“เมืองเพชร” ไม่ได้เด็ดแค่ขนมหม้อแกง แต่ยังมี “มุมชีวิตน่าสนใจ” ของ สาวรำวง ที่น่าค้นหาไม่น้อย โดยเฉพาะกับ คนรุ่นใหม่ ๆ ที่รวมถึง โบว์-นภาพร เกตุศรีโย และ จีน-ณิชกมล แท่งทอง ที่ต่างให้ความสนใจกับเส้นทางนี้ จนเลือกยึดอาชีพนี้เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิต ที่วันนี้ “ทีมวิถีชีวิต จะพาไปสัมผัสเรื่องราวน่าค้นหาของ สาวรำวง New Gen เหล่านี้กัน…

เริ่มจากเส้นทางของ “สาวรำวงคนรุ่นใหม่” ที่ชื่อ “โบว์-นภาพร เกตุศรีโย” สาววัย 29 ปี ดีกรีปริญญาตรีสาขาบัญชี จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่พลิกผันตัวเองมาเป็น หัวหน้าคณะรำวงย้อนยุค เมืองเพชรบุรี โดยเธอเล่าให้ “ทีมวิถีชีวิต” ฟังว่า เธอเป็นคนเพชรตั้งแต่เกิด โดยเติบโตที่บ้านหนองไก่เถื่อน อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี ซึ่งปัจจุบันนี้เธอยังโสด โดยในช่วงกลางวันนั้นเธอจะทำงานประจำเป็นเจ้าหน้าที่บัญชีที่สหกรณ์เครดิตยูเนียนโรงเรียนวัดหนองแก ส่วนกลางคืนก็จะสลัดคราบพนักงานประจำสวมชุดสาวรำวง ซึ่งเป็นอีกอาชีพที่เธอหลงรักมาก ๆ โดยนอกจากจะทำหน้าที่เป็นคู่เต้นรำวงให้กับแขกเหรื่อแล้ว เธอยังมีอีกบทบาทในฐานะเป็นหัวหน้าคณะรำวงด้วย โดยโบว์ได้เล่าว่า รำวงย้อนยุคเมืองเพชรมีมานานแล้ว โดยเฉพาะที่เพชรบุรีนี้จะมีรูปแบบที่แตกต่างจากจังหวัดอื่น ๆ ตรงที่มีคณะรำวงย้อนยุคเยอะมาก ซึ่งสำหรับเส้นทางสาวรำวงของเธอนั้น เธอเข้ามาอยู่ในคณะรำวงตั้งแต่ยังเรียนอยู่ชั้น ป.6 เนื่องจากป้าของเธอเป็นเจ้าของคณะรำวง  

โบว์-นภาพร เกตุศรีโย

มุมมองของโบว์มองว่า…ปัจจุบันนี้รำวงย้อนยุคกลับมาฮิตใหม่อีกครั้ง จากเดิมที่เมื่อก่อนจะมีงานน้อยมาก ถ้าเป็นงานศพก็มักจะไม่จ้างคณะรำวงให้ไปออกงาน แต่ตอนนี้แทบทุกงานจะต้องมีรำวง ส่วนตัวคิดว่าที่เมืองเพชรนิยมรำวงเพราะคนไม่ค่อยชอบวงที่มีดนตรีและแดนเซอร์ โบว์ เจ้าของคณะรำวงวัย 29 ปี บอกเรา

ก่อนจะเล่าเส้นทางของเธอให้ฟังอีกว่า เริ่มเป็นสาวรำวงมาตั้งแต่เด็ก ๆ โดยเธอได้ขอป้าที่เป็นเจ้าของคณะรำวงเพื่อทำงานนี้ เพราะอยากมีรายได้พิเศษไว้ซื้อขนมหรือของใช้ส่วนตัว เนื่องจากสมัยนั้นงานไม่เยอะเหมือนในปัจจุบันนี้ จากนั้นเธอก็ทำงานเป็นสาวรำวงกับป้ามาเรื่อย ๆ จนวันหนึ่งป้ารู้สึกเหนื่อย และอยากจะเลิกคณะรำวง ซึ่งตอนนั้นเธอกำลังเรียน ปวส. และด้วยความที่คลุกคลีตีโมงกินนอนในคณะรำวงมาตั้งแต่เด็ก ทำให้เธอรู้ขั้นตอนติดต่องาน รู้ขั้นตอนดูแลนางรำ รู้จังหวะท่าเต้น และอะไรหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับคณะรำวง เธอจึงไปปรึกษาพ่อแม่ว่าอยากจะเป็นเจ้าของคณะรำวงรับช่วงต่อจากป้า ซึ่งพ่อแม่ก็สนับสนุน ทำให้เธอได้เป็นเจ้าของคณะรำวงย้อนยุคมาตั้งแต่ยังเรียนอยู่ ปวส.

