ดับกลิ่นเหม็นเงินทอน มาฉีดพ่นบริเวณด้านหน้า และภายในห้องโถงกระทรวงคมนาคม พร้อมกันนี้ยังโชว์ล้างหน้าแปรงฟัน เพื่อลบคำกล่าวของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ที่กล่าวหาว่านายชูวิทย์ ตื่นมาไม่ได้ล้างหน้าแปรงฟัน อย่างไรก็ตามในส่วนของกระทรวงคมนาคมนั้น นายศักดิ์สยาม ได้ส่งนางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการ รมว.คมนาคม และนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าแห่งประเทศไทย (รฟม.) ให้การต้อนรับ และรอรับเอกสารหลักฐาน แต่ปรากฏว่านายชูวิทย์ ไม่ได้ยื่นเอกสารให้ แต่ได้ยื่นน้ำยาบ้วนปากฝากให้นายศักดิ์สยามแทน ซึ่งนางสุขสำรวยไม่ได้รับกลับมาแต่อย่างใด
นายชูวิทย์ กล่าวว่า ไม่ได้บอกว่าจะเดินทางมายื่นหลักฐานเอกสารให้กับกระทรวงคมนาคม จะให้ยื่นทำไมในเมื่อเป็นกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ดำเนินการประมูล ซึ่งตนจะนำเอกสารหลักฐานไปยื่นให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนกับรัฐในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตะวันตก เพื่อให้การบริหารงบประมาณจากเงินภาษีอากรใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า พร้อมทั้งให้ตรวจสอบนายศักดิ์สยามด้วย เนื่องจากเรื่องราวเกิดขึ้นในสมัยศักดิ์สยาม เป็นเจ้ากระทรวง และรู้เรื่องเป็นอย่างดี แต่ไม่ดำเนินการใดๆ ตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ ถือว่าเป็นการละเว้นเกี่ยวกับหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด
นายชูวิทย์ กล่าวต่อว่า การออกมาเปิดเผยข้อมูลเรื่องนี้ ยืนยันว่าไม่ได้รับเงินฝ่ายใดมาสักบาท แต่ออกมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ให้ประชาชน และประเทศชาติ แต่หากเรื่องรถไฟฟ้าสายสีส้มใครรับเงินมาไม่ว่าจะกี่บาทขอสาปแช่งให้ไม่เจริญ แต่ถ้าไม่ได้รับก็ขอให้เจริญๆ อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญของการทุจริตรถไฟฟ้าสายสีส้มอยู่ที่การล็อกสเปกชัดเจน โดย รฟม. มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และคุณสมบัติผู้เข้าร่วมการประมูลใหม่ จากเดิมต้องเป็นบริษัทผู้เดินรถในไทย เปลี่ยนเป็นบริษัทเดินรถได้ทั่วโลก ส่วนบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง เดิมเปิดกว้างให้ผู้รับเหมาจากทั่วโลกสามารถเข้าประมูลได้ แต่กลับเปลี่ยนใหม่เป็นต้องเป็นผู้รับเหมาที่มีผลงานการสร้างอุโมงค์ และงานรางที่สำเร็จแล้วในประเทศไทย ซึ่งก็มีเพียงแค่ 2 บริษัทคือ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เท่านั้น
ส่วนบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ยังไม่มีผลงาน จึงทำให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทเดินรถไม่มีบริษัทผู้รับเหมา จึงเข้าประมูลไม่ได้ ขณะที่บริษัท ช.การช่างฯ จับคู่กับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือบีอีเอ็ม ส่วนบริษัท อิตาเลียนไทยฯ จับคู่กับบริษัทเดินรถจากประเทศเกาหลีใต้ แต่บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ก็ขาดคุณสมบัติ เนื่องจากผู้บริหารเป็นบุคคลต้องโทษตามคำพิพากษาศาลฎีกา ไม่สามารถเข้าร่วมประมูลตามเงื่อนไขของ รฟม. ได้ จึงทำให้บริษัทผู้รับเหมาเหลือเพียงรายเดียวคือ บริษัท ช.การช่าง
“กระทรวงคมนาคมมีความพยายามที่จะทำให้โครงการนี้สำเร็จก่อนหมดอายุรัฐบาลชุดนี้ด้วย ซึ่งหากเอาเอกสารหลักฐานยื่นไปให้กระทรวงคมนาคม ก็ไม่รู้จะเอาไปเก็บใส่เก๊ะหรือเปล่า จะไปยื่นให้ทำไม อยากได้ให้ไปเอาที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน และอย่าเอาผมไปพัวพันกับนักการเมือง อีกทั้งหากเก่งจริงนายศักดิ์สยามต้องอยู่กระทรวงคมนาคม อย่าลืมเอาน้ำยาไปบ้วนปากด้วย เหม็นขี้ฟัน และที่ขู่ว่าจะฟ้องผม ก็ไปฟ้องเลย ไม่เคยกลัว ขอให้ทำจริง อย่าปากเหม็น แต่ตอนเลือกตั้งระวังให้ดี เจอถล่มเละแน่ จะไม่ให้พรรคภูมิใจไทยได้สักคะแนนเสียงในกรุงเทพฯ เลย” นายชูวิทย์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีหลักฐานเรื่องการโอนเงิน 3 หมื่นล้านที่ประเทศสิงคโปร์หรือไม่ นายชูวิทย์ กล่าวว่า โครงการมันยังไม่เริ่ม การจ่ายก็ยังไม่มี ยังเป็นเหมือนการตกลง ถึงมีหลักฐานก็ยังไม่ให้ จะรอให้ผู้ร้ายมอบตัวก่อน
