…นี่เป็นส่วนหนึ่งจากการระบุกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้โดย รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ เกี่ยวกับ “ภัยต้มตุ๋นหลอกลวง” ที่ยุคนี้มี “สารพัดรูปแบบ”…

รวมถึงรูปแบบที่ใช้คำว่า “ลงทุน” ล่อใจ

“ล่อใจโดยชูผลตอบแทนสูง ๆ” ที่ไม่จริง

นี่มิใช่ภัยใหม่…แต่ “มีเหยื่อเพิ่มเรื่อย ๆ”

ทั้งนี้ แม้ว่าภัยต้มตุ๋นหลอกลวงจะมิใช่เรื่องใหม่มานานนับสิบ ๆ ปีแล้ว รวมถึงยุคนี้ “ต้มตุ๋นหลอกลวงแบบลูกโซ่” ก็เซ็งแซ่ แต่จากการที่ภัยลักษณะนี้ยังคงอาละวาดอยู่ได้อย่างไม่หยุดหย่อน ยังคงมีผู้ตกเป็นเหยื่ออยู่เรื่อย ๆ โดยที่หลาย ๆ กรณี “โดนกันเป็นจำนวนมาก” มี “วงเงินความเสียหายจำนวนมหาศาล” ดังนั้น เรื่องนี้ภัยนี้ “เตือนย้ำ” กันไว้ย่อมมีประโยชน์

และวันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็จะสะท้อนต่อข้อมูลการ “เตือนภัยต้มตุ๋นหลอกลวงที่อ้างว่าเป็นการลงทุน” จากข้อมูลเผยแพร่ของทาง ก.ล.ต. ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวนี้ก็ได้มีการจัดทำเว็บไซต์แหล่งรวมความรู้ภัยกลโกงหลอกลวงการลงทุน เพื่อให้ประชาชนเท่าทันภัยกลโกงการลงทุนที่พบบ่อย ๆ อาทิ กลโกงแชร์ลูกโซ่ กลโกงแอบอ้างหน่วยงาน กลโกง Romance Scam โดยประชาชนสามารถจะเรียนรู้ผ่านช่องทางสื่อที่หลากหลาย ทั้งบทความ คลิปวิดีโอ infographic ที่เข้าใจได้ง่าย ซึ่งคลิกดูข้อมูลกันได้ที่ SCAM CENTER รู้ทันภัยกลโกงลงทุน https://www.sec.or.th/TH/Pages/ScamCenter.aspx

นอกจากนี้ ยังมีการให้ข้อมูลไว้ว่า…หากประชาชน “ถูกชักชวนระดมทุน-ลงทุน” มีการอ้างผลิตภัณฑ์ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. เช่น หุ้น กองทุนรวม สินทรัพย์ดิจิทัล และต้องการ “ตรวจสอบ” ก่อน ก็สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ดิจิทัล ผลิตภัณฑ์ และบุคคลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ได้ที่ SEC Check First ทั้งทางแอปพลิเคชัน และเว็บไซต์ www.sec.or.th รวมทั้งยังสามารถดู “รายชื่อผู้ที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวัง” ได้ที่ investor alert ที่ลิงก์นี้… https://market.sec.or.th/public/idisc/th/InvestorAlert อีกทั้งยังสามารถ “แจ้งเบาะแส” ไปที่ศูนย์บริการประชาชน ก.ล.ต. ได้ที่… โทร. 1207 หรือทางเฟซบุ๊กเพจ สำนักงาน กลต. หรือทาง SEC Live Chat ที่เว็บไซต์ www.sec.or.th …เหล่านี้น่ารู้ไว้ 

อีกทั้งยังน่ารู้ “วิธีเท่าทันกลโกงลงทุน”

“กันไว้ดีกว่าแก้” ถ้าแย่แล้วได้คืนยาก!!