ปัจจุบันนี้มีงานเยอะมาก เรียกว่ามีงานทุกวันเลย อย่างเดือนนี้มีว่างแค่วันเดียว และด้วยความที่หนักก็เอาเบาก็สู้ไม่ถอยแบบนี้ ทำให้นางรำเพชรบุรีเลยได้ชื่อว่าหญิงแกร่ง เพราะงานเล็ก งานใหญ่ ขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน งานกฐิน งานผ้าป่า งานบวช หรือแม้แต่งานศพ ไปได้หมด โบว์ สาวรำวงเมืองเพชรกล่าวอย่างขำ ๆ พร้อมเล่าต่อว่า ที่ตัดสินใจรับช่วงคณะรำวงจากป้า อย่างแรกคือความชอบส่วนตัว แถมพ่อแม่ก็สนับสนุน เส้นทางการก้าวมาเป็นหัวหน้าคณะรำวงจึงไม่ยากเกินไป นอกจากนี้ด้วยความที่มีประสบการณ์มาตั้งแต่เด็ก ๆ ทำให้รู้ว่าจะต้องบริหารจัดการอย่างไรกับคณะรำวง อย่างไรก็ดี โบว์บอกว่า การตั้งคณะใช้เงินลงทุนเยอะ เพราะชุดนางรำ 1 เซต ก็ราคาเป็นหมื่น แถมเชตหนึ่งจะต้องมีประมาณ 16-17 ชุด และยังต้องมีสำรองไว้อีก 1-2 ชุด กรณีชุดเสียหาย ซึ่งเวลาออกงานจะใช้นางรำ 15 คนต่อคืน ทำให้แต่ละเดือนต้องใช้เงินไม่น้อย

“สาวรำวง New Gen” ชุดใหญ่ “แซ่บสวยใสไฟกะพริบ”

คณะของเรานั้น ชุดนางรำโบว์จะต้องคิดประยุกต์และปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ โดยเราจะเน้นชุดน่ารักเป็นหลัก ไม่เอาแบบโป๊หรือเซ็กซี่เกินงาม ซึ่งจุดเด่นของรำวงคณะน้องโบว์-นภาพร ต้องบอกว่า สาวรำวงของเราเน้นน่ารักค่ะ (หัวเราะ) และจะเน้นรำสวยด้วย ซึ่งส่วนมากไปที่ไหนคนมักจะทักว่าสาวรำวงคณะนี้คัดตัวมาจากเวทีนางงามหรือเปล่าเนี่ย (หัวเราะ) เพราะหน้าตาน่ารักทุกคนเลย แถมยิ้มเก่ง โดยโบว์จะคัดคนที่น้ำหนักตัวและส่วนสูงใกล้เคียงกัน และอีกจุดเด่นของคณะเราคือ สาว ๆ ของเรายิ้มเก่ง พูดจาเพราะ มารยาทดี ที่สำคัญสาว ๆ รำวงของเราทุกคนจะไม่มีรอยสักเลย ซึ่งคนที่เข้ามา สมัครกับคณะนั้นก็มีทั้งที่มาจากหน้าเพจของเรา แต่ส่วนมากจะแนะนำกันมามากกว่า

โบว์ยังบอกอีกว่า งานแสดงไม่ได้มีเฉพาะที่เพชรบุรีเท่านั้น จังหวัดอื่น ๆ ก็มีติดต่อเข้ามาตลอด แต่วงของเธอมักจะไปไม่ได้เนื่องจากน้อง ๆ ยังเป็นนักเรียนนักศึกษากันอยู่ ทำให้ออกไปรับงานไกล ๆ ไม่ได้ แต่ถ้าจังหวัดใกล้เคียง เช่น ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี พอไปได้ ขณะที่รายได้ของสาวรำวงนั้น ถ้าเป็นการแสดงที่เพชรบุรี จะได้ค่าตัวคืนละ 200 บาท แต่ถ้าไปจังหวัดอื่นใกล้ ๆ ก็จะเพิ่มเป็นคนละ 300 บาท และมีทิปจากแขกแยกเป็นของใครของมัน สำหรับเวลาแสดงนั้นจะเริ่มตั้งแต่สองทุ่มไปจนถึงเที่ยงคืน หรือเต้นงานละประมาณ 4 ชั่วโมง โดยจะมีพักเบรก พักเข้าห้องน้ำ หลังจากที่เต้นไปได้สัก 3-4 เพลง