ด้านนางสุขสมรวย กล่าวว่า นายศักดิ์สยาม ได้มอบหมายให้อยู่ต้อนรับนายชูวิทย์ เนื่องจากติดภารกิจลงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ และบุรีรัมย์ ซึ่งกำหนดการนี้ได้กำหนดล่วงหน้าไว้แล้ว โดยตั้งใจมารับหนังสือและหลักฐานต่างๆ จากนายชูวิทย์ แต่นายชูวิทย์ไม่นำมายื่นให้ อย่างไรก็ตามหากนายชูวิทย์มีหลักฐานการโอนเงินทอน 3 หมื่นล้านบาทที่ประเทศสิงคโปร์ หรือมีหลักฐานตามที่นายชูวิทย์เคยให้ข้อมูลต่อสื่อไป เราพร้อมที่จะรับ และเปิดเผยต่อหน้าสื่อมวลชนทั้งหมด แต่เมื่อนายชูวิทย์ ไม่มีหลักฐานมา หรือมีแต่ไม่ยื่นก็ให้เวลานายชูวิทย์
“การกระทำเช่นนี้ของนายชูวิทย์ ในทางกฎหมายสามารถฟ้องร้องกันได้ แต่เราไม่รู้จะทำไปทำไม ในเรื่องของรถไฟฟ้าสายที่ส้ม ตอนนี้ยังอยู่ที่กระบวนการยุติธรรม วันนี้รู้สึกผิดหวัง เพราะตั้งใจจะได้เห็นเอกสารตามที่นายชูวิทย์กล่าวผ่านสื่อก่อนหน้านี้ ซึ่งนายศักดิ์สยามได้สั่งการว่า หากได้รับเอกสารอะไรให้ส่งสำเนาให้สื่อมวลชนทั้งหมด และไม่ต้องกังวลใดๆ เพราะกระทรวงคมนาคม และ รฟม. มีความมั่นใจในสิ่งที่ทำทั้งหมด อย่างไรก็ตามเราทุกคนคือคนไทย ถ้ามีหลักฐานที่เป็นประโยชน์กับประชาชนก็ยื่นมาได้เลย ทุกอย่างก็จะง่าย แต่เมื่อไม่มีหลักฐานมายืนยัน คนก็อาจเชื่อตามที่นายชูวิทย์กล่าว วันนี้เราเตรียมกรรไกรมาเพื่อตัดซองเอกสารให้สื่อมวลชนเห็นพร้อมกันด้วย แต่เมื่อไม่มีมา ก็ให้นายชูวิทย์แอ๊คชั่นต่อไป” นางสุขสมรวย กล่าว
ขณะที่นายภคพงศ์ กล่าวว่า สิ่งที่นายชูวิทย์ตั้งข้อสังเกตการทุจริตรถไฟฟ้าสายสีส้มทั้ง 5 สถานีเมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่ผ่านมานั้น อยู่ในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดแล้ว ซึ่งมีผู้ฟ้องคดี โดย รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ เป็นผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งขณะนี้ รฟม. ยังรอคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดอยู่ ยังไม่มีการเดินหน้าโครงการต่อแต่อย่างใด ยืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์ประมูลไม่ได้ล็อกสเปค และไม่ได้มีบริษัทก่อสร้างเพียงแค่ 2 บริษัทเท่านั้น ที่สามารถเข้าร่วมประมูลได้เท่านั้น ซึ่ง รฟม. เปิดกว้างทั้งบริษัทในไทย และต่างชาติที่มีผลงานการก่อสร้างอุโมงค์ และงานรางที่สำเร็จแล้วในไทย ไม่ใช่แค่บริษัทในไทยเท่านั้นตามที่นายชูวิทย์กล่าว ทั้งนี้ปัจจุบันมีประมาณ 10 บริษัทที่สามารถเข้าร่วมประมูลได้
สำหรับบริษัท 10 ราย ได้แก่ 1.บริษัท อิตาเลียนไทยฯ 2.บริษัท ช.การช่างฯ 3.บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) หรือ NWR 4.บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UN 5.บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด 6.Bilfinger Berger 7. Tokyu 8.Kumagai 9.Obayashi และ 10.Nishimatsu
“ที่ผ่านมานายชูวิทย์เคยพูดว่า การต่อสู้ทางกฎหมาย เป็นกติกาที่สังคมต้องยอมรับ ดังนั้นเมื่อคำพิพากษาสูงสุดของศาลปกครองเป็นอย่างไรก็ต้องดำเนินการตามตามนั้น อย่างไรก็ตามยืนยันว่า รฟม. และกระทรวงคมนาคม ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มด้วยความโปร่งใส สิ่งที่นายชูวิทย์พูดนั้นไม่แน่ใจว่าเป็นประสบการณ์ของคุณในการทำธุรกิจสีเทาดั้งเดิมหรือไม่ ส่วนเรื่องที่นายชูวิทย์กล่าวถึงว่ามีการวิ่งเต้นคำพิพากษาเพื่อประโยชน์นั้น ใกล้เคียงกับหมิ่นเหม่ละเมิดศาลได้ ไม่แน่ใจว่าหากศาลดำเนินคดีในเรื่องนี้ จะได้รับความเมตตาจากศาลหรือไม่” นายภคพงศ์ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามขณะนี้ในส่วนของกระทรวงคมนาม และ รฟม. อยู่ระหว่างให้ทีมฝ่ายกฎหมายรวบรวมหลักฐานที่ปรากฏไว้แล้วว่า มีคำกล่าวอะไรที่ส่งผลกระทบทำให้เสื่อมเสียหรือไม่ ซึ่งเรามีสิทธิฟ้องร้องตามกฎหมายอยู่แล้ว