กับ “วิธีเท่าทันกลโกงลงทุน” ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลในวันนี้นั้น เป็นข้อมูลที่จัดทำเผยแพร่ไว้โดยฝ่ายพัฒนาและส่งเสริมความรู้ตลาดทุน ของ ก.ล.ต. หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งได้ระบุไว้ว่า… “อย่าเพิ่งหลงเชื่อ…หากคุณไม่อยากตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ” และก็มีการแนะนำ “วิธีสังเกตลักษณะคำเชิญชวนที่มิจฉาชีพใช้ในการหลอกลวง” ซึ่งที่ผ่านมามีการใช้หลอกลวงบ่อย ๆ ดังนี้คือ…

1.ชักชวนให้ลงทุนโดยเสนอให้ผลตอบแทนที่สูงเกินจริง อย่าเพิ่งหลงเชื่อ ถึงแม้คนที่ชวนจะเป็นเพื่อนสนิทหรือเป็นญาติพี่น้องก็ตาม ให้คิดเอาไว้เสมอว่า…“ผลตอบแทนที่สูง มักจะมาพร้อมความเสี่ยงที่สูง”, 2.มักจะรับประกันหรือการันตีผลตอบแทน หรืออ้างว่าแม้ลงทุนไม่เป็นก็มีผู้ช่วยให้คำแนะนำ เพื่อหวังสร้างความมั่นใจในการลงทุน…ที่จริง ๆ มุ่งหลอกลวง, 3.มีการเร่งรัดให้รีบตัดสินใจลงทุน ให้เวลาตัดสินใจน้อย อาจอ้างว่า…ถ้าพลาดจะตกขบวน โอกาสดี ๆ อย่างนี้มีไม่มาก

4.อ้างว่าบุคคลที่มีชื่อเสียงร่วมลงทุนด้วย เช่นอ้าง…ดารา คนดัง ผู้บริหารบริษัทขนาดใหญ่ ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ, 5.รูปแบบการทำธุรกิจไม่ชัดเจน อ้างสินทรัพย์ใหม่ ๆ แพลตฟอร์มอยู่ต่างประเทศ ตรวจสอบข้อมูลการเงินไม่ได้ ซึ่งควรเช็กให้ดีก่อนจะลงทุน ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าบริษัทมีตัวตนจริง หรือเป็นเพียงการปลอมแปลงใบอนุญาตอ้างชื่อ…หรือตั้งชื่อให้ใกล้เคียงบริษัทที่อยู่ภายใต้การกำกับ, 6.เน้นการหาสมาชิกมากกว่าการขายสินค้า/บริการ …แบบนี้ก็สุ่มเสี่ยง!!

และรวมถึง… 7.ให้โอนเงินลงทุนไปเข้าบัญชีส่วนตัวของผู้ชักชวนหรือบัญชีของบุคคลอื่น ซึ่งที่ถูกต้องนั้นถ้าเป็นการลงทุนในหุ้นผ่านบริษัทหลักทรัพย์ การโอนเงินต้องทำผ่านบริษัทที่ให้บริการซื้อขาย…ไม่ใช่บัญชีบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

นี่เป็น…“7 ข้อสังเกตการหลอกลวง”

หรือเป็น… “วิธีเท่าทันกลโกงลงทุน”

ทั้งนี้ จากข้อมูลคำแนะนำจากทางฝ่ายพัฒนาและส่งเสริมความรู้ตลาดทุน ก.ล.ต. สลับกลับมาดูกันอีกในส่วนของ “แง่มุมชวนคิดเกี่ยวกับภัยหลอกลวงต้มตุ๋น” จากที่ทางนักวิชาการ คือ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ เคยสะท้อนผ่านทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ ซึ่งก็ยังมีบางช่วงบางตอนที่ระบุไว้ด้วยว่า… “เพราะเศรษฐกิจมีปัญหา” ผู้คนยิ่งต้องการหาเงิน, “เพราะแห่ทำตาม ๆ กัน” จนละเลยการตรวจสอบให้รอบคอบก่อน และ… “เพราะชอบเสี่ยงหวังรวย” จึงตัดสินใจลงทุนทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเสี่ยง!! …กับ “3 เพราะ” ดังกล่าวนี้ก็ถือเป็น “ช่องโหว่เปิดรับภัยหลอกลวงต้มตุ๋น” ที่ “ต้องตระหนักให้มากขึ้น”

“อ้างเป็นการลงทุน” ยุคนี้ก็ “ยังใช้ตุ๋นดุ”

“มี 7 ข้อสังเกต” เพื่อ “กันเป็นเหยื่อตุ๋น”

“อย่าให้ 3 เพราะบังตา…จนเป็นเหยื่อ”.