บรรยากาศระหว่างปฏิบัติภารกิจ

รำวงเมืองเพชรไม่มีฤดูพักวงนะคะ ใครจ้างก็ไปทั้งนั้น แม้แต่หน้าฝน เรียกว่าสาวรำวงของเราสู้ชีวิตมาก ต่อให้ฝนตกลมแรง ก็กอดคอกันขึ้นเต้นไม่มีถอยค่ะ เธอยิ้มขณะเล่าให้เราฟังเรื่องนี้ พร้อมกับบอกว่า รำวงทุกคณะในยุคนี้ก็จะมีเฟซบุ๊กไว้สื่อสารกับเจ้าภาพ และ FC ของแต่ละคน ซึ่งหากได้เข้าไปติดตามชีวิตของสาวรำวงแต่ละคน จะเหมือนกับได้อ่านนิยายชีวิตสักเรื่องหนึ่ง เพราะหลังฉากเต็มไปด้วยเรื่องราวที่มีทั้งสุขปนทุกข์ สนุกปนเศร้า ถามว่าชีวิตสาวรำวงลำบากไหม? ก็มีนิดหนึ่ง เพราะเจอคนหลากหลายรูปแบบมาก เช่น บางคนอยากเต้นกับสาวรำวงคนนี้คนเดียว แต่ขึ้นมาไม่ทันรอบ หรือเต้นอยู่กับคนอื่นก็ใส่อารมณ์กับสาวรำวงก็มี แต่สาว ๆ ก็ทำได้แค่ยิ้ม ไม่สามารถโมโหหรือใส่อารมณ์กลับได้ หรือบางครั้งก็เจอเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่น มีคนพยายามจะลวนลาม ซึ่งทางคณะย้ำเสมอว่าไม่ให้ตอบโต้ แต่ถ้าไม่ไหวจริง ๆ ก็ให้เดินลงจากเวทีเลย

หนูเป็นหัวหน้าคณะมาตั้งแต่ปี 2556 ถึงตอนนี้ก็ 9 ปีแล้ว ซึ่งก็ทำงานประจำไปด้วย คุมวงด้วย และเป็นสาวรำวงไปด้วย ถามว่าเหนื่อยไหม ก็เหนื่อย แต่มีความสุขที่ได้ทำ ที่ได้สร้างรอยยิ้ม ความเหนื่อยก็เลยหายไป โบว์เผยเรื่องนี้ พร้อมทั้งบอกด้วยว่า “ทัศนคติของสังคมที่มีต่อสาวรำวง” นั้น ปัจจุบันนี้ดีกว่าในอดีต ซึ่งเมื่อก่อนคนอาจมองอาชีพนี้ไม่ค่อยดีว่า เต้นกินรำกิน แต่ยุคนี้ไม่มีแล้ว อีกทั้งวงของเราเป็นที่รู้จักวงกว้าง ทำให้มีคนเข้าใจแนวคิดของวง ทำให้พ่อแม่จึงอยากพาลูกหลานมาเต้นรำวงกับคณะของเรา นอกจากนั้นมีหลายคนที่ชื่นชม “ชีวิตสาวรำวง” เพราะสาวรำวงบางคนมาจากครอบครัวที่มีฐานะไม่ดี มาทำอาชีพเพราะต้องการส่งเสียตัวเองให้ได้เรียน หรือมาหารายได้เพื่อส่งให้กับครอบครัว หรือส่งลูกเรียน ทำให้ภาพเก่า ๆ ที่ไม่ดี วันนี้ไม่มีอีกแล้ว แถมจะออกไปในทางชื่นชมเสียเป็นส่วนมาก …ทาง โบว์-นภาพร บอกเล่าไว้

จีน-ณิชกมล แท่งทอง

ขณะที่อีกหนึ่งสาวรำวงที่เรื่องราวชีวิตของเธอก็น่าสนใจเช่นกัน คือ “จีนณิชกมล แท่งทอง” สาวน้อยวัย 20 ปี เธอกำลังศึกษาระดับปริญญาตรี คณะบัญชี ปี 3 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นรุ่นน้องสถาบันเดียวกับ โบว์-นภาพร รายนี้บอกเล่าถึงที่มาการเข้ามาเป็นสาวรำวงของเธอว่า มีรุ่นพี่ที่เป็นสาวรำวงแนะนำ แต่ตอนนี้พี่คนนั้นได้เลิกอาชีพนี้ไปแล้ว ซึ่งที่เธอตัดสินใจยึดอาชีพนี้เพราะต้องการทำงานเพื่อหาเงินมาใช้เป็นทุนการศึกษา อยากแบ่งเบาภาระทางบ้าน เนื่องจากเธอยังมีน้องชายอีก 1 คน และคุณแม่ก็เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ซึ่งอาชีพแม่บ้านของคุณแม่เป็นสัญญาจ้าง เงินเดือนก็ไม่ได้มาก โดยเส้นทางสาวรำวงของจีนนั้น เริ่มตั้งแต่อายุ 15 ปี และยึดอาชีพนี้มาประมาณ 5-6  ปีแล้ว ตอนที่เข้ามาใหม่ ๆ ก็ได้พี่ ๆ ช่วยสอนค่ะ โดยเริ่มจากซ้อมเต้นจังหวะง่าย ๆ เช่น ตะลุงกับสามช่าก่อน มีพี่คอยช่วยบอกท่าเต้นให้ แต่หนูเป็นคนชอบเต้นอยู่แล้ว ซ้อมไม่นานก็จำจังหวะได้หมด แต่ยอมรับว่าครั้งแรกที่ขึ้นเวทีนั้นรู้สึกตื่นเต้นมาก เต้นผิดเต้นถูก จนตอนหลังความตื่นเต้นก็ลดลง ตอนนี้เต้นไปยิ้มไปได้เพราะชำนาญมากขึ้น และทำให้กล้าเล่นกล้าคุยกับคนมากขึ้น จีน สาวรำวงวัย 20 ปีกล่าว

พร้อมกับเล่าชีวิตต่อไปว่า การที่เธอเลือกมาทำอาชีพนี้ ถามว่ากังวลว่าคนจะมองในแง่ไม่ดีมั้ย สำหรับเธอมองว่า ไม่อยากเก็บมาใส่ใจ เพราะแค่เธอรู้ตัวเองว่ามาทำงานนี้เพราะมีเป้าหมายอะไร ก็พอแล้ว อีกอย่างเธอก็ไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย ไม่ได้หลอกลวงใคร หรือทำให้ใครเดือดร้อน เธอจึงเชื่อว่าคนที่มองสาวรำวงในมุมไม่ดีนั้น มีแค่เพียงส่วนน้อย อีกอย่าง “รำวงเปรียบเป็นวัฒนธรรมประจำเมืองเพชร” เธอจึงคิดว่าอาชีพของเธอไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

ตอนนี้จีนก็ทำงานเป็นฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งด้วยค่ะ พี่ ๆ ที่ออฟฟิศก็รู้ว่าหนูเต้นรำวงด้วย…ยังมาถามหนูเลยว่าเราอยู่คณะไหน พอบอกว่าอยู่คณะพี่โบว์-นภาพร พี่ ๆ เขายังบอกเลยว่ารู้จักกัน ส่วนเรื่องเหนื่อยเรื่องท้อนั้น บางทีก็มีบ้างค่ะ เพราะต้องตื่นเช้าไปทำงาน ตกเย็นก็ไปเป็นสาวรำวงต่อ กว่าจะเลิกก็เที่ยงคืน กลับบ้านมามันก็จะมีเพลีย ๆ บ้าง แต่เรายังเด็กเลยปรับตัวง่าย ก็เลยไม่มีปัญหาค่ะ จีนเล่าเรื่องนี้ด้วยน้ำเสียงสดใส พร้อมกับเล่าถึง “วิธีบริหารเวลาชีวิต” ของตัวเธอให้ฟังว่า ด้วยความที่ยังเรียนด้วย แถมทำงาน 2 ที่ ดังนั้นเธอต้องบริหารเวลาให้ดี ไม่งั้นตารางจะรวน ส่วนครอบครัวนั้น จีนยอมรับว่าคุณแม่ก็มีเป็นห่วงบ้าง เพราะกลัวเธอจะหลงแสงสี แต่พอคุณแม่ได้เห็นการทำงานและได้รู้จักพี่ ๆ ในวง ก็คลายกังวลไปได้ เพราะทุกคนที่คณะรำวงนั้นช่วยกันดูแลกันและกันเป็นอย่างดี

ลุคนอกเวลางานของ 2 สาว โบว์และจีน

ส่วน “ประสบการณ์ยากจะลืม” นั้น จีนเล่าว่า สาวรำวงกับการถูกลวนลามนั้น หลีกเลี่ยงยาก แต่สาวรำวงก็ต้องมี “วิธีรับมือพวกมือปลาหมึก” อาทิ อันดับแรกจะใช้วิธีประนีประนอมก่อน โดยจะกันมือออกดี ๆ แล้วบอกว่าเต้นแบบนี้ไม่ได้ ส่วนมากตอนแรกจะโอเค เข้าใจ แต่สักพักก็จะกลับมาเป็นเหมือนเดิม โดยเฉพาะคนเมา ถ้าเจออีกครั้ง เธอก็จะผลักมือออกและบอกอีกครั้งว่าไม่ได้ ซึ่งบางคนก็ยอมโดยดี แต่บางคนก็ออกลูกโวยวายว่าเสียเงินขึ้นมาเต้นแล้ว ทำไมเต้นไม่ได้ ถ้าเจอแบบนี้เธอก็จะเลี่ยงไม่ตอบโต้ปะทะ แต่จะเดินหนี ซึ่งถ้าคนนั้นยังตามมาอีก เธอก็จะบอกทีมงานในวงและหัวหน้าให้เข้ามาช่วย …จีนเล่า

ทั้งนี้ “ทีมวิถีชีวิต” ถามย้ำ สาวรำวง New Gen ที่ชื่อ จีน-ณิชกมล ว่า กลัวไหมที่เป็นสาวรำวงแล้วคนที่ไม่รู้ข้อเท็จจริงจะมองแง่ลบ ซึ่งเธอตอบว่า สำหรับคณะที่เธออยู่นี้ทุกคนต่างก็วางตัวดี แถมชุดที่ใส่ก็ไม่โป๊ ดังนั้นจึงคิดว่าไม่น่าจะมีผลกระทบใด ๆ กับชีวิต พร้อมกันนี้เธอทิ้งท้ายว่า ตั้งแต่มาเป็นสาวรำวง ทำให้ได้พบเจอและสัมผัสประสบการณ์มากมาย ถ้าถามว่าจะยึดอาชีพนี้ไปนานแค่ไหน ก็คงจะทำต่อไปเรื่อย ๆ ส่วนแผนชีวิตในอนาคตนั้น เธอบอกว่า จริง ๆ ก็อยากทำงานราชการ เพราะ…

ก็ต้องการความมั่นคงในชีวิต.

‘คาถาตั้งตัว’ ของ ‘สาวรำวง’

ต้องรู้จักกิน…รู้จักเก็บ…ถึงจะรอดค่ะ!! หัวหน้าคณะรำวง “โบว์-นภาพร” ย้ำ “คาถา” นี้ โดยเธอบอกว่า “อาชีพสาวรำวง” นั้น ถ้ามีงานชุก เอาเข้าจริงรายได้ต่อเดือนก็ไม่ใช่น้อยเช่นกัน ยิ่งถ้าเป็นคนขยัน รายได้ก็พอเลี้ยงตัวได้เลย ซึ่งบางคนก็ส่งเสียตัวเองจนเรียนจบได้เพราะอาชีพนี้ เพียงแต่ว่า…ในเมื่อเงินเข้ามาง่าย ก็อาจจะเสียไปง่ายได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น สาวรำวงก็ “ต้องมีสติ-รู้จักใช้จ่าย-รู้จักเก็บเงิน” ซึ่งเธอเองก็พยายามสอนน้อง ๆ สาวรำวงรุ่นใหม่ว่ให้รู้จักวางแผนชีวิต…วางแผนการเงินให้ดี ต้องรู้คุณค่าของเงินที่เอาหยาดเหงื่อแลกมา เพื่อไม่ให้ชีวิตหลงทาง …สาวรำวงดีกรีหัวคณะคนเดิมกล่าว.

เชาวลี ชุมขำ : รายงาน